xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมก้าวสู่ความฝันจีน ด้วย "นโยบายสี่ถ้วนทั่ว" ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล


ประเด็นข่าวจีนที่เด่นๆ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัปดาห์แรกของปีใหม่จีนนี้ เปิดมาด้วยการแถลงทฤษฎีการบริหารของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ว่าด้วยความฝันจีนใหม่ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 26 ก.พ. ไล่เรี่ยกันกับข่าวกองทัพปลดแอกประชาชนจีน หรือพีแอลเอ ประกาศดำเนินการไต่สวนกรณีอื้อฉาวของผู้นำทหารระดับสูง 14 นาย และที่สั่นสะเทือนปฐพีคือ การไต่สวน กัว เจิ้งกัง บุตรชายของ กัว ปั๋วสยง อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการทหารแห่งชาติ (Central Military Commission /CMC) ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ด้วยอาจเป็นสัญญาณการเผด็จศึกรวบ “ขุนศึกระดับพยัคฆ์” ในก้าวต่อไป

เมื่อวันที่ 26 ก.พ. พีเพิลเดลี่ และสื่อจีนต่างพากันประโคมรายงานข่าว หลักทฤษฎีการเมืองใหม่ “สี่ด้านถ้วนทั่ว” (Four comprehensive) ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้แก่ สร้างสังคมมีกินแบบพอเพียง, ลงลึกการปฏิรูป, ปกครองประเทศตามหลักนิติรัฐ และเข้มงวดวินัยพรรคฯ อันถือเป็นนโยบายที่มีนัยยะสำคัญทางการบริหารภายใต้การนำของสี จิ้นผิง เปรียบเทียบได้กับการประกาศทฤษฎีของผู้นำจีนในอดีต เฉกเช่น "สี่ทันสมัย" ของอดีตนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล, "ปฏิรูปและเปิดกว้าง" ของเติ้ง เสี่ยวผิง, "ทฤษฎี 3 ตัวแทน" ของอดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน และทัศนะว่าด้วย “พัฒนาทางวิทยาศาสตร์” ของอดีตประธานาธิบดีหู จิ่นเทา

สำหรับผู้จะสืบทอดอำนาจสูงสุดของจีนอย่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิงนั้น ในตอนแรกๆ ก็มีผู้สังเกตและตั้งคำถามว่า จะมีความโดดเด่นในการบริหารและเสนอตัวเองในจุดแห่งอำนาจสูงสุดนี้อย่างไร บ้างก็คิดว่า แค่รักษาสถานะและทำตามๆ กันไปกับธงหมุดหมายที่ผู้นำคนก่อนๆ วางทางไว้ให้ไปถึงความฝันจีนก็คงเสมอตัวแล้ว แต่มาถึงตอนนี้ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา (รับตำแหน่งวันที่ 15 พ.ย. 2555) หลายฝ่ายได้เห็นผลงานในการบริหารของสี จิ้นผิง ก็ต้องยอมรับว่า เขามีความโดดเด่นเป็นตัวของตัวเอง และถูกที่ถูกเวลาที่จะประกาศแนวทางของตนเพื่อก้าวสู่หลักชัยของการเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ได้

พีเพิลเดลี่ กล่าวว่า นโยบาย “สี่ด้านถ้วนทั่ว” ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ถือเป็นนโยบายที่มีนัยยะสำคัญทางการบริหารในปีนี้ โดยในส่วนของการสร้างสังคมมีกินอยู่เย็นเป็นสุขนั้น สี จิ้นผิงได้รื้อฟื้นค่านิยมขงจื่อ มาปรับใช้เช่นเดียวกับที่อดีตประธานาธิบดี หู จิ่นเทา เคยนำไว้ แต่สิ่งที่ยังไม่มีผู้นำจีนในอดีตทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแบบสี จิ้นผิง คือการล้างบางเครือข่ายเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ ที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งทำอย่างต่อเนื่องจริงจังนับแต่วันแรกที่สืบทอดอำนาจฯ

ล่าสุด หลังการประชุมข่าวแถลงการเปิดประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีนในวันจันทร์(2 มี.ค.) กองทัพปลดแอกประชาชนจีน หรือพีแอลเอ ในยุคของสี จิ้นผิง ยังได้ประกาศดำเนินการไต่สวนกรณีอื้อฉาวของผู้นำทหารระดับสูง 14 นาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กัว เจิ้งกัง บุตรชายของ กัว ปั๋วสยง อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการทหารแห่งชาติ (Central Military Commission /CMC) ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการที่มีใครคาดคิดมาก่อน อาจเป็นสัญญาณการเผด็จศึกรวบ “ขุนศึกระดับพยัคฆ์” ในก้าวต่อไป

พยัคฆ์ร้ายแห่งกองทัพจีน ที่ตกเป็นเป้าความสนใจในการไต่สวนอื้อฉาวครั้งนี้ คือ กัว เจิ้งกัง ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองนายใหญ่ของคณะกรรมการประสานงานการเมืองของหน่วยบัญชาการทหารประจำมณฑลเจ้อเจียง โดยกัวถูกไต่สวนในข้อกล่าวหา “กระทำการอันฝ่าฝืนกฎระเบียบวินัยอย่างร้ายแรง”

