เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ชนชั้นกลางชาวจีนแผ่นดินใหญ่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นมากกว่าสามในสี่ของจำนวนประชากรจีนในปี 2573 ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการใช้จ่ายเงินพุ่งสูงเทียบเท่าทั้งสหภาพยุโรปในปัจจุบัน
อ้างอิงรายงานซึ่งจัดทำโดยบริษัท เดอะ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต และเผยแพร่เมื่อวันพุธ (3 พ.ย.) ระบุว่า ประชากรจีนราวร้อยละ 35 จะมีรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริงในแต่ละปีเกินหนึ่งหมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีกสิบสี่ปีข้างหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นราวสิบเปอร์เซ็นต์จากปัจจุบัน
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนซึ่งประกอบด้วยสินค้า บริการ และการเช่า ได้รับการประเมินว่าจะเติบโตเฉลี่ย 5.5 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี ซึ่งเร็วกว่าการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
“คาดว่าอำนาจการซื้อของผู้บริโภคชาวจีนในปี 2570 จะเหมือนกับเกาหลีใต้ในเวลานี้ และอเมริกาในปี 2543” ตัน หวัง นักวิเคราะห์ชาวจีนของบริษัทฯ กล่าว
รายงานระบุว่า ส่วนความไม่เท่าเทียมกันของความมั่งคั่งในจีนจะยังคงมีอยู่ต่อไป แม้จะเกิดผู้มีรายได้สูงหน้าใหม่มากขึ้นตามหัวเมืองใหญ่ชั้นใน อาทิ ฉงชิ่ง ซีอัน และฉังซา ซึ่งต่างจากเดิมที่มักจะเป็นมณฑลตามชายฝั่งตะวันออก
“เปรียบเทียบกับสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ จีนมีประชากรรายได้ต่ำในสัดส่วนที่ใหญ่กว่ามาก โดยเกือบทั้งหมดเป็นประชากรในถิ่นชนบทห่างไกล” หวังกล่าว “ความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในจีนอาจถูกมองว่าต่ำกว่าในสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ แต่มันก็มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต เมื่อความรวยขึ้นอยู่กับเงินทุนมากกว่าแรงงาน คนที่ถือเงินอยู่มากก็เร่งความรวยได้เร็วกว่า”
ทั้งนี้ รายงานได้แบ่งผู้บริโภคชาวจีนออกเป็นสี่กลุ่ม โดยอ้างอิงจากรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริงในแต่ละปี ได้แก่ กลุ่มรายได้ต่ำ (น้อยกว่า 13,000 หยวน หรือราว 65,000 บาท) กลุ่มรายได้ต่ำปานกลาง (13,000-67,000 หยวน หรือราว 65,000-335,000 บาท) กลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน (67,000-200,000 หยวน หรือราว 335,000 บาทถึงหนึ่งล้านบาท) และกลุ่มรายได้สูง (เกิน 200,000 หยวน หรือราวหนึ่งล้านบาท)
กลุ่มรายได้ปานกลางระดับบนเป็นกลุ่มคนที่สามารถซื้อรถยนต์ สินค้ามียี่ห้อ และบ้านที่อยู่อาศัยในหัวเมืองใหญ่ระดับหนึ่งและระดับสองได้ ส่วนกลุ่มรายได้สูงเป็นกลุ่มคนที่สามารถใช้บริการทางการเงิน ท่องเที่ยวต่างประเทศ ซื้อสินค้าและบริการระดับสูงได้
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา องค์กรระหว่างประเทศจำนวนมากได้เผยแพร่รายงานลักษณะเดียวกัน โดยหนึ่งในรายงานที่มักได้รับการอ้างอิงอยู่บ่อยครั้งคือ เครดิต สวิส ที่เผยแพร่ในปีก่อน ระบุว่า จีนแผ่นดินใหญ่มีชนชั้นกลางอยู่ราว 109 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ถูกนิยามว่าครอบครองสินทรัพย์อยู่อย่างน้อย 28,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี สี่ว์ หมิงฉี อาจารย์ประจำสถาบันเศรษฐกิจโลก สำนักวิชาสังคมศาสตร์แห่งนครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า แม้ประชาชนและรัฐจะมีความร่ำรวยเพิ่มมากขึ้น แต่บรรดาผู้สังเกตการณ์ในต่างประเทศอาจประเมินรายได้สูงเกินไปจากความเป็นจริง
“หนึ่งตัวอย่างชัดเจนคือ แม้การท่องเที่ยวและการใช้จ่ายเงินในต่างประเทศของชาวจีนจะเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นเฉพาะบางกลุ่มคนซึ่งมีรายได้สูงกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยยะ อย่าลืมพื้นที่ภายใต้การพัฒนาขนาดมหึมาที่ยังมีอัตรารายได้ต่ำอยู่มาก”