รอยเตอร์ส— กลุ่มนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ แถลงเมื่อวานนี้(29 มิ.ย.) เรื่องการค้นพบฟอสซิล “สัตว์ประหลาด” อายุกว่า 500 ล้านปี ในมณฑลอวิ๋นหนัน ประเทศจีน ซึ่งเคยเป็นท้องทะเลยุคกำเนิดโลก โดยเป็นฟอสซิลของสัตว์รูปร่างแปลกประหลาดที่สุดเท่าที่เคยพบมา ลำตัวเป็นหนอนมีเดือยแหลมดูคล้านตะปูแหลมเรียงเป็นแถวที่ด้านหลัง และขาหน้าคล้ายขนนกเรียงเป็นแผง คอยจับอาหารจากน้ำ
ซากฟอสซิล “สัตวประหลาด” ที่พบในอวิ๋นหนันชิ้นนี้ ยังอยู่ในสภาพดีมาก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า คอล์ลินเซียม ซีลิโอซัม (Collinsium ciliosum) มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคแคมเบรียน ราว 542 ปีที่แล้ว ซึ่งจัดเป็นยุคบูมของวิวัฒนาการสัตว์ดึกดำบรรพ มีทั้งการปรากฏตัวและสูญหายของสัตว์รูปร่างแปลกประหลาดหลายๆชนิด
“ Collinsium นับเป็นสัตว์ที่ลักษณะรูปร่างประหลาดมาก ปัจจุบันหากใครดำน้ำไปพบมันเข้า ก็จะช็อกกันไปเลย” นาย Javier Ortega-Hernández นักบรรพชีวินวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ งานวิจัยของเขาเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ Proceedings of the National Academy of Sciences แห่งสหรัฐอเมริกา
“แม้หน้าตาของมัน ดูประหลาดชวนสยอง แต่หลายคนกลับชอบ และว่า “มันเป็นสัตว์ที่หล่อเหลาทีเดียว”” ซี ก่วงจาง นักบรรพชีวินวิทยา ชาวจีน แห่งมหาวิทยาลัยอวิ๋นหนัน (ยูนนาน) ในนครคุนหมิง
ชื่อของมัน มีความหมายว่า “สัตว์ประหลาดคอล์ลินส์ขนดก” ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตามลักษณะที่แปลกประหลาด และลำตัวเต็มไปด้วยขนของมัน ขณะเดียวกันก็เป็นเกียรติแก่นักบรรพชีวินวิทยาชาวแคนาดา นาย Desmond Collins ผู้แสดงจินตนาการและให้นิยามเกี่ยวกับสัตว์ที่คล้ายคลึงกันนี้เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว
Ortega-Hernández กล่าวว่า คอล์ลินเซียม มีชีวิตในช่วง 515-518 ล้านปีที่แล้ว เป็นโครตเหง้าบรรพบุรุษของพวกหนอนกำมะหยี่ (velvet worms) ที่มีขายุ่บยั่บ อาศัยอยู่ในป่าเขตร้อน
คอล์ลินเซียม มีลำตัวยาวถึง 4 นิ้ว มีเดือยแหลม 72 อัน เรียงอยู่บนหลัง เป็นอาวุธพิฆาตศัตรูนักล่า นับเป็นหนึ่งในกลุ่มสัตว์ลำตัวอ่อนนิ่มที่มีเกราะป้องกันตัว ลำตัวของมันคล้ายไส้กรอก ขาหน้าคล้ายขนนก 6 คู่ ขาหลัง 9 คู่ แถมมีอุ้งเล็บแหลมอีกต่างหาก หัวเป็นกระเปาะกลม และปากยื่นลงไปข้างหน้า กินอาหารโดยขยายแผงขาหน้าเป็นรูปตะกร้าดูดจับอาหาร
คอล์ลินเซียม เป็นญาติใกล้ชิดกับสัตว์ยุคแคมเบรียนที่มีเดือยแหลม ที่เรียกว่า ฮัลลูซิจีเนีย (Hallucigenia) หนอนทะเลที่มีเดือยแหลมเจ็ดคู่ไว้ป้องกันตัวจากนักล่า