จดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา ฉบับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ฉบับที่ 143 เดือนมิถุนายน 2557 นำเสนอบทความเรื่อง “จากศาลาพักม้าสู่ระบบไปรษณีย์”
หากเราลองนึกย้อนไปในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และระบบขนส่งที่เพียบพร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีอันทันสมัย เมื่อสามพันปีก่อน บนแผ่นดินกว้างใหญ่นับหมื่นลี้ ชาวจีนสมัยโบราณจะเลือกติดต่อสื่อสารกันด้วยวิธีการใด
บทความชิ้นนี้นำเสนอวิวัฒนาการของระบบส่งจดหมายในประเทศจีนสมัยโบราณ โดยกล่าวถึงระบบส่งสารด้วยม้าที่ราชสำนักจีนยึดเป็นหัวใจหลักในการติดต่อสื่อสารทั้งภายในรัฐและระหว่างรัฐ อธิบายที่มาที่ไปของระบบส่งสารด้วยม้า อาทิ องค์ประกอบที่สำคัญ วิธีการจัดส่ง วัตถุประสงค์ ประเภทของสาร ระดับความเร็วที่กำหนด รวมทั้งบทบาทของศาลาพักม้าที่มีผลต่อวรรณคดีจีนสมัยโบราณ ให้เราได้เห็นภาพวงจรความรุ่งเรืองและเสื่อมโทรมของระบบไปรษณีย์โบราณตามภูมิหลังประวัติศาสตร์จีนในแต่ละยุคสมัย
และเนื่องจากประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้บริการระบบส่งสารด้วยม้านี้ได้ จึงแตกประเด็นมาอธิบายในคอลัมน์ “ไปรษณีย์โบราณในระบบเอกชน” เล่าถึงอีกด้านหนึ่งของการส่งจดหมายในหมู่ประชาชนคนธรรมดา ที่เริ่มมีระบบแบบแผนปรากฏให้เห็นกันในสมัยราชวงศ์หมิง ซึ่งเกิดจากกระแสความต้องการของพ่อค้าเป็นหลัก จนพัฒนาขึ้นเป็นเครือข่ายไปรษณีย์เอกชนเพื่อบริการประชาชนอย่างมีเอกลักษณ์ ส่งได้ทั้งจดหมาย เงิน และพัสดุ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมีคอลัมน์ “ตำนานในแสตมป์” เป็นเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆ ไขปริศนาสัตว์ในตำนานจีนที่เป็นตัวกลางการส่งสารในยุคโบราณ ซึ่งเป็นตำนานที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมจีนมานับพันปี ทั้งยังส่งอิทธิพลข้ามสหัสวรรษมาปรากฏบนดวงตราไปรษณียากรในยุคปัจจุบัน
และคอลัมน์ คำจีนใช้สนุก ของจดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา ฉบับล่าสุดนี้ คือ 白等 ซึ่งหมายถึง คอยเก้อ” นั้น มีการใช้อย่างไร ติดตามรายละเอียดได้ในจดหมายข่าวฯ
*** สามารถเข้าไปดาวน์โหลดจดหมายข่าวฟรี ได้ที่ http://www.อาศรมสยาม-จีนวิทยา.com/