เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์- จีนเตรียมทุ่ม 360 ล้านหยวน สร้างศูนย์วัฒนธรรมจีน แผ่ขยาย “อำนาจละมุน” ทั่วโลก
กระทรวงวัฒนธรรมจีนเผย แผ่นดินใหญ่เตรียมทุ่มเงิน 360 ล้านหยวน (ราวๆ 1,800 ล้านบาท) สร้างศูนย์วัฒนธรรมในต่างแดน ท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลในการขยาย “อำนาจละมุน” ออกไปทั่วโลก
ที่ผ่านมา จีนสร้างศูนย์วัฒนธรรมในต่างแดนไปแล้วกว่า 20 แห่ง ส่วนใหญ่ศูนย์ดังกล่าวใช้เพื่อจัดนิทรรศการ รวมทั้งสอนวัฒนธรรมจีน อาทิ ดนตรี การเต้นรำ งานวิจิตรศิลป์ ภาษา ศิลปะป้องกันตัว และการทำอาหาร โดยในปีนี้ รัฐบาลจีนมีแผนเปิดศูนย์ดังกล่าวในอีก 2 ประเทศ ทั้งในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และสิงค์โปร กระทรวงวัฒนธรรมจีน เผย นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนสร้างศูนย์ดังกล่าวในเนปาล ปากีสถาน และแทนซาเนีย โดยจีนพยายามสร้างศูนย์วัฒนธรรมให้ครบ 50 แห่ง ทั่วโลก ภายในปี 2563
ด้านนายหยัน ตงเฉิง รองผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า นอกจากนี้ ทางกระทรวงฯ ยังดำเนินการสำรวจสถานที่ก่อสร้างศูนย์ฯ ทั้งในสวีเดน โรมาเนีย และฮังการีไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากไม่มีอะไรผิดพลาด ศูนย์ฯ ในประเทศเหล่านี้จะเปิดได้เร็วที่สุดภายในปีนี้ (2558)
จีนเริ่มสร้างศูนย์วัฒนธรรม 2 แห่งแรกขึ้นในสาธารณรัฐมอริเชียส และสาธารณรัฐเบนิน ซึ่งในทวีปแอฟริกาตะวันตก เมื่อปี 2531 และนับแต่นั้นมา จีนก็ทุ่มเม็ดเงินเพื่อสร้างศูนย์ฯ ดังกล่าวอีกมากกว่า 1,300 ล้านหยวน (ประมาณ 65,000 ล้านบาท) นายหยัน กล่าว
ด้านผู้สังเกตการณ์มองว่า การที่จีนเร่งสร้างศูนย์วัฒนธรรมจีนในต่างแดนเป็นเพราะสถาบันขงจื่อ (Confucius Institute) ที่มีอยู่ถึง 467 แห่งทั่วโลก เริ่มมีปัญหา เพราะหลายปีที่ผ่านมานี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งในยุโรปเหนือ และอเมริกาต่างพากันยุติความร่วมมือ เนื่องจากปัญหากีดกันเสรีภาพในทางวิชาการ การเฝ้าสังเกตการณ์พฤติกรรมนักศึกษาจีนในต่างแดน และการส่งเสริมจุดมุ่งหมายทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ของสถาบันดังกล่าว ดังนั้น หลายฝ่ายจึงมองว่า ศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่เร่งสร้างขึ้นนี้ก็คือ เครื่องมือในการแผ่ขยาย “อำนาจละมุน” ในรูปลักษณ์ใหม่ของจีนนั่นเอง
อย่างไรก็ดี นายเจียง เจิ้นเสี่ยว ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมจีนในมอรีเชียส กล่าวว่า องค์กรทั้งสองนี้ มีรูปแบบที่แตกต่างกัน แม้จะมีกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กรออกมาในรูปแบบคล้ายคลึงกัน สถาบันขงจื่อ เน้นที่ตัวนักเรียน นักศึกษา และการสอนภาษาจีน
“สถาบันขงจื่อต้องได้รับความร่วมมือจากทางโรงเรียน ซึ่งหากโรงเรียนไม่อนุมัติ ทางสถาบันฯ ก็ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ ดังนั้นข้อจำกัดของทางสถาบันฯ จึงมีมากกว่า” นายเจียง กล่าว “ส่วนศูนย์วัฒนธรรมฯ มีลักษณะองค์กรที่ใหญ่กว่า ต้องติดต่อกับสังคมทุกภาคส่วน และรายได้ทั้งหมดเป็นของจีน อีกทั้ง เรายังเปิดให้ใช้พื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมอื่นๆ และมีหลักสูตรที่กว้างกว่า”
ด้านนายจ้าน เจียง ศาสตราจารย์ด้านสื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัยการต่างประเทศศึกษา (Foreign Studies University) กล่าวว่า ลำพังแค่การเผยแพร่วัฒนธรรมไม่สามารถทำให้จีนมีอิทธิพลในระดับโลกได้ “จีนควรมุ่งเน้นที่การปกครองด้วยหลักนิติธรรมและการเปิดกว้าง”
“จีนยังคงกำลังคลำหาทางของตัวเองในการปกครองด้วยหลักนิติธรรม สิ่งสำคัญในการนี้อยู่ที่ การใช้การพัฒนาทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับมิติอื่นๆ”