xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียนปราชัย 120 ปี 'สงครามจีน-ญี่ปุ่น'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพวาดล้อเลียนกองทัพจีน ของนิตยสารพันช์ (29 กันยายน ค.ศ. 1894) ซึ่งสื่อถึงชัยชนะของกองทัพจากเกาะเล็กๆ อย่างญี่ปุ่น ที่สามารถโค่นยักษ์จีนในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (1 สิงหาคม ค.ศ. 1894 - 17 เมษายน ค.ศ. 1895)
เอเจนซี - ในโอกาสที่ปีนี้ เป็นปีครบรอบ 120 ปี สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง ซึ่งประวัติศาสตร์ได้จารึกความปราชัยย่อยยับของกองทัพจีนภายใต้การปกครองของรัฐบาลราชวงศ์ชิง นอกจากรัฐบาลจะได้เตรียมจัดพิธีรำลึกฯ บรรดาเหล่าแม่ทัพนายกองยังได้ถือเป็นโอกาสแห่งการย้อนเรียนรู้บทเรียนในอดีต พร้อมทั้งประเมินวิเคราะห์ตัวเองอย่างจริงจัง

เมื่อเร็วๆ นี้ บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพปลดปล่อยประชาชน (People's Liberation Army) ซึ่งรวมถึงกองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ต่างพร้อมใจออกมาพูดถึงข้อเท็จจริงของความพ่ายแพ้ในสงครามจีน-ญี่ปุ่นอย่างตรงไปตรงมา โดยมุ่งไปที่ความไร้เอกภาพของรัฐบาลชิงในยุคนั้น ซึ่งแตกเป็นก๊กเหล่า ฉ้อฉลและหวาดระแวงกันเอง

โกลบอลไทม์ส รายงานอ้างความเห็นของ นายพลติง หยี่ผิง รองผู้บัญชาการทหารเรือ ที่กล่าวว่า รัฐบาลชิงสมควรถูกตำหนิในการเป็นต้นเหตุแห่งความพ่ายแพ้ในสงครามจีน-ญี่ปุ่น (ค.ศ. 1894 - 1895) ขณะที่นายพลหลิว หย่าโจว ที่ปรึกษาการทหาร จากมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ กล่าวกับพีแอลเอ เดลี่ และซินหวา ว่าความพ่ายแพ้ครั้งนั้นไม่ได้เกิดจากความอ่อนแอของกองทัพจีน แต่เป็นเพราะความล้มเหลวของรัฐบาลชิง ในการบริหารประเทศ ให้เท่าทันความเป็นไปของโลก โดยเฉพาะความทะเยอทะยานของกองทัพญี่ปุ่นในเวลานั้น ซึ่งเร่งระดมพัฒนายุทโธปกรณ์อีกทั้งส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาโดยตรงจากชาติตะวันตก เพื่อซุ่มกลับมาพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ยึดครองเอเชีย

ด้านนายพลจิ่น ยี่หนัน ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยฯ มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ เขียนบทความวิเคราะห์ลงในซินหวาว่า ความพ่ายแพ้ในสมรภูมินี้ กองทัพเรือเป่ยหยางแห่งภาคเหนือ ต้องตกเป็นแพะรับบาปของรัฐบาลชิงมานานนับร้อยปี และหากได้รู้ข้อเท็จจริงของการตัดทอนกำลังกองทัพในยุครัฐบาลชิง ก็จะยอมรับว่าความอดสูครั้งนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ ศาสตราจารย์หนี่ เล่อเสวียง ผู้เชี่ยวชาญการทหาร และศึกษาประวัติศาสตร์สงครามจีน-ญี่ปุ่นมาตลอดหลายสิบปี ได้อ้างอิงเหตุการณ์ดังกล่าวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เกิดขึ้นในทะเลจีนตะวันออก โดยระบุว่า กองทัพจีนกำลังเผชิญแรงกดดันรอบใหม่ อันเป็นเวลาที่นายทหารของกองทัพฯ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องย้อนศึกษาบทเรียนของกองทัพเป่ยหยาง

หลิว หย่าโจว กล่าวถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์โดยระบุว่า สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (1 สิงหาคม ค.ศ. 1894 - 17 เมษายน ค.ศ. 1895) เป็นการสู้รบกันระหว่างราชวงศ์ชิงของจีน กับจักรพรรดิเมจิแห่งญี่ปุ่น เพื่อครอบครองคาบสมุทรเกาหลี สงครามครั้งนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของราชวงศ์ชิง และความแข็งแกร่งของญี่ปุ่นที่เริ่มแผ่อิทธิพลมายังแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออก

ในเวลานั้น จีนมีกองทัพเรือเป่ยหยาง ซึ่งบัญชาโดยแม่ทัพใหญ่ผู้เก่งกาจและรักชาติอย่าง นายพลหลี่ หงจาง แต่ด้วยมีชาติกำเนิดเป็นชาวฮั่น ทำให้นายพลหลี่ มีคู่อริไม่น้อยในรัฐบาลชิง โดยเฉพาะกับที่ปรึกษาจักรพรรดิ์ อย่าง หวัง ท่งเหอ ซึ่งเป็นชาวแมนจู และดำรงตำแหน่งสำคัญมากมายในรัฐบาลชิง

