xs
xsm
sm
md
lg

จีนคืออนาคตของฮ่องกง มิใช่ศัตรู ตอนที่ 2 จีน-ฮ่องกง เกลียวเชือกที่อาจหลุดออกจากกันฤา...(ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

จีนต้องหาหนทางที่มีประสิทธิภาพในการอธิบายแนวความคิดของพวกเขาอย่างชัดเจน มิใช่ในปักกิ่งแต่เป็นในฮ่องกง ในภาพ: ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กำลังเดินครุ่นคิดที่มหาศาลาประชาคมในกรุงบปักกิ่งวันวันฉลองวันชาติจีน ที่ 1 ต.ค. 2557 ภาพ รอยเตอร์ส)
สัมพันธภาพระหว่างจีนและฮ่องกงเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความวุ่นวายจากการประท้วงที่เกิดขึ้นบ่อยๆในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีสาเหตุพื้นฐานจากกระแสความไม่พอใจเรื่องการเคลื่อนย้ายประชากรในภาคส่วนต่างๆ ระหว่าง 20 ปีก่อนการส่งมอบอำนาจปกครองดินแดน ฮ่องกงได้เข้าสู่ยุคทอง ซึ่งมิใช่เพราะอังกฤษแต่เป็นเพราะจีนต่างหาก ในปี พ.ศ.2521 (1978) ผู้นำเสี่ยวผิงเริ่มเดินหน้าแผนปฏิรูป จากนั้นเศรษฐกิจจีนก็เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม จีนก็ยังคงเป็นสังคมปิด ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ฮ่องกงได้รับผลประโยชน์มหาศาลจากการเป็นประตูเข้าสู่จีน กลุ่มธนาคารและบริษัทข้ามชาติจำนวนมากหลั่งไหลมาเตรียมการ “ขุดทอง”ในตลาดจีนที่เกาะฮ่องกง ดังนั้น ฮ่องกงจึงมั่งคั่งขึ้นเพราะจีน ขณะเดียวกันก็บ่มเพาะความผยองและยะโสขึ้นจากทัศนคติที่ว่าตนเหนือกว่าคนจีน มีมาตรฐานชีวิตสูงกว่าจีนแผ่นดินใหญ่ ดูถูกชาวจีนว่ายากจน ปิดหูปิดตา และเป็นชาวนาที่ไร้หยาบกระด้าง ชาวฮ่องกงเทียบชั้นตัวเองกับตะวันตกมากกว่าชาวแผ่นดินใหญ่ มิใช่เพราะประชาธิปไตย (เพราะอังกฤษก็ไม่เคยให้ประชาธิปไตยแก่ฮ่องกง) แต่เพราะเงินและสถานภาพ

จากปี พ.ศ. 2540 (1997) สถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เศรษฐกิจขยายตัวหลายเท่าตัว มาตรฐานชีวิตชาวจีนก็พลอยยกระดับสูงขึ้น หากคุณต้องการเข้าสู่ตลาดจีนในวันนี้ ก็ไม่ต้องเดินทางผ่านฮ่องกงอีกแล้ว สามารถบินตรงไปยังนครปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ก่วงโจว เฉิงตู และหัวเมืองใหญ่อื่นมากมาย
ก่อนหน้านี้จีนอาจจำเป็นต้องมีฮ่องกง แต่ขณะนี้มิใช่เช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว ในทางตรงข้าม หากไม่มีจีน ฮ่องกงก็จะประสบปัญหาแน่ ในภาพ: นักร้องกำลังร้องเพลงหน้าธงชาติจีนและธงประจำดินแดนฮ่องกงระหว่างพิธีฉลองวันชาติจีน วันที่ 1 ต.ค.2557 (ภาพ รอยเตอร์ส)
ฮ่องกงได้สูญเสียบทบาทในการเป็นปากประตูเข้าสู่จีนแล้ว ก่อนหน้าฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการเงินที่มิอาจมีใครเทียมทานได้ของจีน แต่ในขณะนี้เซี่ยงไฮ้กำลังหั่นบทบาทฯนี้ของฮ่องกง ปัจจุบันฮ่องกงไม่ได้เป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของจีนอีกต่อไป เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น ได้ทะยานขึ้นมาแทนที่อย่างทิ้งห่างไปแล้ว ขณะที่ก่วงโจวก็กำลังไล่กวดและอาจแซงหน้าฮ่องกงในไม่ช้านี้

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มายังฮ่องกงมีชาวตะวันตกอยู่หนาตา ขณะนี้ชาวแผ่นดินใหญ่ได้กลายมาเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่สุดของฮ่องกงแล้ว ขณะเดียวกัน ชาวแผ่นดินใหญ่ก็แห่แหนมายังฮ่องกง จนกลายเป็นชนวนสร้างความไม่พอใจแก่คนท้องถิ่น ก่อนหน้านี้จีนอาจจำเป็นต้องมีฮ่องกง แต่ขณะนี้มิใช่เช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว ในทางตรงข้าม หากไม่มีจีน ฮ่องกงก็จะประสบปัญหาแน่ ชาวจีนฮ่องกงหลายคนพยายามที่จะยอมรับความเป็นจริงเหล่านี้ เนื่องจากพวกเขาเคยประสบวิกฤตอัตลักษณ์ และรู้ว่าอนาคตของพวกเขาผูกติดกับจีนอย่างมิอาจเป็นอื่นไปได้

