xs
xsm
sm
md
lg

เขื่อนสามโตรกป้องกันอุทกภัยได้จริงหรือ ความสงสัยทะลักท่วมโลกออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พรรรพิไล นาคธน

เขื่อนสามโตรก ก่อสร้างเมื่อปีพ.ศ. 2536 ด้วยทุนงบประมาณราว 22,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  โดยการก่อสร้างเฟสสุดท้ายแล้วเสร็จเมื่อปี 2552  (ภาพซินหวา)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ขณะนี้บทบาทในการป้องกันอุทกภัยของเขื่อนสามโตรกกลับมาเป็นที่สงสัยอีกครั้งของภาคประชาชนบนแดนมังกร เมื่อชุมชนสองฟากแม่น้ำแยงซี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดในประเทศ ต้องประสบน้ำท่วมครั้งใหญ่สุด นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2541  เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา ก่อความเสียหายบนพื้นที่ฝั่งตะวันออก มีผู้เสียชีวิต 237 คน และสูญหายอีก 93 คน มากกว่ายอดผู้เสียชีวิต 69 คน จากพายุไต้ฝุ่นเนปาร์ตักถล่มมณฑลฝูเจี้ยน

นอกจากนั้น ยังคาดว่า จะมีฝนตกหนักอีกในแถบลุ่มแม่น้ำแยงซีในเดือนก.ค.นี้ ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์รุนแรงเหมือนเมื่อ 18 ปีก่อน ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4,000 คน

เมืองอู่ฮั่น ซึ่งตั้งอยู่ตอนกลางแม่น้ำแยงซี มีประชากรอาศัยราว 11 ล้านคน ประสบน้ำท่วมหนักเป็นพิเศษในปีนี้ ทำให้เกิดคำถามในโลกออนไลน์ว่า เหตุใดหลายเมืองใหญ่ในจีนจึงเกิดน้ำท่วมกันง่ายขึ้นทุกที

หลายคนตำหนิการวางผังเมืองและระบบการระบายน้ำ รวมทั้งการบุกรุกพื้นที่หนองบึง เพื่อขยายเมืองอย่างไร้การควบคุมในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม มีชาวเน็ตจำนวนมากเพ่งเล็งไปที่ความสามารถในการป้องกันน้ำท่วมของเขื่อนสามโตรก ซึ่งเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังงน้ำใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในหุบเขาซีหลิงเสีย เมืองอี๋ชัง มณฑลหูเป่ย โดยมีการแชร์คำเตือนของนายหวง วั่นหลี่ นักอุทกวิทยา ที่ทำนายว่า เขื่อนสามโตรกจะเต็มไปด้วยตะกอน กระทั่งต้องรื้อทิ้งไปในที่สุด

ปรากฏว่า กองเซ็นเซอร์ของจีนลบคำวิจารณ์และคำเตือนเหล่านั้นในทันที ด้านทางการรีบออกมาชี้แจงปกป้องเขื่อน

สมาคมผู้สื่อข่าวด้านวิทยาศาสตร์ในกรุงปักกิ่งเชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันถกถึงข้อดีของเขื่อนสามโตรกว่า ช่วยป้องกันน้ำท่วมในเขตตอนล่างของแม่น้ำ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองต่าง ๆ

นายเฉา กวงจิ้ง รองผู้ว่าการมณฑลหูเป่ย เคยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปของบริษัทไชน่าทรีกอจส์  ( China Three Gorges Corporation) ในปีพ.ศ. 2550 โดยตอนนั้นเขายกย่องความสามารถของเขื่อนสามโตรกว่า สามารถป้องกันน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในรอบ 1 พันปีในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซีได้เป็นบริเวณกว้าง

คำยกย่องดังกล่าว มาตอนนี้ถูกคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญหลายคน ซึ่งระบุว่า เขื่อนสามโตรกอาจรับมือน้ำท่วมครั้งใหญ่สุดในรอบ 1 พันปีได้เพียงครั้งเดียว และเมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานอื่นเข้ามาประกอบ เขื่อนสามโตรกก็อาจป้องกันน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 100 ปีได้หนเดียวในเมืองใกล้เคียงคือเมืองจิงโจว ในมณฑลหูเป่ย และเฉิงหลิงจี๋ในมณฑลหูหนัน

