xs
xsm
sm
md
lg

เขตอนุรักษ์ทางทะเล อีกทางเลือกแก้ข้อพิพาททะเลจีนใต้

เผยแพร่:   โดย: แสงจันทร์ กาญจนขุนดี

หลักเขตจำลองสแปรตลี
การแสวงหาทางออกจากปัญหาข้อขัดแย้งข้อพิพาททะเลจีนใต้ มีอยู่หลากหลาย ทั้งการใช้กฎหมายระหว่างประเทศ การอ้างอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และหนึ่งในข้อเสนอของนักวิทยาศาสตร์ชาวเวียดนาม รองศาสตราจารย์ โว สี ต่วน (Vo Si Tuan ) ผู้อำนวยการสถาบันสมุทรศาสตร์อินโดจีน ของเวียดนาม ก็คือ ประเทศต่างๆ ที่มีเขตแดนในทะเลจีนใต้ควรเปลี่ยนจากความขัดแย้ง หันมาเป็นความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อปกป้องสภาพแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นแหล่งประมงสำคัญแห่งหนึ่งของโลก

เวียดนาม ได้ทำงานด้านนี้มาตั้งแต่สมัยอาณานิคมฝรั่งเศส นับแต่ปี ค.ศ. 1930 ที่มีการตั้งสถาบันแห่งนี้มาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 90 ปีแล้ว โดยสถาบันสมุทรศาสตร์เวียดนาม ซึ่งตอนหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันสมุทรศาสตร์อินโดจีน ได้ศึกษางานด้านนี้เป็นแห่งแรกของอาเซียนและมีความร่วมมือกับประเทศต่างๆ มากมาย

สถาบันนี้ ได้ทำการสำรวจและวิจัยมากมายเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อมในทะเลจีนใต้ ปัจจุบันได้เก็บตัวอย่างและรักษาสิ่งมีชีวิต 2 หมื่นตัวอย่าง ที่นำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองญาจาง โดยเปิดให้คนทั่วไปได้ศึกษาและเที่ยวชม เพื่อประโยชน์ทั้งการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และการท่องเที่ยว
รองศาสตราจารย์ โว สี ต่วน (Vo Si Tuan  ) ผู้อำนวยการสถาบันสมุทรศาสตร์อินโดจีน
ภายในเขตของสถาบัน มีส่วนที่จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ที่เก็บตัวอย่างและเพาะเลี้ยงสิ่งมีชีวิตจากทะเลจีนใต้ เช่น ปลาการ์ตูน ปลาสิงโต ฯลฯ และยังมีอุโมงค์สัตว์น้ำที่เก็บตัวอย่างมาจากหมู่เกาะสแปรตลี่และพาพาเซล โดยอุโมงค์แห่งนี้ดัดแปลงมาจากอุโมงค์ที่ใช้ในการขนส่งช่วงสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส

รองศาสตราจารย์ ต่วน มีประสบการณ์อันยาวนานเกี่ยวกับการศึกษาร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่น โครงการสิ่งแวดล้อม ของสหประชาชาติ และการประสานงานโครงการทะเลจีนใต้

รองศาสตราจารย์ ต่วน กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยและการสำรวจของสถาบันแห่งนี้ ค้นพบว่าหมู่เกาะสแปรตลีเป็นแหล่งทรัพยากรทางประมง และความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวปะการัง ซึ่งเป็นที่วางไข่สำคัญของสิ่งมีชีวิตทางทะเล
เรือจำลองที่เคยใช้สำรวจวิจัยทะเลจีนใต้ สมัยฝรั่งเศส
ผู้อำนวยการสถาบันสมุทรศาสตร์อินโดจีน ได้แสดงความห่วงกังวลว่า ปัจจุบันนี้ทะเลจีนใต้และหมู่เกาะต่างๆ ตกอยู่ในอันตราย ด้วยสาเหตุสำคัญ 3 ประการ

ประการแรก การสัญจรไปมาทางน้ำของทะเลจีนใต้คับคั่งจนเกินไป ถือเป็นย่านที่คับคั่งมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่มีเรือขนสินค้าขนาดใหญ่ผ่านเข้าออกเป็นประจำ

ประการที่สอง เกิดความเสื่อมสภาพของแนวปะการัง หญ้าทะเล และโกงกางบริเวณชายฝั่ง มีปัญหาบ้างเกี่ยวกับมลภาวะ โดยส่วนใหญ่เรื่องมลภาวะจะเกิดตามแนวชายฝั่ง แต่ในทะเลปัญหาการเสื่อมสภาพของแนวปะการังและหญ้าทะเล เกิดขึ้นกลางทะเล

