เอเจนซี--ย้อนมองเมืองจีนเมื่อเพียง 20-30 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่ได้เข้าไปเยี่ยมเยือนแผ่นดินใหญ่ก็ได้เห็นประชาชนจีนตามถนนหนทาง ล้วนแต่งกายด้วยชุดเสื้อผ้าแบบเดียวกันหมด เป็นชุด “จงซัน” ไม่สีเทาก็สีกรมท่า ไม่เว้นแม้ผู้นำสูงสุด เจียง ไคเช็ค เหมา เจ๋อตง โจว เอินไหล เติอ้ง เสี่ยวผิง เป็นต้น ก็ปรากฏกายสู่สาธารณในชุดจงซันเช่นกัน ชาวตะวันตกจึงมักเรียกชุดเสื้อผ้านี้ เป็น”ชุดเหมา” ทั้งที่ชุดจงซันนี้ได้รับฉายาตามชื่อของผู้นำ ซุน จงซัน (หรือ ดร.ซุน ยัตเซน) ผู้รณรงค์ให้สวมชุดดังกล่าว
ต่อมา ผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง ได้ผลักดันนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจ เปิดประเทศ จากปี พ.ศ. 2521 พร้อมกับการพัฒนาความทันสมัย ผู้หญิงเริ่มสวมชุดเสื้อผ้าลวดลายดอกดวงตามแฟชั่น สวมเลคกิ้ง รองเท้าแบบสายรัด หน้าผมก็เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนที่มีเพียงทรงผมถักเปีย อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นๆยุคเปิดประเทศ แฟชั่นจีนยังพัฒนาไปอย่างช้าๆ
ยุคแฟชั่นบูม
มาถึงวันนี้ เวทีแฟชั่นโชว์ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดหน้าฝนทั่วประเทศจีน การแสดงแฟชั่นเวทีใหญ่ๆในกรุงปักกิ่ง และมหานครเซี่ยงไฮ้ ได้ดึงดูดเหล่ายักษ์แฟชั่นจากทั่วโลก ขนแบบชุดเสื้อผ้ามาประชันกันอย่างร้อนแรง
ซั่งไห่ แฟชั่น วีค ที่จัดโดยรัฐบาลท้องถิ่นปีละสองครั้ง ปิดม่านไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็ตามติดด้วย ไชน่า แฟชั่น วีค ซึ่งเปิดม่านในกรุงปักกิ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยประเดิมโชว์ผลงานดีไซเนอร์จีน จัง จื้อเฟิง ที่ได้นำแบบชุดโบราณยุคราชวงศ์หมิงมาผสมผสานกับแฟชั่นยุคสมัยใหม่ เวทีแสดงแบบตกแต่งด้วยภาพขนาดมหึมาของกษัตริย์ยุคปรัมปราจีน ราวกับจะสะท้อนสายธารอารยะธรรมที่มีประวัติศาสตร์นับพันๆปี
ปัจจุบันตลาดแฟชั่นจีนกำลังมาแรง บริษัทที่ปรึกษาการตลาดชั้นนำ McKinsey & Co. คาดการณ์ว่าจีนจะกลายเป็นตลาดแฟชั่นใหญ่ที่สุดภายในไม่กี่ปีนี้ โดยมูลค่าตลาดจะสูงถึง 27,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2558 คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของมูลค่าตลาดแฟชั่นโลก โดยตัวเลขดังกล่าวสูงขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2009 ที่มูลค่าตลาดแฟชั่นแดนมังกรอยู่ที่ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
Didier Grumback นายใหญ่สหพันธ์แฟชั่นแห่งฝรั่งเศส เห็นพ้องเช่นกันว่า จีนมีความต้องการด้านแฟชั่นเช่นเดียวกับกลุ่มประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายที่มองว่าภาพลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด
สื่อฉบับภาษาอังกฤษ ไชน่า เดลี่ กระบอกเสียงระดับอินเตอร์ของจีน ระบุว่าจีนต้องการสร้างผลิตภัณฑ์และแบรนด์ระดับโลก เช่นเดียวกับ แอปเปิล (Apple) และอิเกีย (Ikea) อีกทั้งสร้างชื่อเสียงในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและการออกแบบ
เมื่อคิดแล้วก็เดินหน้า ปักกิ่งเปิดเวทีการแสดงแฟชั่นชั้นนำ คือ China Fashion Week เมื่อปี 2540 โดยจัดแสดงฯปีละสองครั้งระหว่างเดือนมี.ค.และเดือนต.ค. ณ กรุงปักกิ่ง จนถึงวันนี้ ไชน่า แฟชั่น วีค เป็นที่รู้จักดีในระดับโลก ไม่เพียงในฐานะเวทีระดับท็อปในการแสดงผลงานออกแบบ เครื่องประดับตกแต่งกาย (accessories) การออกแบบสไตลิ่ง (styling) งานออกแบบอื่นๆ ไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกทั้งยังเป็นเวทีส่งเสริมเครื่องหมายการค้า หรือแบรนด์ การแสดงความคิดริมเริ่ม และบ่งบอกเทรนด์แฟชั่นแก่ชาวโลก