ประเด็นปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ถูกนำเข้ามาปนเปอย่างสับสนและซับซ้อนที่สุดในข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ชาวฮ่องกงแตกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ เกือบครึ่งสนับสนุนข้อเสนอของจีนว่าด้วยสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ด้วยความคิดว่ามันเป็นขั้นตอนที่จะเดินไปสู่ประชาธิปไตยหรือไม่ก็ด้วยทัศนะยึดถือแนวทางที่ปฏิบัติได้จริง นั่นคือไม่ว่าอย่างไรก็ตามมันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น

ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของประชากรบนเกาะฮ่องกงต่อต้านข้อเสนอของจีน และในกลุ่มนี้ยังมีสมาชิกจำนวนน้อยนิดที่ไม่เคยยอมรับอธิปไตยของจีนเลย แอนซัน ชาน อดีตหัวหน้าสำนักงานรับผิดชอบดูแลด้านพลเรือน (civil service) ภายใต้รัฐบาลคริสต์ แพตเทิร์น และจิมมี่ ไหล นักธุรกิจคนดัง จัดอยู่ในกลุ่มปฏิเสธอธิปไตยจีนอย่างสิ้นเชิง ส่วนสมาชิกคนอื่นๆของกลุ่มต่อต้านข้อเสนอจีน ซึ่งมีจำนวนมากกว่า ได้แก่ กลุ่มนักศึกษา ซึ่งต่อต้านปักกิ่งด้วยเหตุผลเชิงอุดมคติ
เสียงกู่ร้องประชาธิปไตย...หญิงฮ่องกงกำลังอ่านโน้ตของกลุ่มเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตยที่ติดไว้ที่กำแพงบริเวณสำนักงานใหญ่รัฐบาลฮ่องกงเมื่อวันที่ 2 ต.ค.2557 (ภาพ รอยเตอร์ส)
แนวโน้มความเป็นไปได้ของการเผชิญหน้าครั้งนี้ แนวโน้มหนึ่งซึ่งดูไม่น่าได้รับการต้อนรับเลยคือ จีนจะไม่ยอมรับการเลือกตั้งหัวหน้าคณะผู้บริหารที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อจีน และหากความวุ่นวายยังดำเนินต่อไป สิ่งที่พอจะมองเห็นคือสถานภาพเดิมจะดำรงอยู่ต่อไปไม่จบสิ้น จากมุมมองการเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตย ทั้งจีนและฮ่องกงต่างก็จะตกอยู่ในภาวะถอยหลังเข้าคลอง และอีกแนวโน้มที่น่าเป็นไปได้คือรัฐบาลจีนจะยิ่งรุกข้อเสนอของตนโดยอาจมีการยอมอ่อนข้อเล็กน้อย ขณะเดียวกันก็คาดหวังว่ากลุ่มต่อต้านจะค่อยๆอ่อนแรงและสลายตัวไป นี่คือแนวโน้มที่น่าจะเป็นไปได้

เหตุการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นในฮ่องกงยังได้เผยให้เห็นถึงจุดอ่อนของการปกครองจีน ซึ่งมีสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดคือการขาดการเข้าร่วมทางการเมืองจากแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากทางจีนยืนยันในสิ่งที่อาจเรียกหรืออธิบายได้ดีที่สุด นั่นคือแนวทางหรือท่าทีไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง (hands-off approach) และความสัมพันธ์กับคณะผู้บริหารฮ่องกงก็เป็นไปแบบโดยอ้อมหรือไม่ก็หลังฉาก จีนต้องหาหนทางที่มีประสิทธิภาพในการอธิบายแนวความคิดของพวกเขาอย่างชัดเจน มิใช่ในปักกิ่งแต่เป็นในฮ่องกง.

*หมายเหตุ เฉพาะตอนที่สองนี้ แปลเรียบเรียงจาก China is Hong Kong’s future - not its enemy เผยแพร่ใน The Guardian เขียนโดย Martin Jacques ผู้เขียน When China Rules the World: The End of the Western World and the Birth of a New Global Order
ขอนำเสนอคลิปให้ชมกันเพื่อโปรดใคร่ครวญสัญญาสัมพันธ์จีน-ฮ่่องกง คลิป: พิธีส่งมอบอำนาจปกครองฮ่องกง คืนสู่จีน ปี 1997

ไฮไลท์ : (ที่ดูธรรมดา แต่ทรงความหมายมาก)

03.47 น. เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ทรงแถลงอำลา ในนามพระราชินี อลิซซาเบธ
07.05 น. "God Save the Queen" บรรเลงในฮ่องกงครั้งสุดท้าย ขณะที่ธงอังกฤษและธงอาณานิคมฮ่องกง ค่อยลดลงจากยอดเสา
07.56น. ธงชาติจีนและธงประจำดินแดนฮ่องกงใหม่ ค่อยขึ้นสู่ยอดเสา ท่ามกลางเสียงพลง "March of the Volunteers"
10.34น. ประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิน แถลงรับมอบอำนาจฯ





กำลังโหลดความคิดเห็น