เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - จีนจะนับยอด “เด็กที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง” (left-behind children) ให้ใช้ชีวิตอยู่กับปู่ย่าตายายหรืออยู่ตามลำพังในชนบทขณะพ่อแม่ไปทำงานต่างถิ่น คาดตัวเลขสูงกว่า 60 ล้านคน
ไชน่า ยูทธ์ เดลี รายงาน (28 มี.ค.) อ้างเจ้าหน้าที่กระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ระบุว่า บรรดากระทรวงของจีนจะร่วมมือกันสำรวจจำนวนเด็กกลุ่มดังกล่าวในปีนี้ เพื่อค้นหาตัวเลขที่แน่นอนอันนำไปสู่การมอบความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
คณะนักวิจัยจีนประเมินเบื้องต้นว่า เด็กกลุ่มนี้ที่ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ รวมถึงการศึกษาที่ดีเพียงพอ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ก่อให้เกิดปัญหาเรื้อรังมานานนับทศวรรษ อาจมีจำนวนมากกว่า 60 ล้านคนในปัจจุบัน
นางหนี ชุนซย่า รองหัวหน้าฝ่ายกิจการสังคมประจำกระทรวงฯ กล่าวว่า แม้กรณีเด็กที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังจะถูกตีความเป็นปัญหาสังคมระดับรุนแรง แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี กระทรวงต่างๆ ทั้ง 27 แห่ง จะเริ่มประชุมหารือเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดในอีกไม่นานนี้
ทั้งนี้ เด็กที่ถูกทอดทิ้งฯ มักถูกเลี้ยงดูโดยคนรุ่นปู่ย่าตายาย หรือบางครั้งอาจถูกละทิ้งให้ใช้ชีวิตตามลำพัง ได้กลายเป็นประเด็นสนใจของสังคมจีน เนื่องจากพวกเขาเข้าไปพัวพันกับเหตุฆ่าตัวตาย อุบัติเหตุ และการกระทำผิดกฎหมายอาญาอยู่บ่อยครั้ง
ตัวอย่างเช่นในปีก่อน เด็กชายหนึ่งคนและเด็กหญิงสามคน อายุ 5-13 ปี ซึ่งใช้ชีวิตร่วมกันอย่างยากลำบากในเมืองปี้เจี๋ย มณฑลกุ้ยโจว ได้ก่อเหตุฆ่าตัวตายหมู่ด้วยการดื่มยาฆ่าแมลง ขณะที่ผู้เป็นพ่อจากบ้านไปทำงานต่างเมือง หรือในปี 2555 พบเด็กชาย 5 คน เสียชีวิตอยู่ในถังขยะขนาดใหญ่ริมถนนเมืองปี้เจี๋ย เพราะสูดดมควันพิษจากการเผาไหม้ถ่านหิน ที่พวกเขาก่อขึ้นเพื่อเพิ่มความอบอุ่นในฤดูหนาว
นางหลี่ อิ๋ง นักกฎหมายชาวจีน หัวหน้าศูนย์การพัฒนาเพศสภาพหยวนจง และนักกิจกรรมที่มุ่งช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาเหล่านี้ บอกว่าการสร้างฐานข้อมูลเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะช่วยให้เกิดการดูแลและส่งเสริมที่ดียิ่งขึ้น
หลี่กล่าวว่า นอกจากการสนับสนุนของภาครัฐและองค์กรอิสระซึ่งเป็นสิ่งสำคัญนั้น การกระตุ้นให้พ่อแม่ของเด็กกลับบ้าน และทำให้พ่อแม่มั่นใจว่าจะมีแหล่งรายได้ที่แน่นอนในบ้านเกิดถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่า ทางการจีนจึงควรสร้างงานและพัฒนาประกันสังคม เพื่อดึงดูดพวกเขากลับสู่ภูมิลำเนา