รอยเตอร์ส/เอเจนซี—จีนปฏิเสธเปิดทางปฏิรูปประชาธิปไตยเต็มใบแก่ฮ่องกง กลุ่มหนุนประชาธิปไตยฮือชุมนุมประท้วง เดินหน้า “อารยะขัดขืน” ไล่ปี้ผู้แทนจากปักกิ่ง จนตำรวจฉีด “ปืนพริกไทย” สลายกลุ่มประท้วง
สืบเนื่องจากเมื่อวานนี้(31 ส.ค.) คณะกรรมการประจำสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งจีน (เอ็นพีซี) ลงคะแนนเสียงรับรองกรอบงานอนุญาตให้ผู้สมัครรับการเลือกตั้งเพียง 2 หรือ 3 คน ลงสนามท้าชิงเก้าอี้ผู้นำสูงสุดของฮ่องกง คือตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษแห่งฮ่องกงในปี 2560 โดยที่ผู้สมัครรับการเลือกตั้งทั้งหมดจะต้องได้รับเสียงรับรองจากคณะกรรมาธิการเสนอชื่อผู้สมัครรับการเลือกตั้งฯ
การลงคะแนนเสียงของคณะกรรมาธิการประจำเอ็นพีซีนี้ เป็นการคว่ำข้อเรียกร้องของกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตย ที่กำลังขอสิทธิการเลือกตั้งสากลในการเลือกตั้งผู้นำสูงสุดดินแดนคนต่อไป โดยประชาชนเป็นผู้เสนอชื่อกลุ่มผู้ลงสมัครรับการเลือกตั้ง ซึ่งที่ผ่านมาผู้สมัครรับการเลือกตั้งมาจากคณะกรรมการฯที่สนับสนุนปักกิ่ง
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการประจำเอ็นพีซี เป็นองค์กรกุมอำนาจสูงสุดของเอ็นพีซี หรือรัฐสภาของจีน ที่มักถูกมองเป็นสภาตรายาง
วันเดียวกัน กลุ่มรณรงค์ปฏิรูปประชาธิปไตย ก็ระดมพลออกมาชุมนุมกลางท้องถนนอีก ประกาศเริ่ม “ยุคแห่งอารยะขัดขืน” นั่งประท้วงอย่างสันติบริเวณศูนย์กลางการเงิน โต้ตอบผู้นำจีนที่ตัดสินให้สิทธิการเลือกตั้งสากลเพียงครึ่งใบ
กลุ่ม “อ็อกคิวพาย เซ็นทรัล” (Occupy Central) หัวหอกกลุ่มรณรงค์ปฏิรูปประชาธิปไตยแบบเต็มใบในฮ่องกง ประกาศปิดศูนย์กลางการเงินโดยไม่ระบุวันเวลา หากผู้นำจีนยังดันทุรังขัดขวางการปฏิรูปประชาธิปไตยเต็มใบแก่ฮ่องกง
เมื่อเช้านี้(1 ก.ย.) คณะกรรมาธิการประจำเอ็นพีซี ได้ส่งผู้แทนคือ นาย หลี่ เฟย รองเลขาธิการคณะกรรมาธิการฯ มายังฮ่องกง เพื่อแถลงอธิบายการตัดสินใจของผู้นำจีน
“อ็อกคิวพาย เซ็นทรัล เป็นกลุ่มผิดกฎหมาย หากเรายอม กลุ่มผิดกฎหมายก็จะยิ่งเหิมเกริม” หลี่ เฟย กล่าว และว่า หากวุฒิสมาชิกฮ่องกงลงคะแนนเสียงไม่รับข้อเสนอของเอ็นพีซี การปกครองฮ่องกงก็จะเป็นไปอย่างลำบากยิ่งขึ้น และคณะกรรมาธิการชุดเล็กก็จะเป็นผู้ตัดสินผู้นำฮ่องกงคนต่อไป โดยจะไม่เปิดให้มีการลงคะแนนเสียงจากประชาชน
“ผู้ใดก็ตามที่ไม่รักประเทศชาติ ไม่รักฮ่องกง หรือท้าทายรัฐบาลกลาง ก็ไม่อาจมาเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารฯ” หลี่แถลง
กลุ่มรณรงค์ประชาธิปไตย ราว 100 คน ได้เข้ามาฟังการอธิบายของนายหลี่ บ้างโบกธงชาติจ้าวอาณานิคมอังกฤษ ชูป้ายที่เขียน “X” บนตัวอักษร “คอมมิวนิสต์” อีกด้านก็มีกลุ่มสนับสนุนปักกิ่งโบกธงชาติจีม ท่ามกลางกลุ่มตำรวจคอยคุมเชิงอยู่
กลุ่มเคลื่อนไหวประชาธิปไตยได้ซักถามไล่เบี้ย บ้างตระโกนคำขวัญ ชูป้ายข้อความ “น่าละอายเหลือเกิน” พร้อมกล่าวว่าปักกิ่งไม่เหลือความน่าเชื่อถือใดๆแล้ว จนการแถลงข่าวของนายหลี่ หยุดชะงัก และตำรวจก็เข้ามาฉีดสเปรย์พริกไทยไล่กลุ่มประท้วงไป
