เอเจนซี - รูปแกะสลักเจ้าแม่กวนอิมสมัยราชวงศ์ถังของจีนหวนคืนสู่ดินแดนบ้านเกิด หลังผู้ถือครองชาวไทยตัดสินใจส่งมอบให้เจ้าของที่แท้จริง
สำนักข่าวซินหวาอ้างนายเฉิน ฉวนโจว หัวหน้าสมาคมสื่อสารวัฒนธรรม มณฑลเหอเป่ย รายงาน (25 ก.ย.) นักสะสมวัตถุโบราณชาวไทยได้มอบรูปแกะสลักพระโพธิสัตว์กวนอิม จำนวน 5 ชิ้น ที่ถูกเคลื่อนย้ายออกจากประเทศจีน สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง กลับคืนสู่แผ่นดินต้นกำเนิดในวันพุธ (24 ก.ย.) ที่ผ่านมา
“ไม้แกะสลักรูปกวนอิมเป็นหนึ่งในของสะสมของคุณพิศาล เตชะวิภาค (ต้อย เมืองนนท์) อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย” เฉินกล่าว
ผลงานไม้แกะสลักพระโพธิสัตว์กวนอิมชุดนี้ ครั้งหนึ่งเคยตั้งอยู่ในวัดจีนให้ประชาชนสักการะ แต่ความโกลาหลวุ่นวายของสงครามในทศวรรษ 1940 เป็นเหตุให้ต้องระเห็จเร่ร่อนลงไปทางใต้ โดยบิดาของคุณพิศาลเป็นผู้ซื้อและครอบครองต่อจากรุ่นสู่รุ่น
รูปแกะสลักพระแม่กวนอิมมีลักษณะการวางท่าทางที่แตกต่างกัน อาทิ ปางขี่มังกร ปางเทศนา และปางอุ้มเด็กทารก โดยสันนิษฐานว่า ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นต่างยุคต่างสมัย ไล่เรียงจากราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) ซ่ง (ค.ศ.960-1276) และชิง (ค.ศ.1644-1912) อันเป็นราชวงศ์ลำดับสุดท้ายของแดนมังกร
“รูปแกะสลักนี้ทำจากส่วนลำต้นของต้นการบูร ด้วยขนาดความสูงที่สุดมากกว่า 2 เมตร” หวง ซิ่งกัว ผู้เชี่ยวชาญงานแกะสลักชาวจีนกล่าว “น่าประหลาดใจมากว่าผลงานสมัยโบราณขนาดใหญ่แบบนี้ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ดี”
ทั้งนี้ นาย ภัณฑิล จงจิตรตระกูล ประธานสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งทำงานส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนอกภาครัฐระหว่างสองประเทศ เผยว่า “คุณพิศาลตระหนักถึงความสำคัญของรูปแกะสลักที่มีต่อประชาชนชาวจีน จึงตัดสินใจส่งคืนเจ้าของที่แท้จริง” โดยขณะนี้รูปแกะสลักสามชิ้นถูกนำไปตั้งอยู่ในวัดจี๋เล่อในเมืองสือจยาจวง เมืองเอกของเหอเป่ยแล้ว