MGR ONLINE/เอเจนซี--มหายาตรากลับบ้านฉลองวันปีใหม่ของชนชาติจีน หรือตรุษจีนในปีนี้ เริ่มเคลื่อนขบวนเร็วกว่าปีที่ผ่านๆมา โดยการเดินทางฯเริ่มขึ้นในช่วงสองสัปดาห์ก่อนวันตรุษจีน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 8 ก.พ.
ชาวจีนยังคงยึดถือประเพณีฉลองวันตรุษจีนกันไม่เสื่อมคลาย โดยหัวใจของวันปีใหม่ของชาวแดนมังกรคือ การได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาของสมาชิกในครอบครัว กินอาหารส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ด้วยกัน สักการะบรรพบุรุษ และร่วมกิจกรรมอื่นๆ อันเป็นความสุขและศิริมงคลของชีวิต
สำหรับในแผ่นดินใหญ่ ช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน ผู้คนจำนวนมหาศาลจะหลั่งไหลเดินทางกลับบ้าน นับเป็นการเดินทางประจำปีที่มโหฬารที่สุดในโลก ด้วยประเทศจีนนั้นมีกลุ่มแรงงานต่างถิ่นจากเขตชนบทเข้าไปทำงานในเขตเมืองจำนวนมากถึงกว่า 200 ล้านคน คนเหล่านี้รอคอยช่วงวันหยุดยาวแห่งเทศกาลตรุษจีน ที่จะได้กลับบ้านไปฉลองปีใหม่ พบปะพ่อแม่พี่น้องญาติมิตรเพื่อนผอง ชาวจีนเรียกการเดินทางกลับบ้านฉลองตรุษจีนกันว่า “ชุนอวิ้น” (春运)
การเดินทางในช่วงเทศกาลตรุษจีน หรือ ชุนอวิ๋น คือการเดินทางกลับบ้านและการเดินทางกลับมาทำงาน ปี 2016 นี้อยู่ระหว่างวันที่ 24 ม.ค.-3 มี.ค. ข้อมูลจากหน่วยตำรวจจราจรประมาณการเดินทางช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ มากกว่า 2,900 ล้านเที่ยว
สื่อจีน เป่ยจิง ไทม์ส (Beijing Times) ในวันแรกของการเดินทางช่วงเทศกาลตรุษจีน (24 ม.ค.) เฉพาะที่สถานีรถไฟกรุงปักกิ่ง มีผู้โดยสารราว 399,000 คน เดินทางกลับบ้าน
สำหรับปีนี้ แรงงานต่างถิ่นในจีนหลายล้านคนเริ่มออกเดินทางกลับบ้านในช่วงสองสัปดาห์ก่อนวันตรุษจีนซึ่งตรงกับวันที่ 8 ก.พ. โดยนับเป็นการเดินทางฯล่วงหน้าที่เร็วกว่าปีที่ผ่านๆมา
ด้วยสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ยอดสั่งซื้อตกลงและการผลิตไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน เจ้าหน้าที่บริษัทหรือโรงงานได้ให้คนงานกลับบ้านไปฉลองตรุษจีนเร็วกว่าปีก่อนๆ
ขณะนี้มีแนวโน้มระยะยาวบ่งชี้ว่ากลุ่มแรงงานต่างถิ่นจะหวนคืนสู่เขตชนบท ในปีที่แล้ว 2558 ประชากรโยกย้ายถิ่นลดลงอีก 5.68 ล้านคน นับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 30 ปี
นอกจากนี้กลุ่มนักสังคมวิทยายังพบว่าแรงจูงใจของกลุ่มแรงงานต่างถิ่นที่แห่กลับบ้านนากันในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ หลายๆคนกลับบ้านเพื่อไปดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า และบางกลุ่มเพียงแค่อยากไปกินอาหารปลอดสารพิษ
นาย หยาง ถวน นักสังคมวิทยาที่มีชื่อเสียงของบัณฑิตสภาด้านสังคมศาสตร์ ชี้ว่า “กลุ่มแรงงานต่างถิ่นมีรากเหง้าในชนบท พวกเขามีความรู้สึกผูกพันกับที่ดิน” ดังนั้น กระแสแรงงานต่างถิ่นหวนคืนสู่บ้านนาจะทะยานสูงที่สุดในช่วง 5 ถึง 10 ปี ข้างหน้านี้