xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯที่ปวงชนคิดถึงตลอดกาล...รำลึก 41 ปีการจากไปของ ‘โจวเอินไหล’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โจว เอินไหล (ค.ศ.1998-1976)
โจว เอินไหล (ค.ศ.1898-1976) เป็นนักรบ นักการเมือง นักการทูต เป็นคู่บารมีร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับเหมา เจ๋อตง จนพาประชาชาติจีนยืนขึ้นได้ ฝ่าวิกฤตขัดแย้งนานาในยุคต้นสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการนำจีนสู่เวทีสากล เชื่อมสัมพันธ์กับนานาประเทศ สร้างสันติสุข จนเป็นที่ยกย่องของประชาคมโลก ว่าเป็น “สุภาพบุรุษนักการทูต” สำหรับประเทศชาติ เขาเป็น “นายกฯแห่งปวงชน” ที่จีนคิดถึงตลอดกาล
โจว เอินไหล ค.ศ.1912 ถ่ายภาพที่โรงเรียนในเสิ่นหยัง
โจว เอินไหล เกิดที่เมืองหวยอัน(淮安) มณฑลเจียงซู ในวันที่ 5 มีนาคม ปีค.ศ.1898 (พ.ศ.2441) ต่อมาครอบครัวย้ายมายังเมืองเส้าซิง มณฑลเจ้อเจียง หลังจากที่เขาลืมตามาดูโลกไม่นาน บิดาก็ป่วยหนัก ซึ่งตามธรรมเนียมจีนแล้ว จำต้องยกเขาให้เป็นบุตรของอา เนื่องจากถือว่าดวงชะตาไม่สมพงศ์กับผู้ให้กำเนิด โจวจึงได้รับการอบรมจากอาสะใภ้ที่เป็นผู้หญิงมีการศึกษา เขาจึงรู้จักวรรณกรรมจีนที่มีชื่อเสียงตั้งแต่อายุได้เพียง 5 ขวบ พร้อมไปกับการเล่าเรียนหนังสือที่บ้าน จน 8 ขวบก็เริ่มต้นอ่านงานเขียนเด่นของจีน โดยวรรณกรรมเรื่องแรกที่อ่าน ได้แก่ ไซอิ๋ว (西游记) ตามด้วย พรหมลิขิตบุปผากระจก (镜花缘) วีรบุรุษเขาเหลียงซัน(水浒传) และความรักในหอแดง(红楼梦)

เมื่ออายุ 12 ขวบ ชะตาชีวิตของโจวก็มาถึงจุดพลิกผัน เมื่อเขาต้องออกจากบ้านไปยังเมืองเถี่ยหนิงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากบิดาและลุงทำงานอยู่ที่นั่น และการออกจากบ้านครั้งนี้ได้สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับเขา เป็นจุดเปลี่ยนจากสิ่งแวดล้อมในครอบครัวศักดินามาสู่การได้รับการศึกษาแบบตะวันตก ทั้งยังได้เริ่มสัมผัสกับหนังสือที่เกี่ยวกับการปฏิวัติ

โจว เอินไหล มีบทบาทสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์ช่วงก่อตั้งมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านการรบ หรือการเผยแพร่ความคิดของเหมา เจ๋อตง รวมถึงยังเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่เข้าเจรจากับนายพลเจียงไคเช็ค เพื่อเจรจายุติสงครามกลางเมือง และหันมาร่วมมือกันต้านญี่ปุ่น
โจว เอินไหล (คนที่สองจากขวา) กับ เหมา เจ๋อตง ในวันประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ปี 1949
เมื่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 โจวเอินไหลก็ได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาจนถึงปี 1978 และคำว่า ‘นายกโจว’ (周总理) กลายเป็นคำพูดติดปากของทุกคนเมื่อกล่าวถึงชายผู้นี้ นอกจากนั้น ในช่วงปี 1949 ถึง 1958 โจวเอินไหลยังควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นรองประธานพรรค รองประธานคณะกรรมาธิการทหาร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาทางการเมือง

สุภาพบุรุษนักการทูต
โจว เอินไหลมีบทบาท คุณูปการโดเด่นที่สุดในด้านการทูตระหว่างประเทศ หลังสงครามเกาหลีสิ้นสุดลง(ค.ศ.1950-1953) โจวสนับสนุนนโยบายทางการทูตแนวสันติวิธี

หลังปี 1958 ถึงแม้โจวมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนแล้วก็ตาม ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการบัญชาการรบใน 'หมาก' ทางการทูตของจีน และยังเข้าร่วมอยู่ในการเจรจาทางการทูตวาระสำคัญๆทั้งหมดด้วย

