xs
xsm
sm
md
lg

เกิ่นเทอ เผชิญหน้าหายนะจากเขื่อนกั้นน้ำโขง

เผยแพร่:   โดย: แสงจันทร์ กาญจนขุนดี

ความอุดมสมบูรณ์ของดินดอนปากแม่น้ำโขง เมืองเกิ่นเทอ เวียดนาม
เกิ่นเทอ ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดบนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม ไม่เพียงแต่กำลังประสบปัญหาจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้น้ำเค็มรุกเข้ามายังพื้นที่ตอนในเป็นบริเวณกว้างอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเท่านั้น ยังมีหายนะที่มาจากการสร้างเขื่อนตลอดแนวลำโขง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญและท้าทายยิ่งกว่า "เหวียน หู เที่ยน (Nguyen Huu Thien) นักวิจัยอิสระด้านนิเวศวิทยาสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง" บอกเล่าสภาพ

ปัญหาหลักของเขื่อนคือ หนึ่ง ทำให้ตะกอนลดลงซึ่งส่งผลกระทบต่อการเกษตร และสอง ผลกระทบต่อการประมง

พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำสร้างโดยตัวแม่น้ำโขงมา 6,000 ปีแล้ว การที่ตะกอนในแม่น้ำลดลงจะทำให้ปุ๋ยในดินบริเวณนี้ลดลง ส่งผลต่อผลิตผลทางด้านการเกษตร และเมื่อตะกอนน้อยลงทำให้กระบวนการในการสร้างปากแม่น้ำลดลงด้วย ทั้งยังทำให้เกิดการกัดเซาะและพังทลายของฝั่งแม่น้ำและชายฝั่ง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่หนักหนาสำหรับพื้นที่ปากแม่น้ำ

เหวียน หู เที่ยน มองว่า การสร้างเขื่อนตลอดแนวบนลำน้ำโขง จะทำให้ตะกอนถูกกักไว้ ทำให้กระบวนการในการสร้างดินดอนปากแม่น้ำหยุดลง และกระบวนการตรงกันข้ามก็เกิดขึ้นคือเกิดการกัดเซาะตลิ่งและชายฝั่ง และตะกอนนั้นก็คือปุ๋ยธรรมชาติ ถ้าไม่มีตะกอนอย่างเพียงพอดินก็จะเสื่อมคุณภาพ

"ผมคิดว่าสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงผลิตอาหารไม่เฉพาะแก่เวียดนามเท่านั้นแต่ทั่วทั้งภูมิภาค และนั่นกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหารของภูมิภาคและหรือแม้แต่ระดับโลก และผลกระทบก็เกิดกับทุกคนไม่เฉพาะแต่กับประชากรในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเท่านั้น”

ส่วนผลกระทบเกิดกับการประมง โดยเฉพาะปลาที่ต้องอพยพไปวางไข่ เพราะเขื่อนจะสร้างปราการขวางกั้นไม่ให้ปลาผ่านไปได้ ปลาสำคัญต่อประชาชนที่นี่และในกัมพูชา ประเทศไทย และลาว เพราะคนลุ่มแม่น้ำโขงชอบกินปลา การบริโภคปลาของคนในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงจัดได้ว่าสูงที่สุดในโลก ปลาเป็นแหล่งโปรตีนหลักของประชาชนในลุ่มน้ำโขง ปลาสำคัญต่อระบบนิเวศวิทยา เพราะในแม่น้ำโขงมีสิ่งที่ชีวิตอื่นๆ ที่กินปลาอยู่ด้วย เช่น นก ถ้าขาดปลาห่วงโซ่อาหารก็พังทลาย
โมเดลเขื่อนไซยะบุรี (ภาพจาก http://www.xayaburi.com (Xayaburi Hydroelectric Power Project)
ดังนั้น ในปัญหาท้าทายที่มาจากการสร้างเขื่อนจัดได้ว่ารุนแรง และยากลำบากสำหรับเราในการปรับตัว อย่างเช่น การที่ตะกอนลดลงแล้วเกิดการกัดเซาะตลิ่ง ฝั่งน้ำพังทลาย เราไม่รู้จะปรับตัวกันอย่างไร นี่นับว่าว่าหนักหนา ดังนั้นประเทศต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงต้องมาร่วมมือกันหาทางที่เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย และปกป้องแม่น้ำ ปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร

