เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์/ รอยเตอร์ - การศึกษาดาราศาสตร์และสำรวจจักรวาลของจีนก้าวรุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยล่าสุดจีนกำลังลงมือสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับค้นหามนุษย์ต่างดาว และสิ่งมีชีวิตนอกโลก
กล้องโทรทรรศน์วิทยุทำหน้าที่บันทึกและวัดสัญญาณคลื่นวิทยุจากวัตถุในท้องฟ้า โดยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ที่จีนกำลังสร้างขึ้นนี้จะทำงานร่วมกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ดาราศาสตร์ ที่มีความสามารถในการคำนวณและประมวลผลได้รวดเร็วไม่แพ้ใคร
กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ซึ่งมีชื่อย่อว่า ฟาสต์ ( FAST) เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนมี.ค. ปี 2554 ภายในบริเวณหุบเขา ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งตามธรรมชาติในเมืองผิงถัง มณฑลกุ้ยโจว ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยมีการประกอบแผงตัวสะท้อนทั้งหมด 4,450 ชิ้น เพื่อสร้างเป็นรูปจานรับสัญญาณคลื่นวิทยุมหึมาขนาดเท่าสนามฟุตบอลราวมกัน 30 สนาม จากการเปิดเผยของบริษัทดอนนิ่ง อินฟอร์เมชั่น อินดัสทรี (Dawning Information Industry Co.) ซึ่งเป็นผู้สร้างกล้องตัวนี้
การก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2559 โดยมันจะครองแชมป์กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยเส้นผ่าศูนย์กลาง 500 เมตร แซงหน้ากล้องโทรทรรศน์วิทยุอะเรซิโบของเปอร์โตริโก ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 300 เมตร
กล้องโทรทรรศน์วิทยุฟาสต์จะเชื่อมเครือข่ายกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์สกายอาย-1 ( Skyeye-1) ซึ่งมีความสามารถในการคำนวณและประมวลผลเป็นจำนวนพันล้านล้านคำสั่งใน 1 วินาที และสามารถเชื่อมข้อมูลกับฟาสต์ได้ด้วยความเร็วสูงถึง 100 กิกะไบต์ต่อ 1 วินาที
อย่างไรก็ตาม สกายอาย-1 ยังห่างชั้นจากซูเปอร์คอมพิวเตอร์เทียนเหอ 2 ซึ่งมีความรวดเร็วที่สุดของจีน โดยมีความเร็วราว 1 ใน 30 ส่วนของเทียนเหอ 2 เท่านั้น
เทียนเหอ 2 สร้างโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีการป้องกันแห่งชาติในเมืองก่วงโจว (กวางโจว) และครองตำแหน่งคอมพิวเตอร์ทรงพลังที่สุดในโลกมาตั้งแต่ปี 2556
สื่อมวลชนของจีนมิได้รายงานเกี่ยวกับค่าก่อสร้างสกายอาย - 1 แต่ไม่น่าจะมีราคาถูก โดยเทียนเหอ 2 มีมูลค่าก่อสร้างมากกว่า 2,500 ล้านหยวน หรือราว 12,500 ล้านบาท และเสียค่าไฟฟ้าในการเดินเครื่องราววันละ 400,000 หยวน หรือราว 2 ล้านบาท
การสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ในมณฑลกุ้ยโจวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องงบประมาณการก่อสร้างอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงว่า กุ้ยโจวเป็นมณฑลยากจนที่สุดมณฑลหนึ่งบนแดนมังกร และความคุ้มค่าของการใช้งานซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เนื่องจากจีนยังมีโครงการที่จำเป็นต้องใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งไม่ประสงค์บอกนาม เนื่องจากความอ่อนไหวของเรื่องนี้ระบุว่า ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ที่จีนมีอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีความเหมาะสมกับความต้องการของโครงการฟาสต์ เนื่องจากเทียนเหอ 2 มิได้ออกแบบมาสำหรับการคำนวณทางดาราศาสตร์ และการส่งข้อมูลจากฟาสต์ ซึ่งตั้งอยู่ในมฑลกุ้ยโจวไปยังเทียนเหอ 2 ในเมืองก่วงโจวอาจสิ้นเปลืองมากกว่าค่าก่อสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ตัวใหม่เสียด้วยซ้ำ