xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนมองหมากล้อมจีน ตีกระหนาบบีบดอลลาร์สหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย สองชาติกลุ่มเศรษฐกิจ บริคส์ (BRICS) อันมี บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งศตวรรษนี้ (ภาพเอเจนซี)
เอเจนซี - ผู้เชี่ยวชาญเริ่มประจักษ์เชื่อ สกุลเงินหยวนจีน เดินหมากล้อม เปิดพื้นที่ ตีกระหนาบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเนื่อง ล่าสุดข้อตกลงซื้อพลังงานรัสเซีย จุดประกายเปโตรหยวน ยุติบทบาทเปโตรดอลลาร์ที่ครองโลกมานานหลายทศวรรษ

คงเป็นที่ชัดเจนยิ่งขึ้น กับการเดินหมากล้อมเงินหยวนของจีน ที่ค่อยๆ โอบบีบดอลลาร์สหรัฐฯ พ้นไปจากกระดานการเงินโลก ด้วยก้าวล่าสุด ตกลงจับมือรัสเซียซื้อขายพลังงานด้วยเงินท้องถิ่น “รูเบิล” และ “เงินหยวน” เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ทีผ่านมา หลายฝ่ายเชื่อคือการยุติบทบาทเปโตรดอลลาร์ ที่สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากโลกมาตลอด

จากข่าวที่สื่อต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. เกี่ยวกับการประกาศยกเลิกการใช้ “เงินดอลลาร์สหรัฐฯ” ในการซื้อ-ขายพลังงานระหว่างบริษัทของจีน กับ “กาซปรอม” ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัสเซียประกาศยกเลิกการใช้ “เงินดอลลาร์สหรัฐฯ” เตรียมจับมือรัฐบาลปักกิ่งใช้เงินสกุล “รูเบิล” และ “เงินหยวน” แทนในตลาดพลังงานฯ ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเชื่อว่าเงินหยวนได้ก้าวขึ้นหมากสำคัญในการล้อมดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะจีนเป็นชาติซึ่งบริโภคพลังงานมากที่สุดในโลก มีสิทธิที่จะคิดว่า ทำไมต้องจ่ายค่าพลังงานด้วยเงินดอลลาร์ อันเป็นหมากฮอสที่สหรัฐฯ ร่วมกับชาติค้าน้ำมันในอดีต กำหนดกฎให้ทุกชาติต้องซื้อขายพลังงานด้วยเงินดอลลาร์ หรือที่เรียกว่า เปโตรดอลลาร์ จนทำให้ดอลลาร์สหรัฐฯ ยิ่งใหญ่ครองโลกจากกระดาษธนบัตรมานานเกือบครึ่งศตวรรษ

รายงานข่าวกล่าวว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จีนมีความพยายามในการลดบทบาทของสกุลเงินดอลลาร์ซึ่งเอาเปรียบชาติอื่นๆ มานาน โดยตอนเริ่มคิดนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย มองว่าแค่คิดก็ผิดแล้ว คงเป็นไปไม่ได้ และถึงเป็นไปได้แต่ก็คงไม่เร็ววันนี้ แต่ทว่า หมากล้อมของจีนกลับลุ่มลึก เรียบๆ แต่เด็ดขาดขึ้นเรื่อยๆ หากย้อนทบทวนการรุกคืบของเงินสกุลหยวนในรอบหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าใน 2 - 3 ปีมานี้ แต่ละก้าวของจีนมีความแม่นยำหวังผลได้มาตลอด ขณะที่หากเปรียบเทียบกับเกมเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ ยังคงทำได้แค่พิมพ์เงินเพิ่มเหมือนเด็กเล่นหมากฮอส