นักวิจัยอิสระด้านนิเวศวิทยาสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง มองว่า ประโยชน์ของเขื่อนมีนิดเดียวเอง ถ้าเปรียบเทียบกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คนกว่า 60 ล้านคน อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขง เราใช้สายน้ำร่วมกันมาหลายร้อยปีอย่างสันติและมีมิตรภาพ เราต้องรักษาวิถีเช่นนั้นเอาไว้ และประโยชน์เพียงเล็กน้อยของเขื่อนผลิตไฟฟ้านั้นไม่มากพอ เมื่อเราตัดสินใจสร้างสิ่งใดบนแม่น้ำแล้ว มันเป็นสิ่งที่น่าเสียใจที่ได้ประโยชน์เพียงนิดเดียว

"ผมคิดว่าแม่น้ำโขงสำคัญในทางเศรษฐกิจและนิเวศวิทยา สิ่งที่สำคัญคือว่าแม่น้ำโขงนั้นเชื่อมโยงหลายชาติเข้าด้วย ดังนั้นเราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและมีมิตรภาพมาในอดีต เราควรดำเนินวิถีนั้นสืบไป" เหวียน หู เที่ยน กล่าว

นอกจากนั้น เขายังไม่เชื่อระบบปล่อยตะกอนจะใช้ผล คือเมื่อสร้างเขื่อน หมายถึงว่าจะมีอ่างเก็บน้ำที่ยาวเป็นร้อยๆกิโลเมตร และน้ำจะเริ่มตกตะกอนตั้งแต่ด้านบนของอ่างเก็บน้ำ ห่างจากตัวเขื่อนไปเป็นร้อยกิโลเมตร ในทางเทคนิคเมื่อจะปล่อยตะกอนเพื่อทำความสะอาดกลจักร จะทำได้แค่ 5-10 กิโลเมตร จากตัวเขื่อนเท่านั้นเอง แต่ตะกอนตกในอ่างไกลกว่านั้นมาก จึงไม่คิดว่าระบบนี้จะได้ผล และยังไม่ได้รับการพิสูจน์ที่ไหนเลย ระบบปล่อยตะกอนนี้สร้างขึ้นมาหวังทำให้ความเห็นสาธารณะสงบลงเท่านั้นเอง

สำหรับบันใดปลาโจนก็เหมือนกัน ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ เทคนิคนี้มาจากยุโรปออกแบบสำหรับปลาที่แข็งแรงมากสักแค่ 1-2 สายพันธุ์ อย่างแซลมอนเท่านั้นที่กระโดดได้ แต่แม่น้ำโขงมีปลามากกว่า 1,200 สายพันธุ์ ปลาเหล่านี้ไม่แข็งแรงพอจะกระโดนข้ามบันใดปลาโจนขึ้นไปได้ บางส่วนไม่แข็งแรงพอจะว่ายทวนกระแสน้ำแรงๆ ได้ด้วยซ้ำไป

อย่าลืมว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีชีวมวลมากเพราะอยู่ในเขตทรอปิก แค่ช่วงระยะหนึ่งของแม่น้ำมีปลาเดินทางผ่านถึงชั่วโมงละ 30 ตัน ไม่มีเทคโนโลยีแบบใดที่จะรองรับการเดินทางของความหลายหลายขนาดนี้ได้ พูดง่ายๆ มาตรการเยียวยาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์หรือทดสอบที่ใดเลยในโลกนี้ และนี่เป็นอันตรายมากเพราะเทคโนโลยีล้มเหลวก็มีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก แล้วใครจะจ่าย ก็คนทั้ง60 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขงนี่แหละที่ต้องจ่าย นักสร้างเขื่อนได้เงินเข้ากระเป๋าจากการขายกระแสไฟฟ้าบนต้นทุนของทุกคนซึ่งต้นทุนนั้นสูงเกินไป