ไชน่า แฟชั่น วีค เป็นเวทีแสดงแฟชั่นใหญ่ มีกลุ่มผู้เล่นในวงการเข้าร่วม ได้แก่ นักออกแบบกว่า 320 ราย แบรนด์แฟชั่น กว่า 350 แบรนด์ และการแสดงแฟชั่นกว่า 768 ชุด สื่อนับร้อยๆรายจากทั่วโลกแห่กันมาเกาะขอบเวทีฯ
ปัจจุบันการแสดงแฟชั่นในจีน ได้พิสูจน์แก่ชาวโลกแล้ว ถึงความพร้อมในอุตสาหกรรมแฟชั่น และเป็นเป้าหลอมของนวัตกรรมของเทรนด์ที่สดใหม่
ในเดือนมี.ค.2553 ทางเซี่ยงไฮ้ก็จัดตั้ง MODE Shanghai เป็นเวทีแสดงแฟชั่นเชิงพาณิชย์ระหว่างประเทศชั้นนำ มีเป้าหมายเสนอสินค้าให้กับกลุ่มห้างสรรพสินค้าโลกที่ต้องการเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกแฟชั่นเอเชีย และเป็นเวทีธุรกิจสำหรับกลุ่มค้าปลีกและเหล่านักออกแบบ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางของธุรกิจแฟชั่นโลกในอนาคต
ผู้บริโภคชาวจีน
ในรายงานที่เผยแพร่ใน เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส ระบุว่ากลุ่มผู้บริโภคหญิงชาวจีนนั้นซื้อนิตยสารแฟชั่นมากกว่าหญิงตะวันตกเสียอีก ในรายงานชิ้นนี้ ได้อ้าง Duncan Edwards ประธานและหัวหน้าทีมผู้บริหาร Hearst Magazines International “พวกเรากำลังเข้าสู่ช่วงจังหวะที่ยอดเยี่ยมมาก โดยกลุ่มผู้หญิงจำนวนมากหลุดพ้นจากความยากจน กลายเป็นชนชั้นกลาง และยังมีกลุ่มที่ไปไกลกว่านั้น ผู้หญิงจำนวนมากได้เลือกใช้สินค้าหรูหรา
จากการที่ได้เห็นได้ดูสื่อตะวันตก ผู้บริโภคชาวจีนก็ตระหนักกันมากขึ้นถึงเทรนด์แฟชั่นโลก และจากการสำรวจในประเทศต่างๆทั่วโลกเมื่อปี 2554 จัดทำโดย Bain & Company ระบุแผ่นดินใหญ่ติดอันดับที่ 6 ในการซื้อสินค้าหรูหรา โดยในปี 2553 มูลค่าตลาดสินค้าหรูในจีน สูงถึง 17,700 ล้านเหรียญสหรัฐ และแบรนด์ยอดฮิตคือ หลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton), ชาเนล (Chanel) และกุชชี่ (Gucci)
นอกจากนี้ปัจจุบันชาวจีนยังเป็นนักช้อปสินค้าแบรนด์เนมราคาแพงรายใหญ่ของโลก โดยมีตัวเลขอ้างอิงระบุ ในปี 2556 ชาวจีนจับจ่ายสินค้าหรู คิดเป็นอัตราร้อยละ 47 ของสินค้าฟุ่มเฟือยทั่วโลก
นักออกแบบระดับอินเตอร์มุ่งสู่แผ่นดินใหญ่
อุตสาหกรรมแฟชั่นในจีนเบ่งบานจนดึงดูดกลุ่มนักออกแบบชั้นนำของโลก เมื่อเดวิด เบคแคมได้เป็นทูตโครงการพัฒนานักฟุตบอลระดับเยาวชนจีนและไชนีส ซูเปอร์ ลีก นาง วิตกเรีย เบคแคม ภรรยา ซึ่งเป็นดีไซนเนอร์และนางแบบ ก็ไม่พลาดจัดแฟชั่นโชว์ในจีนเข้าชิงเค้กในตลาดชาติอำนาจเศรษฐกิจอันดับสองของโลก นอกไปจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว(2556) Bertrand Stalla-Bourdillon หัวหน้ากลุ่มผู้บริหารของแฟชั่นหรูแห่งสหรัฐอเมริกา Marc Jacobs ก็ประกาศเป้าหมายไว้ว่าจีนจะกลายเป็นตลาดต่างแดนที่ใหญ่ที่สุดของแบรนด์ โดยอัดฉีดงบประมาณสำหรับทำตลาดในแผ่นดินใหญ่เพิ่ม 3 เท่า พร้อมกับวางแผนเปิดร้านสาขาในจีน เพิ่มอีกปีละ 5- 6 แห่งใน 2-3 ปีข้างหน้า และเปิดร้านสาขาใหม่อีก 3-5 แห่งในฮ่องกงในช่วง 5 ปีนี้ ทั้งนี้ จากข้อมูลปี 2556 Marc Jacobs มีร้านสาขาในแผ่นดินใหญ่ 25 แห่ง และ 13 แห่งในฮ่องกง
นอกจากนี้ แบรนด์แฟชั่นข้ามชาติ อย่างเช่น H&M, Zara, Topshop, และ Karen Millen ก็ลุยเปิดร้านในขณะที่ตลาดจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ตามสุภาษิต “น้ำขึ้นให้รีบตัก” .