หลี่ ตันหยัง นักวิจัยรัฐประศาสนศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเป่ยไห่ ในปักกิ่ง กล่าวกับผู้สื่อข่าวสื่อจีน โกลบอล ไทม์ส (Global Times) ว่า การจับ กัว เจิ้งกัง เป็นการจับกุมที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เป็นการแหกแนวปฏิบัติก่อนหน้าในการปราบปรามคอรัปชั่น “โดยปกติแล้ว จะไม่มีการไต่สวนเจ้าหน้าที่ระดับสูงในช่วงเวลาไม่นานหลังจากที่เขาได้เลื่อนขั้น การจับกุมกัวเป็นการแหกกฎที่ไม่มีเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะทำให้กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มือไม่สะอาดทั้งหลาย หนาวๆ ร้อนๆ ไปตามๆ กัน เนื่องจากไม่รู้มือปราบคอรัปชั่นจะมาไม้ไหน”

สำหรับนโยบาย “สี่ด้านถ้วนทั่ว” ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิงนี้ สื่อกล่าวว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำจีนนำเสนอ เพราะสี จิ้นผิง เคยพูดถึงเรื่องนี้ก่อนแล้วเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ครั้งที่ตระเวนมณฑลเจียงซู เพียงแต่ว่ายังไม่มีการเผยแพร่ในวงกว้างอย่างเป็นทางการเช่นครั้งล่าสุดนี้ ซึ่งเป็นสัญญาณให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับในพรรคต้องสนใจศึกษา-ปฏิบัติตาม

นโยบาย “สี่ด้านถ้วนทั่ว” ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง อาจจะยังฟังดูกว้างคลุมเครือ แต่ก็มีความเข้าใจง่าย และชัดเจนว่ามีรากฐานมาจากบริบทสังคม สถานะทางเศรษฐกิจและการเมืองจีน เช่นเดียวกับทฤษฎีของผู้นำคนก่อนๆ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ในประวัติศาสตร์การใช้คำนิยามแนวการบริหารฯ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น คำว่า “ความคิด” เมื่อใช้ในลักษณะที่หมายถึงชื่อเฉพาะ จะมีความหมายในระดับรองๆ จาก “ลัทธิ” เลยทีเดียว ซึ่งมีเพียงประธานเหมาเจ๋อตงผู้ล่วงลับเท่านั้น ที่ความคิดปรัชญาต่างๆ ของเขาได้รับเกียรติให้ใช้คำอย่างเป็นทางการว่า “ความคิดเหมาเจ๋อตง” (Mao Zedong Thought) โดยเหมาเจ๋อตงเอง ก็น้อมตนไม่ต้องการเทียบตนเองกับครูแห่งสังคมนิยม อย่าง คาร์ล มาร์กซ์ และ วลาดิมีร์ เลนิน จึงเลี่ยงใช้คำว่าลัทธิ โดยขอใช้เพียงคำว่า “ความคิดเหมาเจ๋อตง” เท่านั้น

เติ้งเสี่ยวผิง เมื่อประกาศหลักคิดของเขา ก็ยังไม่ใช้คำว่า “ความคิด” มาเป็นชื่อนำข้อคิด โดยเลี่ยงใช้คำว่า "ทฤษฎี" แทน เพื่อเสนอแนวทางการบริหารต่างๆ ของตน ในธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์จีนฉบับปัจจุบัน จึงมีแต่การระบุว่า ลัทธิมาร์กซ์ - ลัทธิเลนิน, ความคิดเหมาเจ๋อตง, และทฤษฎีของเติ้งเสี่ยวผิง (ว่าด้วยการปฏิรูปและการเปิดกว้าง) เป็นอุดมการณ์หลักชี้นำพรรคและประเทศชาติ รองลงมาจึงเป็นแนวความคิด “สำคัญ” ว่าด้วย “ 3 ตัวแทน” ของเจียง เจ๋อหมิน และทัศนะว่าด้วย “การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์” ของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา

เหมาเจ๋อตงสอนไว้ว่า “ถ้าไม่มีทฤษฎีปฏิวัติ ก็ไม่มีการเคลื่อนไหวปฏิวัติใดๆ ทั้งสิ้น” ดังนั้น การสร้างทฤษฎีบริหารเฉพาะของตน คือคุณสมบัติที่บรรดาผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง การเปิดตัว “ทฤษฎีสี่ด้านถ้วนทั่ว" ของ สี จิ้นผิง” จึงเป็นสัญญาณแห่งการยกระดับฐานะทางประวัติศาสตร์ของสี จิ้นผิง ในจุดที่ใกล้เคียงทัดเทียมกับเหล่าผู้นำในอดีต

เวลานี้ยังไม่ชัดเจนว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะประยุกต์ทฤษฎีใหม่ของตนกับนโยบายทั่วไปอย่างไรในรายละเอียด แต่ที่แน่ๆ ว่า นับแต่นี้ไป ทฤษฎีนี้จะมีการแจกแจงอย่างชัดเจนจริงจัง มีการขยายผลทางปฏิบัติลงลึกยังเจ้าหน้าที่ทุกระดับในพรรคฯ ซึ่งควรค่าแก่การติดตามยิ่งนัก


กำลังโหลดความคิดเห็น