รอยเตอร์ส รวบรวมภาพบ้านตะปู ทั่วแผ่นดินจีน ซึ่งอยู่ท่ามกลางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในพื้นที่ และหยัดยืนเพื่อค่าชดเชยที่เป็นธรรม อาศัยคำพิพากษาของศาลอันเป็นที่สุด แม้ว่าจะระหว่างนั้นต้องอยู่โดยไม่มีน้ำและไฟฟ้านานเป็นแรมปี
สื่อต่างประเทศรายงาน (22 พ.ค.) ว่า ปรากฏการณ์ "บ้านตอกตะปู" เป็นนิยามของบ้านที่เจ้าของไม่ยอมรับเงื่อนไขเงินชดเชยการเวนคืนที่ดินซึ่งรัฐบาลหรือนายทุนนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เสนอให้ จึงยืนหยัดเด็ดเดี่ยวและโดดเดี่ยวว่าจะอยู่ที่เดิมไม่ย้ายไปไหน จนกว่าจะได้รับค่าชดเชยในอัตราที่เป็นธรรม
ปรากฏการณ์ “บ้านตะปู” (ติงจื่อฮู่-钉子户) นับเป็นปัญหาร่วมสมัยของจีนปัญหาหนึ่ง สืบเนื่องจากยุคพัฒนาสังคมเมืองอย่างชนิดพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินของจีน จึงมีการผุดโครงการก่อสสร้าง ทั้งโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภค โครงการที่อยู่อาศัย โครงการศูนย์การค้าอาคารพาณิชย์ ฯลฯ พร้อมๆ กันนี้ก็เกิดความขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ถูกสั่งโยกย้ายออกจากบ้านในช่วงหลายปีมานี้
ทั้งนี้ เจ้าของบ้านตะปู ต่างต้องต่อสู้คดีในชั้นศาลเป็นเวลาหลายปีขณะที่โครงการก่อสร้างก็ดำเนินไปรอบข้างอย่างรวดเร็วไม่หยุดรอ มีบางคนชนะคดี แต่ส่วนใหญ่จะแพ้ ขณะที่บ้านหลายหลังก็ถูกระบุว่าเป็นบ้านเถื่อน เพราะไม่มีทะเบียนบ้านหรือเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมาย โดยภาพบ้านเล็กกลางโครงการก่อสร้างใหม่ซึ่งปรากฏตามสื่อฯ ต่างๆ นั้น เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างติดขัดไม่สามารถสร้างให้เสร็จสมบูรณ์ได้ อาทิ มหานครอย่างเซี่ยงไฮ้ ปรากฎว่ามีกรณีโครงการซ่อมแซมขยายถนนยาวเพียง 3 กิโลเมตร ที่ใช้เวลาก่อสร้างกว่า 3 ปี ก็ยังไม่อาจแล้วเสร็จ เหตุเพราะต้องรอผลการตัดสินกรณี “บ้านตะปู” ให้ถึงที่สุดก่อน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคำตัดสินอันเป็นที่สิ้นสุดจะเป็นอย่างไร เจ้าของบ้านบางคนชนะ แต่หลายคนก็แพ้ เหลือไว้เพียงภาพของบ้านเล็กๆ เหล่านี้ ที่กลายเป็นเสมือนสัญลักษณ์วัฒนธรรมร่วมสมัยคู่กับการเติบโตและพัฒนาเมืองในประเทศจีนไปแล้ว