พระราชกรณียกิจของพระบรมวงศานุวงศ์ ที่สืบสานสัมพันธภาพไทย-จีน
“ประเทศจีน” เป็นแหล่งอารยธรรมใหญ่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน แสดงถึงความยิ่งใหญ่และความเจริญรุ่งเรืองในด้านต่างๆ ซึ่งมีวิวัฒนาการต่อเนื่องมาไม่ขาดสาย เรื่องราวของจีนแต่ละเรื่องแต่ละยุคล้วนน่าสนใจน่าศึกษาพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง
“ความสัมพันธ์จีน ไทย จีนไทยมีสายสัมพันธ์อันยาวยืนสืบมาแต่โบราณกาล ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐก็ดี ระหว่างประชาชนทั้งสองเชื้อชาติก็ดี มีอยู่อย่างสนิทแน่นแฟ้นจนไม่อาจแยกจากกันได้ เพราะต่างฝ่ายต่างได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้แก่กัน มากมายลึกซึ้งมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ดังนั้น ความสัมพันธ์เก่าแก่ระหว่างชาติของเรา จึงย่อมเป็นพื้นฐานอันแน่นหนาและมั่นคงที่จะรองรับและเกื้อกูลการประสานความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนให้กระชับแน่นและเจริญงอกงามยิ่งขึ้นได้อย่างดี” คือข้อความตัดตอนจากพระราชดำรัสสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ระหว่างเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ปี พ.ศ. 2530
พระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนจีนสองครั้ง ได้แก่ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งราชอาณาจักรไทย ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคม พ.ศ. 2530 และ อีกครั้งคือ ในวันที่ 22 ตุลาคม 2535 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ ในการเสด็จ ฯ แทนพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลอวิ๋นหนัน (ยูนนาน)
นอกจากนี้ พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนอย่างสำคัญ ได้แก่
ในพ.ศ.2523 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงคิดจะเรียนภาษาเยอรมัน เมื่อทรงปรารภถึงพระราชดำริดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงฟังแล้ว กลับรับสั่งว่า “เรียนภาษาจีนสิ เรียนให้ได้นะ”
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จึงได้ทรงพระอักษรภาษาจีนกับพระอาจารย์ชาวจีนที่สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยจัดถวาย หลังจากนั้นมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯก็ทรงใฝ่พระราชหฤทัยในความรู้ด้านภาษาจีนอยู่เป็นอาจิณ ตลอด 30 ปี และยังเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศจีนทุกปี จนถึงปี 2547 ประพาสครบถ้วนทุกมณฑลและทุกเขตการปกครองพิเศษของจีน นอกจากนี้ ทรงมีพระราชนิพนธ์ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน 12 เล่ม พระราชนิพนธ์แปล 7 เล่ม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีน ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เป็นเวลาหนึ่งเดือน ระหว่างวันที่ 14 ก.พ.-15 มี.ค. 2544
ด้วยพระราชกรณียกิจในการสานสัมพันธภาพระหว่างประเทศไทย-จีนดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชน จึงได้ทูลเกล้าถวาย “รางวัลมิตรภาพภาษาและวัฒนธรรมจีน” เมื่อวันที่ 17 มี.ค. พ.ศ. 2543 เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณด้านนี้ของพระองค์
นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงได้รับการรับการคัดเลือกและทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “10 มหามิตรนานาชาติที่ผูกพันกับประชาชนชาติจีน”
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์อีกพระองค์ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการสานสัมพันธ์ไทย-จีน ครั้งที่สำคัญได้แก่ ทรงเดี่ยวกู่เจิง เครื่องดนตรีจีนโบราณ ในงานแสดงดนตรีและวัฒนธรรม ‘สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน’ ครั้งแรกที่เมืองไทยเมื่อปี 2544 เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับจีน
ปีถัดมา (พ.ศ.2545) เสด็จเยือนจีนไปทรงเป็นองค์ประธานจัดงานดนตรี "จีน - ไทย ใช่อื่นไกล” ที่กรุงปักกิ่ง เมืองซีอาน และนครเซี่ยงไฮ้ และทรงเป็นองค์ประธานจัดงานดังกล่าวในปี พ.ศ.2548, พ.ศ.2557 และปี พ.ศ.2558 ตามลำดับ