xs
xsm
sm
md
lg

นักข่าวหัวเห็ดและวีรบุรุษผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมจีน ได้รับรางวัลแมกไซไซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หู ซูลี่ สมัยเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารไฉจิง สื่อชั้นนำผู้กล้าเสนอข่าวเจาะลึก ทั้งยังเป็นหน้าต่างสำหรับต่างชาติ ได้มองการเปลี่ยนในสังคมเศรษฐกิจจีน (ภาพ เอเจนซี)
ASTVผู้จัดการออนไลน์/เอเจนซี--สองนักสู้ชาวจีนคว้ารางวัลแมกไซไซ ได้แก่ นาย หวัง ชั่นฟา นักกฎหมายนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และนางหู ซูลี่ นักข่าวหัวเห็ดมือฉมังในการทำข่าวไต่สวนสืบสวนเพื่อเปิดโปงคอรัปชั่นในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ

นางหู ซูลี่ ได้รับการยกย่องเป็นบรรณาธิการใหญ่แห่ง ไฉซิน มีเดีย กรุ๊ป (Caixin Media group) กลุ่มสื่อชั้นนำในจีน ที่ยืดหยัดนำเสนอข่าวเปิดโปงคอรัปชั่นในหน่วยงานรัฐและกรณีฉ้อฉลในกลุ่มบรรษัท รวมทั้งประเด็นสังคม อย่างขบวนการขายเด็กเพื่อไปเป็นบุตรบุญธรรมในมณฑลหูหนัน

นาง หู เป็นนักหนังสือพิมพ์นักต่อสู้ผู้ยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ ได้แก่ การเปิดเผยความจริงสู่สาธารณะ ซึ่งกลับกลายเป็นเรื่องท้าทายรัฐบาลที่คุมเข้มสื่อมวลชน เคยเป็น “ขุนพล” ในฐานะบรรณาธิการใหญ่ของนิตยสารชั้นนำจีน “ไฉจิง” (Caijing) ซึ่งเป็นสื่อธงนำของ SEEC กระทั่งเกิดเหตุขัดแย้งเมื่อปลายปี 2552 ที่ผู้บริหารไฉจิงและเจ้าหน้าที่พนักงานร่วม 100 คน ได้ตบเท้าลาออก โดยไม่กี่วันต่อมา นาง หู ซูลี่ ก็ลาออกด้วยเช่นกัน จากนั้นมานิตยสารไฉจิง ก็พลิกโฉมใหม่ เป็น “ไฉซิน”

ในยุคของ “ไฉจิง” ได้รับการยกย่องเป็นนิตยสารชั้นนำผู้กล้านำเสนอข่าวขุดคุ้ยเพื่อตีแผ่ความจริง ด้วยปณิธานพัฒนาสื่ออิสระ เสนอข่าวซีฟเจาะลึก จนกลายเป็นสื่อแบบอย่างในประเทศ และยังกล้าชนในการนำเสนอข้อมูลที่สื่อทั่วไปไม่กล้าแตะ
หวัง ชั่นฟา นักกฎหมายและนักรณรรงค์สิ่งแวดล้อม ผู้ก่อตั้งศูนย์ความช่วยเหลือแก่เหยื่อมลพิษ (Centre for Legal Assistance to Pollution Victims) (ภาพ เอเจนซี)
ชาวจีนอีกคนที่ได้รับรางวัลแมกไซไซประจำปีนี้ คือ นาย หวัง ชั่นฟา เป็นผู้ก่อสร้างศูนย์ความช่วยเหลือแก่เหยื่อมลพิษ (Centre for Legal Assistance to Pollution Victims) ซี่งจัดการฝึกอบรมด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม และให้คำปรึกษาฟรีแก่ประชาชน

นาย หวัง ฉั่นฟา ยังได้รับการยกย่องเป็น “วีรบุรุษผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม” จากนิตยสารไทม์ส (Time Magazine) ฉบับพิเศษเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2007

ในรายงานข่าวการมอบรางวัลฯระบุว่า การมอบรางวัลฯนี้สะท้อนถึงความคาดหวังอย่างสูงของประชาคมโลก ต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจีนที่สั่งสมมากกว่า 30 ปี แม้รัฐบาลออกมาตรการกฎหมายหลายฉบับ แต่จีนก็ยังมีปัญหามากในการบรรลุมาตรการ

สำหรับผู้ชนะรางวัลอื่นๆ ได้แก่ นักมานุษยวิทยาชาวอินโดนีเซีย นาย Saur Marlina Manurung ผู้สร้าง “โรงเรียนชาวดง” สำหรับเด็กๆที่อาศัยในป่าดงพงพี ครูชาวฟิลิปปินส์ นาย Randy Halasan ผู้ได้รับการยกย่องในการอนุรักษ์ชนเผ่า Matigsalug

ทั้งนี้มูลนิธิรางวัลรามอน แมกไซไซแห่งฟิลิปปินส์นี้ ได้ประกาศรายชื่อผู้ชนะรางวัลแมกไซไซประจำปี 2014 ไปเมื่อวันพฤหัสฯ(31 ก.ค.)

รางวัลแมกไซไซ มักถูกมองเป็นรางวัลโนเบลแห่งเอเชีย ก่อตั้งเมื่อปี 1957 โดยคณะกรรมการของกองทุนร็อกกี้เฟลเลอร์ บราเธอร์ส (Rockefeller Brothers Fund) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา.


กำลังโหลดความคิดเห็น