อเล็กซ์ โจว หัวหน้าสหพันธ์นักศึกษาแห่งฮ่องกง ซึ่งโดนตำรวจพาตัวออกจากห้องประชุมฯ “ฮ่องกงเป็นถิ่นที่ของเรา เอ็นพีซีไม่ใช่ตัวแทนของเรา หยุดดูหมิ่นพวกเราได้แล้ว ชาวฮ่องกงจะไม่ยอมให้พวกคุณเหยียบย่ำอีก”
กลุ่มนักศึกษายังบอกว่าพวกเขาจะบอยค็อต หยุดการเรียนการสอนในกลางเดือนก.ย.นี้
อดีตผู้นำหน่วยความมั่นคงฮ่องกง เรติน่า ยิป (Regina Ip) ชี้ระหว่าง 6 เดือน ก่อนที่รัฐสภาฮ่องกงจะลงคะแนนเสียงรับรองข้อเสนอของเอ็นพีซี คงจะความวุ่นวาย
“ยังคุยกันได้อีก”
แต่ นาย เหลียง เจิ้นอิง หัวหน้าคณะผู้บริหารฯฮ่องกง พยายามปรับมุมแสดงด้านดีของเอ็นพีซี โดยกล่าวว่ายังมีพื้นที่การถกเถียงเรื่องนี้ในรัฐสภาฮ่องกง
ทั้งนี้ ฮ่องกงได้กลับคืนสู่การปกครองจีนในปี 2540 โดยจีนและอังกฤษบรรลุข้อตกลงรูปการปกครองฮ่องกง “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่ให้มีอำนาจการปกครองตัวเองอย่างกว้างขวาง
กลุ่มรณรงค์ประชาธิปไตยกำลังเรียกร้องการเลือกตั้งสากลในการเลือกหัวหน้าคณะบริหารพิเศษแห่งฮ่องกง แต่ทางการปักกิ่งยังยืนยันว่า ผู้สมัครรับการเลือกตั้งพ่อเมืองดินแดน จะต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมาธิการเสนอชื่อผู้สมัครรับการเลือกตั้ง ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ภักดีกับปักกิ่ง
หลังจากที่ผู้นำจีนออกสมุดปกขาวในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา แจกแจงอำนาจเด็ดขาดเหนือฮ่องกง กลุ่มรณรงค์ประชาธิปไตยก็วิ่งสู้ฟัดอย่างหนัก จัดการลงประชามติอย่างไม่เป็นทางการ ให้สิทธิเลือกตั้งแก่ประชาชน “ในเขตบริหารพิเศษ” ขณะเดียวกัน คลื่นประชาชนนับหมื่นๆก็หลั่งไหลมาชุมนุมในใจกลางธุรกิจและนั่งประท้วงอย่างสันติ
รองนายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ Nick Clegg กล่าวในเดือนก.ค.ว่า “อังกฤษจะไม่นิ่งนอนใจในการปกป้อง “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ทั้งนี้ผู้นำแดนผู้ดีไม่เคยออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยฮ่องกง จนกระทั่งวันสุดท้ายของการกุมอำนาจปกครองอาณานิคมฮ่องกง ที่อังกฤษถือครอง รวมเวลาทั้งสิ้น 150 ปี.
ไต้หวันขอแสดงความเสียใจด้วย
ความตึงเครียดระหว่างจีนและฮ่องกงมักมาจากความขัดแย้งการปฏิรูปการเมือง โดยผู้นำจีนกลัวว่าเสียงเรียกร้องประชาธิปไตยจะแพร่ระบาดไปยังเมืองอื่นๆ
สภากิจการแผ่นดินใหญ่ในไต้หวัน ที่จีนนับเป็นมณฑลหนึ่งนั้น ได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจของเอ็นพีซี ขณะที่กลุ่มอื่นๆก็โพสต์ข้อความบนอินเทอร์เน็ต สนับสนุนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ทั้งนี้ ผู้นำจีนประกาศสูตรการปกครองไต้หวัน “หนึ่งประเทศ สองระบบ” เช่นกัน แต่ทางไต้หวันได้หัวเราะเยาะแนวคิดฯนี้
ภาพบรรยากาศ กลุ่มรณรงค์ปฏิรูปประชาธิปไตยแบบเต็มใบในฮ่องกง ระดมพลออกมาชุมนุม ประกาศ เริ่ม “อารยะขัดขืน” บริเวณศูนย์กลางธุรกิจฮ่องกง วันที่ 31 ส.ค.2557 (ภาพ เอเอฟพี/รอยเตอร์ส)