ส่วนความร่วมมือในกรอบแม่น้ำโขง อย่างกระบวนการในการปรึกษาหารือของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) มีเวลาแค่ 6 เดือน คงไม่เพียงพอ ที่จริงมันก็ไม่ได้มีความหมายอะไรมากเพราะเอกสารทางด้านเทคนิคบางอย่างนั้นด้อยคุณภาพ ถ้าหากแต่ละชาติอยากจะมีความร่วมมือกันจริงเราคงต้องมองกระบวนการนั้นกันใหม่ คือต้องทบทวนระเบียบพิธี ให้มีเวลามากขึ้น ให้มีการปรึกษาหารือที่ความหมายมากขึ้น

ที่สำคัญคือ การตัดสินก็ต้องระมัดระวังยิ่งขึ้น ไม่ใช่ดูแค่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของเขื่อน ต้องดูต้นทุนทั้งหมดของภูมิภาคนี้ด้วย เพราะว่ามันง่ายที่จะมองหากำไรเอาแค่ผลผลิตคูณด้วยราคาไฟฟ้า นั่นคือผลกำไร แต่เรื่องนี้มันมากกว่านั้นเยอะ มีต้นทุนหลายอย่างและต้นทุนที่มองไม่เห็น และผลกระทบที่เกิดกับทุกคนในภูมิภาคนี้

ความจริงแล้วยังมีทางเลือกมากมายที่จะสนองความต้องการทางด้านไฟฟ้า เช่น พลังแสงอาทิตย์ ซึ่งนับวันมีแต่จะถูกลง เราควรมองหาทางเลือกที่ยั่งยืน มีผลกระทบน้อยในการสนองความต้องการไฟฟ้า แทนที่เขื่อนซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่าของศตวรรษที่ 20 เฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของเรื่องโลกร้อน เขื่อนไม่ใช่แหล่งพลังงานที่สะอาด มันส่งผลต่อโลกร้อนมากทีเดียว การศึกษาใหม่ๆ นี้พบว่า เขื่อนปล่อยก๊าซมีเทนมหาศาล มีผลกระทบแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซค์ 21 เท่า ในระรอบ 100 ปี

ในอดีตคนคิดว่าไฟฟ้าพลังน้ำราคาถูก แต่ความจริงมันถูกสำหรับนักสร้างเขื่อน ไม่ใช่สำหรับประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง คนกลุ่มเล็กๆ หาประโยชน์จากลำน้ำทั้งสาย ได้เงินจากการขายไฟฟ้า พวกเขาคิดว่าถูก แต่สำหรับประชาชน สำหรับชุมชน มันไม่ถูกเลย ดังนั้น ไฟฟ้าพลังงานน้ำไม่ถูก ไม่สะอาดอีกด้วยในบริบทของเรื่องความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเพราะมันทำให้โลกร้อน

ในปี ค.ศ. 2009 เหวียน หู เที่ยน อยู่ในทีมศึกษาวิจัยของคณะกรรมการแม่น้ำโขงใช้เวลา 16เดือนเพื่อศึกษาประเด็นผลกระทบของเขื่อนในแม่น้ำสายประธาน ทีมงานเสนอว่า น่าจะระงับการตัดสินใจในการสร้างเขื่อนในลำน้ำสายประธานสัก 10 ปี เพื่อจะได้ทำการศึกษาระบบแม่น้ำโขงให้ดียิ่งขึ้น น่าเสียดายที่นักพัฒนาเขื่อนตัดสินใจเดินหน้าโครงการเพราะเขาเห็นแค่ประโยชน์ของพวกเขา แต่ไม่มองภาพใหญ่ทั่วทั้งภูมิภาค
เวียด ฮอง (Viet Hoang) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยกฎหมาย แห่งโฮจิมินห์ซิตี้
สำหรับมุมมองของ เวียด ฮอง (Viet Hoang) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยกฎหมาย แห่งโฮจิมินห์ซิตี้ ซึ่งศึกษาเรื่องแม่น้ำโขงมาอย่างยาวนาน เห็นว่า ลาวอาจจะมีอำนาจอธิปไตยเหนือเขื่อนไซยะบุลีและดอนสาหง แต่มันมีหลักการว่าด้วยเรื่องการไม่ทำร้ายประเทศอื่นอยู่ ลาวมีสิทธิในการพัฒนาเขื่อน แต่ก็ต้องสนใจชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่นำโขงตอนล่างด้วย

