บีบีซีรายงาน (23 ม.ค.) ว่า ปี 2016 ที่ผ่านมาอัตราการเกิดในประเทศจีน เพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2000 หลังยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว แม้จำนวนสตรีในวัยเจริญพันธุ์จะมีจำนวนลดลง
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพและการวางแผนครอบครัวแห่งชาติเผยว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรทารกแรกเกิด เป็นผลมาจากการผ่อนปรนมาตรการลูกคนเดียวในปีที่ผ่านมา โดยปีที่แล้วมีเด็กทารกเกิดใหม่ 17.86 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 เทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุจำนวนเด็กเกิดใหม่ในปี 2016 มีราว 18.46 ล้านคน
ในจำนวนเด็กแรกเกิดในปี 2016 นี้ มีถึงร้อยละ 45 ที่ไม่ใช่ลูกคนแรกของพ่อแม่ โดยมีพี่อย่างน้อยหนึ่งคน หรือมากกว่านั้น
หยาง เวินจวง เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพและการวางแผนครอบครัวแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะที่จำนวนสตรีในวัยเจริญพันธุ์ลดลงราว 5 ล้านคน แต่มีจำนวนทารกแรกเกิดเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่านโยบายวางแผนครอบครัวของรัฐบาล ได้ปรับในเวลาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมาก และกล่าวคาดการณ์ว่า ภายในปี 2020 จะมีประชากรในวัยทำงานเพิ่มขึ้นอีกราว 30 ล้านคน และคาดว่าจะมีทารกเกิดใหม่เพิ่มขึ้นมาเป็นจำนวนปีละ 17 - 20 ล้านคน ขณะที่ปี 2016 จำนวนประชากรวัยทำงานของจีนลดลงจาก 911 ล้านคน ในปี 2015 เหลือ 908 ล้านคน
ทั้งนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศจะยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวที่ใช้มานานหลายทศวรรษในปี 2015 และอนุญาตให้คู่สามีภรรยาทั่วประเทศสามารถมีลูกคนที่สองได้อย่างเสรี โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การแก้ไขปัญหาด้านประชากรอันฉุดรั้งการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ซินหวา รายงานว่า ปี 2015 จีนเผชิญภาวะประชากรวัยทำงานหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งอาจส่งผลให้จีนกลายเป็นชาติแรกของโลกที่เจอวิกฤต “แก่ก่อนรวย” โดยมีการคาดการณ์กันว่ากลางศตวรรษนี้ หนึ่งในสามของคนจีนจะมีอายุเกิน 60 ปี และประชากรวัยทำงานที่ถือเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลคนสูงวัยจะลดจำนวนลงเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญหลายคนลงความเห็นว่า กว่าที่การยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวคราวนี้ จะสัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม ก็ต้องรออีกนานโข โดยหนึ่งในนั้น คือนายกัว จื้อกัง ศาสตราจารย์จากสถาบันสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนว่า โครงสร้างประชากรจีนต้องใช้เวลาอีก 100 ปี กว่าเข้าสู่จุดสมดุล
“หากประเทศจีนฟันฝ่าช่วงยากเย็นระหว่างปี ค.ศ. 2030-2070 ไปได้ ก็เชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านด้านประชากรจะเสร็จสมบูรณ์ แต่ถ้าหากไม่สำเร็จ ประชากรวัยชราจะยิ่งสร้างปัญหาทางสังคมเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน”