เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ สื่อจีนรายงาน (5 ก.พ.) กลุ่มพิทักษ์เมสไอนัคแฉบริษัทจีนกำลังเริ่มโครงการเหมืองทองแดง แม้ต้องแลกด้วยแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม
ในปี พ.ศ. 2550 กระทรวงเหมืองแร่และปิโตรเลียมของประเทศอัฟกานิสถาน ภายใต้การนำของรัฐบาลประธานาธิบดีฮามิด การ์ไซ (Hamid Karzai) ได้ประกาศให้สัมปทานบริษัท ไชน่า เมทัลลัวจิคัล กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (China Metallurgical Group Corporation : MCC) และ บริษัท เจียงซี คอปเปอร์ กรุ๊ป ทำการสำรวจแร่ทองแดงบริเวณ “เมสไอนัค” (Mes Aynak) ซึ่งเป็นแหล่งทองแดงใหญ่อันดับ 2 ของโลก ตั้งอยู่ห่างจากเมืองคาบูล (Kabul) ราว 30 กิโลเมตร
แต่กลุ่มนักโบราณคดีต่างพากันคัดค้านโครงการขุดเหมืองทองแดงดังกล่าว เนื่องจากเมสไอนัคเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์เก่าแก่นับ 5,000 ปี โดยเป็นที่ตั้งของรูปปั้นและรูปแกะสลักพระพุทธรูปโบราณกว่า 200 องค์ สถูป และศาสนสถานทางพุทธศาสนาจำนวนมาก ดังนั้น การขุดเหมืองทองแดง จะทำลายแหล่งโบราณสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์แห่งนี้
กลุ่มรณรงค์อนุรักษ์โบราณสถานได้รวมตัวกัน จัดตั้งกลุ่ม “พิทักษ์เมสไอนัค” (Saving Mes Aynak) ขึ้น เพื่อเคลื่อนไหวประท้วงการทำเหมืองทองแดง และได้เผยแพร่ภาพยนตร์สารคดีคัดค้านการทำเหมืองทองแดง ซึ่งได้เผยแพร่ผ่าน “เน็ตฟลิกซ์” (Netflix) ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งอันดับ 1 ของสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้
สารคดีดังกล่าวเปิดเผยว่า บริษัทจีนกำลังบุกเบิกพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเริ่มต้นโครงการเหมือแร่ฯในเร็วๆนี้ ขณะที่ “Zabih Sarwari” โฆษกประจำกระทรวงเหมืองแร่และปิโตรเลียมฯ แถลงว่า โครงการเหมืองแร่จะเริ่มขึ้นทันทีหลังจากเสร็จสิ้นการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยขณะนี้โบราณวัตถุจำนวนกว่า 2,300 ชิ้น ได้ถูกทยอยขนออกจากพื้นที่ฯ เพื่อนำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแล้ว
Javed Noorani ซึ่งเคยเป็นสมาชิกกลุ่มเอ็นจีโอ “Integrity Watch Afghanistan” กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายหากจะมีโครงการเหมืองแร่ แม้ว่าธนาคารโลกและรัฐบาลอัฟกานิสถานจะพยายามช่วยกันเคลื่อนย้ายโบราณสถานแห่งนี้ไปยังที่ปลอดภัย แต่นั่นก็ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และผิดหลักโบราณคดี นอกจากนี้ ชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนับสิบแห่งก็ถูกสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งขัดกับหลักการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม
อย่างไรก็ดี นายหลิว เจิ้งอวี่ รองประธานกลุ่มบริษัทเอ็มซีซีฯ ระบุว่า ทางบริษัทฯได้แจ้งแก่ชาวบ้านล่วงหน้าแล้ว และโครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างงานให้แก่ชาวอัฟกัน
ทั้งนี้ “ทิม วิลเลี่ยมส” (Tim Williams) ที่ปรึกษาองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ระบุว่า “เมสไอนัค” น่าจะมีคุณสมบัติเพียงพอต่อการขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่ในความคุ้มครองระดับโลก หากรัฐบาลอัฟกันยื่นคำร้องขอขึ้นทะเบียน เนื่องจากสถานที่แห่งนี้มีความโดดเด่น มีภูมิทัศน์ทางโบราณคดีที่ซับซ้อน และยังคงอยู่ในสภาพดี