ผู้เชี่ยวชาญการเงิน ได้สังเกตจังหวะสัญญาณการล้อมดอลลาร์ของจีนมาตลอด ซึ่งมีนัยยะสำคัญตั้งแต่การลดเครดิตความน่าเชื่อถือหนี้สหรัฐฯ เมื่อปี 2554 โดยต้ากง ​โกลบอล ​เครดิต เรทติ้ง บริษัทจัดอันดับ​ความน่า​เชื่อถือของจีน ประกาศ​​แนว​โน้มที่จะปรับลดอันดับ​ความน่า​เชื่อถือของสหรัฐฯ โดยระบุว่าภาวะ​เศรษฐกิจถดถอยยาวนาน อัน​เนื่องมาจาก​การบริหาร​และ​น​โยบาย​เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อระบบสิน​เชื่อ นอกจากนั้น ต้ากงฯ ยังอาจจะลดอันดับ​ความน่า​เชื่อถือของสหรัฐฯ ลงอีก จากปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อ​ความสามารถของรัฐบาล​ใน​การชำระหนี้ และยัง​ไม่มี​ความกระเตื้องขึ้น

หมากต่อมา แต่จริงๆ จีนค่อยๆ ทำมาเป็นสิบปีแล้ว คือการเดินหน้าทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ (currency swap) กับบรรดาคู่ค้าทุกชาติ ทุกทวีป เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เงินดอลลาร์ในการซื้อขายระหว่างประเทศ และปูทางให้เงินหยวนเข้าไปมีบทบาทหลักในการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ

เมื่อปี 2552 ที่จีนเข้าไปทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ กับกลุ่มประเทศในแอฟริกา และอเมริกาใต้นั้น วิน ธิน นักกลยุทธศาสตร์ระดับอาวุโสจากบราวน์ บราเธอส์ แฮรริแมน ในนิวยอร์กเคยกล่าวว่า จีนพยายามสร้างอิทธิพลในเวทีโลกให้ลึกซึ้งขึ้น “พวกเขาลงทุนในหลายประเทศที่ไม่มีใครต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยว” เช่นประเทศร่ำรวยสินแร่อย่างแอฟริกาและอาร์เจนติน่า

แคทเธอลีน บรู้กส์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยของ ฟอเร็กซ์ เปรียบว่า การไม่ใช้สกุลเงินดอลลาร์ คือการตัดคนกลางออกไปในการค้าขายฯ

หมากเปิดพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จยิ่งของจีน คือการสามารถเจรจาต่อรองให้กลุ่มยุโรปอย่าง สหราชอาณาจักรยอมทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศได้ในที่สุด และอาจกล่าวได้ว่า หมากนี้เองที่ทำให้สถานะของเงินหยวนจีน มีระดับสกุลเงินระหว่างประเทศอย่างจริงๆ จังๆ

โดยในระหว่างที่เงินดอลลาร์ค่อยๆ สูญเสียความเชื่อมั่นในนานาชาติ จีนซึ่งถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐรายใหญ่ที่สุด ได้ลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลง อีกทั้งมองหาช่องทางกระจายการลงทุนใหม่กับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีอยู่ ขณะเดียวกันก็นำเอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของยุโรปมากขึ้นๆ

จีนยังเดินหมากตามแนวทางสร้างโลก “ที่อเมริกันไม่ใช่มหาอำนาจสำคัญที่สุด” ('de-Americanized' world) อีกต่อไป โดยนอกจากจีนจะเป็นผู้ผลิตทองคำมากที่สุดในโลก ยังเพิ่มการถือครองทองคำมากขึ้นไปอีก มีการนำเข้ามหาศาลในแต่ละปี

สตีเฟน ลิบ ผู้เชี่ยวชาญการเงิน กล่าวว่า แผนการของจีนเมื่อปีที่ผ่านมา คือการซื้อทองเพิ่มขึ้น 5,000 ตัน โดยมีวัตถุประสงค์ในการสะสมคือใช้เป็นหลักค้ำประกันเงินหยวนสู่การเป็นสกุลเงินแลกเปลี่ยนแทนที่ดอลลาร์