ถึงแม้ว่าคณะกรรมการแม่น้ำโขง ไม่สามารถบังคับให้รัฐบาลลาวทำตามข้อตกลงได้ แต่ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คณะกรรมการแม่น้ำโขง กลายเป็นองค์กรเหนือรัฐแล้วบังคับใช้ข้อตกลงนั้นเหนืออธิปไตยของชาติได้ นี่เป็นธรรมชาติของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่คณะกรรมการแม่น้ำโขง น่าจะมีแนวทางใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกในการยุติความขัดแย้ง ไม่ใช่แค่เรื่องทางการทูต

ในความตกลงปี ค.ศ. 1995 (ความตกลงแม่โขง (Mekong Agreement) เพื่อก่อตั้งคณะกรรมการแม่น้ำโขงและหลักการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงร่วมของไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)นั้นใช้แค่เครื่องมือทางการทูตในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ แต่มันไม่เพียงพอหรอก เราจำเป็นต้องมีแนวทางด้านกฎหมายอื่นๆ มีตัวอย่างมากมายในโลกนี้ที่ประเทศต่างๆเช่น กรณีปากีสถานกับอินเดียว ที่ขัดแย้งกันเหนือแม่น้ำอินดัส พวกเขาก็นำคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

หรือกรณีจีนและรัสเซีย ที่มีข้อขัดแย้งเหนือแม่น้ำอาเมอร์ ความจริงเรามีกฎหมายเรื่องน้ำระหว่างประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีเมือง ในนั้นมีบางส่วนที่ว่าด้วยน้ำจืด เช่น อนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยน้ำปี ค.ศ.1997 ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 และมีหลายมาตราในกฎหมายนั้น มีตัวอย่างคดีและมีเครื่องไม้เครื่องมือ (ทางกฎหมาย) ให้จัดการเรื่องน้ำสากลได้

เมื่อถามว่าตอนนี้ถึงเวลาต้องใช้กฎหมายแล้วหรือยัง? อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยกฎหมาย แห่งโฮจิมินห์ซิตี้ ตอบว่าไม่เพียงแต่กฎหมายเท่านั้นที่ใช้แก้ปัญหาได้เราคงต้องใช้หลายอย่างผสมกัน แต่แน่นอนต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย เราจะต้องมีเจตจำนงทางการเมืองของบรรดาผู้นำในลุ่มน้ำโขงด้วย จีนนั้นเป็นเพียงหนึ่งในสามประเทศในโลกนี้ที่ไม่เอาด้วยกับข้อตกลงน้ำสากลปี ค.ศ.1997 แต่ถ้าประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงอื่นๆ เอาด้วย เราคงจะพูดกับจีนได้ในอนาคต แต่ตอนนี้เรายังแก้ปัญหาของตัวเองยังไม่ได้ แล้วจะไปรับมือกับจีนได้ยังไง

"สิ่งที่รัฐบาลเวียดนามต้องทำคือศึกษาเรื่องผลกระทบในแม่น้ำโขงให้มาก ไม่ใช่แค่เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่รวมถึงเรื่องการสร้างเขื่อนเหนือน้ำด้วย" เวียด ฮอง กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น