เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ฮ่องกงและเซินเจิ้นจับมือสร้าง “เทคโนโลยี ปาร์ค” สุดยิ่งใหญ่ หลังจากสามารถยุติข้อพิพาทความเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งยืดเยื้อมานานลงได้ในที่สุด แต่มิวายเกิดข้อกังขาความโปร่งใส
สืบเนื่องจากวันอังคาร (3 ม.ค.) ที่ผ่านมา มีการจรดปากกาเซ็นข้อตกลงระหว่างเกาะฮ่องกงกับนครเซินเจิ้น มณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) ที่จะร่วมกันพัฒนาอภิมหาโครงการพลิกโฉมผืนดินรกร้าง “ลั่วหม่าโจว” (Lok Ma Chau Loop) สู่อุทยานแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งทั้งสองฝ่ายระบุว่าเป็นโอกาสที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
อุทยานแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีฮ่องกง/เซินเจิ้น (Hong Kong/Shenzhen Innovation and Technology Park) จะก่อสร้างบนพื้นที่รูปทรงคล้ายวงกลม ขนาด 87 เฮกเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะฮ่องกง โดยจะมีขนาดใหญ่กว่าอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งปัจจุบันในย่านซาเถียน (Sha Tin)
“อุทยานแห่งใหม่จะเป็นฐานทัพทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างมาในประวัติศาสตร์ฮ่องกง” เหลียง เจิ้นอิง หัวหน้าคณะผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงกล่าวในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) “อุทยานฯ จะเป็นรากฐานของความร่วมมือด้านการวิจัยทางนวัตกรรมและเทคโนโลยี การจัดการศึกษา วัฒนธรรม และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ตลอดจนอำนวยความสะดวกเพื่อส่งเสริมประโยชน์ ก่อเกิดพื้นที่และโอกาสสดใหม่ของการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในฮ่องกงและเซินเจิ้น”
อย่างไรก็ดี กระแสวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนท้องถิ่นก็เกิดขึ้นตามมาทันที โดยเฉพาะคำถามถึงความจำเป็นในการให้ทางการเซินเจิ้นเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งที่มีการยืนยันและยอมรับว่าฮ่องกงครองกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินผืนดังกล่าวอยู่แล้ว นอกจากนั้นยังเกิดข้อกังขาว่าเหตุใดจึงไม่มีการปรึกษาหารือกับสาธารณะก่อนอีกด้วย
เอ็ดเวิร์ด ยิว ชุง-ยิม นักกฎหมายด้านการวางแผนและการสำรวจ เรียกร้องคำอธิบายว่าเหตุใดรัฐบาลฮ่องกงจึงปรับเปลี่ยนแผนโดยไม่มีการไถ่ถามความเห็นจากประชาชน เนื่องจากเดิมทีฮ่องกงวางแผนสร้าง "อาณาจักรมหาวิทยาลัย" ณ พื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมุ่งเป้าจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับสูงไว้
ชาร์ลส ม็อก นักกฎหมายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ก็ตั้งคำถามว่า พื้นที่ดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลจะสามารถดึงดูดบรรดาบริษัทผู้ประกอบการและบุคลากรด้านเทคโนโลยีระดับสูงได้จริงหรือไม่
ลั่วหม่าโจวเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและดินโคลนติดแม่น้ำเซินเจิ้น ซึ่งเกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ต้องการควบคุมทิศทางการไหลของน้ำในปี 2540 โดยหลังจากรัฐบาลฮ่องกงยืนกรานว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายในอาณาเขตของเกาะฮ่องกง ก็กลายเป็นจุดกำเนิดข้อพิพาทกับเมืองเซินเจิ้นบนจีนแผ่นดินใหญ่
ทั้งนี้ ข้อตกลงฯ ถูกเซ็นโดย อ้าย เสวี่ยเฟิง รองผู้ว่าการนครเซินเจิ้น และแคร์รี่ แลม เฉิง เลขานุการหัวหน้าคณะผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งเป็นผู้ประกาศว่า เซินเจิ้นได้รับรู้ถึงกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่ดินของฮ่องกงตั้งแต่ปี 2540 โดยรัฐบาลฮ่องกงจะรับผิดชอบโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ส่วนบริษัทลูกของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานอุทยานฯ ในย่านซาเถียน จะรับหน้าที่ดูแลโครงสร้างขนาดใหญ่และการดำเนินงานในอนาคต
ฮ่องกงและเซินเจิ้นจะจัดส่งตัวแทนร่วมเป็นคณะกรรมการควบคุมการพัฒนาโครงการอุทยานแห่งใหม่ ซึ่งจะมีขนาดพื้นที่กว่า 1.2 ล้านตารางเมตร โดยนางแลมเผยว่า รัฐบาลฮ่องกงจะหารือกับคณะลูกขุนแห่งสภานิติบัญญัติในไตรมาสแรกของปี และคณะกรรมการการวางผังเมืองจะประกาศพิมพ์เขียวในไตรมาสที่สอง
นางแลมระบุว่า ฮ่องกงคาดหวังให้การก่อสร้างเริ่มต้นเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยแบ่งงานออกเป็นช่วงๆ ทว่ามิได้เปิดเผยการประเมินค่าใช้จ่าย กล่าวเพียงว่าสำนักงานการพัฒนาจะเป็นผู้ดูแลงานงบประมาณเท่านั้น ขณะเดียวกันจะพิจารณาการจัดตั้งจุดอำนวยความสะดวกการเข้า-ออกเมือง เพื่อประชาชนจากทั้งสองฟากเมืองจะสามารถเข้าถึงอุทยานฯ ได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
ด้านนายสี่ว์ ฉิน พ่อเมืองเซินเจิ้น กล่าวว่า การร่วมมือกับฮ่องกงคือสิ่งสำคัญสำหรับเซินเจิ้นในการก้าวสู่ตำแหน่งศูนย์กลางระหว่างประเทศ