โจวเอินไหลเป็นหัวหอกในการฟื้นฟูสัมพันธไมตรีกับมิตรประเทศกลุ่มทุนนิยมที่พัฒนาแล้ว อาทิ อังกฤษ และเชื่อมสัมพันธ์กับฝรั่งเศสในปีค.ศ.1964 นั้นนับเป็นการเปิดม่านไม้ไผ่สู่ดินแดนยุโรปอย่างจริงจัง รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา ทั้งยังเป็นผู้เสนอทิศทางการฟื้นฟูมิตรภาพจีน-ญี่ปุ่น
โจว เอินไหล เดือนก.พ. ปี 1972 ต้อนรับประธานาธิบดีริกชารืด นิกสันแห่งหสรัฐอเมริกา ที่สนามบิน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อเมริกาที่ประธานาธิบดีมาเยือนต่างประเทศที่มิได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกัน
นอกจากนี้ โจวเอินไหลยังมีการติดต่อกับประเทศแถบทวีปเอเชียและแอฟริกา โดยเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆในแถบนี้กว่า 24 ประเทศ และในขณะเดียวกัน โจวเอินไหลผู้นี้เช่นกันที่เจรจาปัญหาชายแดนระหว่างจีนกับพม่าและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆได้เป็นผลสำเร็จด้วย

ผู้นำโจวยังเป็นผู้ประคับประคองประเทศจีนในช่วงระหว่าง 10 ปี ของการปฎิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ.1966-1976) แม้กิจการระหว่างประเทศของจีนตกอยู่ใต้อิทธิพลของกระแสนิยมซ้ายจัด งานด้านการเสริมสร้างสันถวไมตรีกับนานาชาติเป็นไปอย่างยากลำบาก ถึงกระนั้น โจว เอินไหลยังคงมุมานะเดินหน้าจับมือสร้างสัมพันธ์กับมิตรประเทศมาตลอด จนเมื่อสิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรมในปีค.ศ.1976 จีนได้เปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆจากเดิม 49 ชาติเพิ่มขึ้นเป็นถึง 107 ชาติ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังผลักดันสมาชิกภาพในองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น จนกระทั่งในปี 1971 จีนก็ได้เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็น แทนที่สาธารณรัฐจีน หรือไต้หวัน

โจวยังเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีนในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1975 ด้วย

กล่าวได้ว่าการที่จีนมีสถานภาพและผงาดบนเวทีโลกในทุกๆด้าน มาจากความสามารถและความบากบั่นของบุรุษที่ชื่อโจวเอินไหลผู้นี้เป็นสำคัญ

นายกโจวยืนยันมาโดยตลอดว่า การจะทำให้จีนเป็นประเทศสังคมนิยมที่เข้มแข็ง ปัจจัยสำคัญคือความทันสมัยด้านวิทยาศาสตร์ และการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจก็จำเป็นต้องเริ่มจากพื้นฐานที่แท้จริงของจีนเอง พร้อมๆกับแสวงหาความสมดุล กลมกลืน สันติสุขร่วมกับนานาประเทศ
โจว เอินไหลกับเติ้ง อิ่งเชา คู่ชีวิต
สำหรับชีวิตส่วนตัวแล้ว โจวแต่งงานกับสหายเติ้ง อิ่งเชาในปี 1925 และเป็นคู่ทุกข์คู่ยากจนจวบสิ้นอายุขัย โจว เอินไหลเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในวันที่ 8 มกราคม 1976 (พ.ศ.2519) ที่กรุงปักกิ่ง ในวัย 78 ปี ท่ามกลางความโศกเศร้าของชาวจีนทั่วโลก ที่อาลัยรักนายกรัฐมนตรีผู้อุทิศแรงกายแรงใจ สร้างคุณูปการแด่ชาติบ้านเมืองอย่างเหลือล้น .
โจว เอินไหล ค.ศ.1914 ที่โรงเรียนหนันไค นครเทียนจิน
โจว เอินไหล ค.ศ.1919  ยุคการเคลื่อนไหว 4 พฤษภา
โจว เอินไหลในยุคทศวรรษที่ 30 ในกองทัพแดง
โจว เอินไหลยุคต้นสงครามต่อต้านญี่ปุ่น
โจว เอินไหล ค.ศ.1939 ตกม้าที่เหยียนอัน กระดูกไหล่แตก
โจว เอินไหล ค.ศ.1921 เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในกรุงเบอร์ลิน
โจว เอินไหล กับ เหมา เจ๋อตง ชมการแข่งขันกีฬาของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนในปักกิ่ง ปี 1952
โจว เอินไหล กับเลขาธิการสหประชาชาติ Dag Hjalmar Agne Carl Hammarskjöld  ปี 1955
ยุคสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนใหม่ๆ
นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ตรวจการงานแสดงธัญพืชในมณฑลก่วงตง ปี 1958
โจว เอินไหล ที่จงหนันไห่ กรุงปักกิ่ง ปี 1960
โจว เอินไหล กับเติ้งเสี่ยวผิง (ซ้าย) ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
โจว เอินไหล กับเติ้ง อิ่งเชา ถ่ายภาพที่ระลึกกันในวาระครบรอบ 25 ปี ของการแต่งงานกัน

เติ้ง อิ่งเชา ถือพานธงชาติ ในงานพิธีศพโจวเอินไหล

กำลังโหลดความคิดเห็น