จากรายงานของ Thepaper.cn ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำนักข่าวในนครเซี่ยงไฮ้ นายโจว เจี้ยนจวิน อาจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชิงกว่า ระบุว่า การพึ่งแต่เขื่อนสามโตรกในการป้องกันน้ำท่วมเพียงอย่างเดียวเป็นเรื่องอันตราย

เขากล่าวว่า งานหลักของเขื่อนสามโตรกคือการป้องกันความปลอดภัยของแม่น้ำจิง ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำแยงซีในมณฑลหูเป่ย นักอุทกวิทยาส่วนใหญ่ก็สรุปเช่นนั้น แต่หน่วยงานองค์กรและผู้เชี่ยวชาญมากมายไม่อยากพูดเรื่องนี้อย่างเปิดเผย

นาย จู ฟั่น ชาวเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเผชิญน้ำท่วมใหญ่ปีพ.ศ. 2541 ระบุว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้ว่า ฝนที่ตกในภูมิภาคใกล้เคียงส่งผลกระทบมากที่สุดต่อระดับแม่น้ำแยงซีในเมืองอู่ฮั่น มากกว่าฝนที่ตกเหนือเขื่อน สิ่งที่ผู้คนมากมายเข้าใจในเวลานี้ก็คือโครงการเขื่อนสามโตรกเกิดขึ้นก็เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนผลประโยชน์ทางธุรกิจ นอกจากนั้น จูยังมองว่า การตกตะกอนทับถมของกรวดทรายจากแม่น้ำแยงซีตอนบนเป็นปัญหาหนึ่ง ที่อาจทำให้ต้องทุบเขื่อนสามโตรกทิ้ง

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่สนับสนุนเขื่อนยักษ์ปฏิเสธ นาย หวัง อี้หนัน นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาของรัฐบาลจีนระบุกับไชน่า อิโคโนมิก รีวิว ( China Economic Review)เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า เสียงวิจารณ์เหล่านี้เป็นการวาดภาพ ที่ชั่วร้ายให้กับการก่อสร้างเขื่อน

อย่างไรก็ตาม การสะสมของตะกอนในเขื่อนสามโตรอาจทำให้เมื่อมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนไหล จะทำให้กรวดทรายกัดเซาะก้นแม่น้ำและทำให้ตลิ่งถล่มได้ ซึ่งนาย เฉิน ไหล รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรน้ำได้เตือนในการประชุมการควบคุมน้ำท่วมเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมาว่า การเปลี่ยนเส้นทางน้ำและปัญหาทรายในบริเวณตอนกลางและตอนล่างของแม่น้ำแยงซีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากำลังทำให้ตลิ่งถล่มมากขึ้น

นายจาง ปั๋วถิง รองเลขาธิการสมาคมไฟฟ้าพลังน้ำจีนระบุว่า กรวดทรายราว150 ลูกบาศก์เมตร ที่ไหลมากับน้ำจากเขื่อนสามโตรกทำให้ก้นแม่น้ำแยงซีถูกกัดเซาะราว 2.1 เมตร

ที่ผ่านมาจีนได้ทุ่มงบประมาณในการเสริมความแข็งแรงของตลิ่งแม่น้ำแยงซี แต่ก็ยังมีการพังถล่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงใหม่ในการป้องกันน้ำท่วม

นายเฉินให้คำมั่นเพิ่มเงินสำหรับการเสริมตลิ่งแม่น้ำแยงซีในมณฑลหูเป่ยจำนวนเกือบ 5 พันล้านหยวน หรือราว 25,000 ล้านบาท ภายในปีพ.ศ. 2563 เพื่อป้องกันตลิ่งกัดเซาะ

นายหวง วั่นหลี่ นักอุทกวิทยา มองว่า การทุ่มงบประมาณนี้เป็นการลงทุน  ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหานานาประการ ที่เกิดจากเขื่อนยักษ์ เพียงแต่มันเป็นแค่การเริ่มต้นของการลงทุน ที่ถมเท่าไรก็ไม่เต็มเสียที


กำลังโหลดความคิดเห็น