ประการที่สาม ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบันคือ การสร้างเกาะเทียม และการถมที่ในหมู่เกาะต่างๆ ที่ทุกประเทศที่อ้างสิทธิ์เข้าไปถมทะเล
ปลาสิงโต ที่ใช้เป็นโลโก สัญลักษณ์ สถาบันสมุทศาสตร์เวียดนาม
ประเด็นเรื่องการถมทะเลสร้างเกาะเทียมนี้ นักวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของโลก มีการถกเถียงถึงปัญหานี้ เมื่อคราวประชุมอยู่ที่ฮาวาย เมื่อกลางเดือนมิถุนายน ปีที่ผ่านมา โดยนักวิทยาศาสตร์ มีความเห็นพ้องกันว่า สิ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบใหญ่ที่สุดอันดับแรกคือ การถมแนวปะการัง สอง การขุดปะการังขึ้นมาแล้วนำไปถมบริเวณอื่น หรือการย้าย และการเอาตะกอนหรือดินไปถมทับลงไปในแนวปะการัง

เรื่องดังกล่าว กำลังกลายเป็นปัญหาที่หนักหน่วงที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ ทุกคนต่างรู้แล้วว่า ตะกอนหรือดิน เป็นสิ่งที่อันตรายต่อแนวปะการัง ถ้าหากว่า พื้นที่ของแนวปะการังเสียหาย มันจะก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง

“เรามีวิธีการแก้ไขปัญหานี้ในสองระดับ อย่างแรก คือ แต่ละประเทศสร้างเขตอนุรักษ์ หรืออุทยานทางทะเลเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรทางประมง อย่างที่สอง ซึ่งยากกว่า คือ ควรพิจารณาหาความร่วมมือหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่มีเขตแดนในทะเลจีนใต้ เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ
ปลาการ์ตูนจากทะเลจีนใต้ จัดแสดงที่สถาบันสมุทราศาสตร์ เมืองญาจาง
" ความร่วมมือในอาเซียน อาจจะเป็นประโยชน์ และเราก็มีคณะกรรมการ คณะทำงาน หรือกลไกทำนองนี้อยู่มากในกลุ่มอาเซียน เราได้พูดคุยเรื่องนี้กันมาสักระยะหนึ่งแล้ว ผมจำได้ว่าเคยมีความริเริ่มแบบนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992ที่จะพัฒนาอุทยานทางทะเลในทะเลจีนใต้ แต่มันก็เป็นแนวความคิด ยังไม่ได้ดำเนินการ ผมเข้าใจว่าประเทศฟิลิปปินส์ มีข้อเสนอดีๆ แบบนี้อยู่มาก” รองศาสตราจารย์ ต่วน กล่าว

ก่อนหน้านี้ ฟิลิปปินส์และเวียดนาม เคยมีโครงการทำนองนี้เพื่อสำรวจและวิจัยร่วม ระหว่างปี คศ.ศ1996 - ค.ศ. 2007เรียกว่า โครงการสำรวจวิทยาศาสตร์ทางทะเลในทะเลจีนใต้ โครงการดังกล่าว เป็นเจตนาที่ดีที่มีความร่วมมือกันเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหมู่เกาะสแปรตลี โครงการสำรวจฯ ดังกล่าวได้จบไปแล้ว แต่กำลังมีการหารือกันว่าจะขยายออกไปในบรรดากลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อให้เป็นแนวทางของกลุ่มประเทศอาเซียนในการปกปักรักษาทะเลจีนใต้

ประธานาธิบดี นายดู เตอร์ เต ของฟิลิปปินส์ เพิ่งมีแนวคิดและมีข้อเสนอให้ “แนวปะการัง สกาบอโร” ที่อยู่ในหมู่เกาะสแปรตลี่ในเขตปกครองของฟิลิปปินส์ให้เป็นเขตอนุรักษ์ ซึ่งเขตนี้ชาวฟิลิปปินส์หาปลามานมนาน รองศาสตราจารย์ ต่วน มีความเห็นว่า เป็นแนวคิดที่ดีแต่น่าจะขยายความร่วมมือนี้ออกไปหลายๆ ประเทศ
เรือประมงที่ท่าเรือด่าหนัง ที่มีแหล่งหาปลาสำคัญในทะเลจีนใต้
ในส่วนของเวียดนามเอง ปัจจุบันมีเขตอุทยานทางทะเลทำนองนี้อยู่ 16 แห่ง ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงเกษตร มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองพื้นที่ที่เป็นแหล่งทรัพยากรทางประมง หลักการก็คือ ห้ามหรือจำกัดกิจกรรมของมนุษย์ในบริเวณเขตอุทยาน

สำหรับเขตอุทยานที่เวียดนามกำลังพิจารณาประกาศเป็นเขตคุ้มครองอยู่ในบริเวณเกาะสแปรตลี คือพื้นที่ที่เรียกว่า เกาะนาน ยัต ซึ่งนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้อนุมัติในหลักการแล้ว ส่วนการดำเนินการจะเริ่มขึ้นในเร็วๆ นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น