หมากเปโตรหยวน คือการรุกคืบชิงพื้นที่ครั้งสำคัญล่าสุด เมื่อบริษัท “กาโซวายา โปรมีชเลนนอสต์” หรือชื่อย่อที่รู้จักกันทั่วไปว่า “กาซปรอม” ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัสเซีย ซึ่งครองตำแหน่งผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ประกาศในคืนวันพฤหัสบดี 26 มิ.ย. ยกเลิกการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในทางบัญชีอย่างสิ้นเชิง หันมาใช้เงินรูเบิลของรัสเซีย และเงินหยวนของจีน เป็นสื่อกลางในการซื้อขายก๊าซธรรมชาติอย่างเต็มตัว โดยจะเริ่ม “นำร่อง” ใช้วิธีการนี้กับกรณีที่มีการติดต่อซื้อขายด้านพลังงานกับรัฐบาลจีน หรือบริษัทเอกชนของจีนก่อน

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สกุลเงินหยวนของจีนเพิ่มอำนาจในเวทีโลกขึ้นไปอีกระดับอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะจีนเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ปริมาณการซื้อขายด้วยสกุลเงินหยวนอันมหาศาล จนแทบจะนิยามได้ว่านี้คือ เปโตรหยวน เทียบเท่า และอาจแทนที่ เปโตรดอลลาร์ของสหรัฐฯ ยิ่งซื้อมากจีนยิ่งมีอำนาจมาก ต่างจากอดีตที่ใครซื้อพลังงานมาก สหรัฐฯ ยิ่งมีอำนาจมาก

เว็บไซต์ ฟอร์จูน รายงานเกี่ยวกับข้อตกลงนี้ว่า เป็นข้อตกลงที่จีน กับรัสเซีย มีการหารือกันมานานแล้ว ผ่านการประชุมระดับผู้นำมาก็หลายครั้ง จนกระทั่งได้ข้อตกลงสมประโยชน์ร่วมกันจึงประกาศออกมา โดยก่อนหน้าประกาศซื้อขายด้วยสกุลเงินรูเบิลและหยวนนี้ รัสเซียและจีนเพิ่งบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ที่มีการลงนามเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ข้อตกลงดังกล่าวระบุว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน ชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจ “ใหญ่ที่สุดในเอเชีย” และยังเป็นแชมป์นำเข้าน้ำมันมากสุดในโลก ตกลงสั่งซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในวงเงินมหาศาล ครอบคลุมการส่งมอบก๊าซธรรมชาตินานถึง 30 ปีเต็ม และกาซปรอมจะทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้กับทางไชน่า เนชันแนล ปิโตรเลียม (CNPC) ที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลจีนในปริมาณ “38,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี”

ฟอร์จูน ระบุว่า จุดลงตัวของสองชาตินั้นบรรลุเมื่อทางฝ่ายรัสเซียนั้นต้องการขายก๊าซฯ ให้จีน ในราคาเดียวกับที่ส่งออกให้ยุโรป ซึ่งทุกวันนี้มีความต้องการลดลงมาก ขณะที่จีน ก็ขอซื้อก๊าซจากรัสเซียในราคาเดียวกับที่จ่ายให้ ประเทศเติร์กเมนิสถาน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ส่งออกก๊าซรายใหญ่ที่สุดให้จีน

แม้ว่า ปัจจัยราคาจะเป็นการหารือลับๆ แต่บรรดานักวิเคราะห์ก็เคาะตัวเลขว่าราคาที่ซื้อขายกันน่าจะอยู่ที่ราว 350 ดอลลาร์ / 1,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งใกล้เคียงกับราคาที่จีนซื้อจากเติร์กเมนิสถาน จีนก็จะได้ก๊าซในราคาที่พอใจ รัสเซียก็จะได้ลูกค้าที่มั่นคงไปอีก 30 ปี

ความมหาศาลทั้งหลายทั้งปวงนี้เอง จึงเป็นปัจจัยเสริมอำนาจให้เงินหยวนมีอิทธิพลมากขึ้นทุกทีในเวทีการเงินระหว่างประเทศ เป็นการเดินหมากล้อมที่ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญฯ เริ่มยอมรับว่าการปิดล้อมมุม เปิดพื้นที่ ตีกระหนาบของเงินหยวนจีน ช่างน่าจับตามองยิ่ง โดยเฉพาะในยามที่กลยุทธเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ ยังวนอยู่กับการเล่นหมากฮอส คิดแต่จะกินสองต่อ พิมพ์ธนบัตรเพิ่มอย่างเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น