สื่อจีนรายงาน (2 ส.ค.) “จิงจิง” และ “ซือหยวน” แม่แพนด้ายักษ์ในศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ต่างมอบสมาชิกใหม่ให้แก่ศูนย์วิจัยฯ โดยการให้กำเนิดลูกแฝด รวมทั้งหมด 4 ตัว
นักวิจัยแพนด้าประจำศูนย์อนุรักษ์ฯ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่เริ่มสังเกตเห็นว่า จิงจิงเริ่มมีอาการของการตั้งท้องตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยจิงจิงเริ่มมีพฤติกรรมกินน้อย นอนมาก ไม่ค่อยเคลื่อนไหว ต่อมาในช่วงปลายเดือน ก.ค. เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มีการหักกิ่งไผ่ทำรัง จนในช่วงเช้ามืดของวัน 2 ส.ค. จิงจิงก็ได้ออกลูกแฝดเพศผู้ โดยลูกแฝดผู้พี่ได้ลืมตาดูโลกเมื่อเวลา 05.40 น.ตามเวลาท้องถิ่น และอีก 30 นาทีถัดมา ลูกแฝดผู้น้องก็คลอดตามออกมา ซึ่งแพนด้าแฝดพี่น้องมีน้ำหนัก 171.5 กรัม และ 163.5 กรัม ตามลำดับ
ส่วนแพนด้ายักษ์ซือหยวน ก็เริ่มมีอาการของการตั้งท้องตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.เช่นกัน และในวันที่ 2 ส.ค. ซือหยวนก็ได้ออกลูกแฝดเพศผู้ โดยลูกแฝดผู้พี่ได้คลอดสู่โลกเมื่อเวลา 11.12 น. และลูกแฝดผู้น้องก็คลอดตามออกมาเมื่อเวลา 11.35 น. โดยลูกแพนด้าทั้งสองมีน้ำหนักตัว 174.1 กรัม และ 180.4 กรัมตามลำดับ
นักวิจัยแพนด้าระบุว่า ลูกแพนด้าของจิงจิง และซือหยวน มีสุขภาพแข็งแรงดี โดยในปีนี้ มีแพนด้าในศูนย์อนุรักษ์ออกลูกไปแล้ว 5 ครั้ง นับลูกแพนด้าได้ 9 ตัว
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund - WWF) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองกล๊องด์ สวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่าแพนด้ายักษ์เป็นสัตว์กลุ่มเสี่ยงสูญพันธุ์ เนื่องจากที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติถูกทำลายลงด้วยฝีมือมนุษย์ ที่เข้าไปรุกรานตัดต้นไม้ทำซุง ทำฟาร์มสัตว์ หรือผุดสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ
ด้านกลุ่มเอ็นจีโอแพนด้าระหว่างประเทศ (Pandas International) เสริมว่าอีกหนึ่งปัญหาของแพนด้ายักษ์คือ พวกมันมีช่วงฤดูผสมพันธุ์ที่สั้นมาก โดยแพนด้ายักษ์เพศเมียจะเกิดระยะผสมพันธุ์แค่ 24-36 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจของรัฐบาลจีนเมื่อปีก่อนก็เผยข้อมูลน่าชื่นใจว่า ตัวเลขคาดการณ์ของแพนด้ายักษ์ที่อาศัยอยู่ตามป่าธรรมชาติได้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 17 จากปี 2546 โดยเชื่อว่ามีแพนด้าป่าอยู่ราว 1,864 ตัวแล้ว