หวัง ท่งเหอ มีอิทธิพลขนาดสามารถสั่งตัดลดงบประมาณการพัฒนาความก้าวหน้าของกองทัพเรือจีน ซึ่งในสายตาของเขา เห็นว่าความแข็งแกร่งของกองทัพเรือซึ่งมีแม่ทัพอย่าง หลี่ หงจาง เป็นเสมือนหอกข้างแคร่ใหญ่ที่ต้องบั่นทิ้ง

เหลียง ฉีเชา ผู้นำคนสำคัญอีกคนในปลายยุคชิง เคยเขียนบันทึกไว้ว่า แม่ทัพหลี่ฯ เป็นวีรบุรุษของชาติในยามบ้านเมืองถูกภัยรุกราน แต่เขาเพียงลำพัง ไม่อาจยืนหยัดต่อกรกับแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่ของกองทัพญี่ปุ่นในเวลานั้น

ศาสตราจารย์หนี่ กล่าวว่า ความพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่น เป็นเหตุให้จีนจำต้องยอมรับสนธิสัญญาชิโมะโนะเซะกิ (下関条約) หรือ สนธิสัญญาหม่ากวัน (马关条约) ในภาษาจีน อันเป็นสนธิสัญญาระหว่างจักรวรรดิญี่ปุ่นและประเทศจีน โดยราชวงศ์ชิง เมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2438) ที่ระบุให้จีนต้องชำระค่าปฏิกรรมสงครามแก่ญี่ปุ่นทั้งที่เป็นเงินและดินแดนฯ สูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนเผิงหู ไต้หวัน ตลอดจนหมู่เกาะเล็กเกาะน้อยในทะเลจีนตะวันออก รวมทั้งหมู่เกาะเตียวอี๋ว์

นายพลติง หยี่ผิง ได้กล่าวยกย่องวีรกรรมกล้าหาญของเหล่านายทหารแห่งกองทัพภาคเหนือเป่ยหยาง ซึ่งเป็นกองทัพเดียวที่ยืนหยัดต่อกรกับแสนยานุภาพอันทันสมัยของกองทัพจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น และว่าในเวลานั้นจีนมีกองทัพเรือใหญ่ถึง 3 กอง แต่มีเพียงกองทัพภาคเหนือที่ได้รับคำสั่งให้สู้รบกับญี่ปุ่น ขณะที่กองเรือหนันหยาง และกวางตุ้ง ไม่ได้ร่วมรบแต่อย่างใด โดยเหตุว่าถูกรัฐบาลสั่งให้ประจำชายฝั่งตะวันออกและมณฑลทางใต้ อาทิ เจ้อเจียง ฝูเจี้ยน และกวางตุ้ง

นายพลหลิว หย่าโจว ที่ปรึกษาการทหารฯ กล่าวว่าชัยชนะของญี่ปุ่น คือความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การปกครองบริหารประเทศที่ทันสมัย ทันสถานการณ์ความเป็นไปของโลกยุคล่าจักรวรรดิ์ ขณะที่จีน แม้จะได้ผ่านสงครามใหญ่กับมหาอำนาจตะวันตกจากสงครามฝิ่นทั้งสองครั้ง (ค.ศ.1839 และ ค.ศ.1860) แต่ไม่ได้เรียนรู้จากตะวันตกเหมือนที่ญี่ปุ่นเรียนรู้ฯ

หลิว กล่าวว่า ในช่วงฟื้นฟูของรัฐบาลเมจินั้น (ค.ศ. 1860) ญี่ปุ่นแข็งแกร่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด เป็นชาติอุตสาหกรรมเจริญทัดเทียมกับมหาอำนาจตะวันตก แต่จีนกลับเรียนรู้อย่างผิวเผิน มิหนำซ้ำรัฐบาลชิง ยังลังเลที่จะประยุกต์ความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมที่กำลังเกิดขึ้นในโลก รัฐบาลชิงในเวลานั้นมีแต่ความอ่อนแอ แตกแยกเป็นก๊กเหล่า ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของชาติบ้านเมือง พยายามตัดกำลังความแข็งแกร่งของกองทัพฯ ด้วยความหวาดระแวงกันเอง จนที่สุดก็ไม่อาจป้องกันประเทศจากผู้รุกรานฯ ชาติเกาะเล็กๆ อย่างญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี ความทะเยอทะยานของจักรวรรดิ์ญี่ปุ่นที่พัฒนาเป็นลัทธิทหารนิยม คิดไกลถึงขั้นยึดครองเอเชีย รุกรานจีน เกาหลี สู้รบกับรัสเซีย (ค.ศ. 1904 - 1905) กลับแพ้ภัยตัวเองเมื่อส่งฝูงบินรบไปถล่มเพิร์ล ฮาร์เบอร์ของสหรัฐอเมริกา และถลำลึกพาตัวเองสู่หายนะในสงครามโลกครั้งที่สอง

สำหรับจีนนั้น กล่าวได้ว่า ความอดสูปราชัยในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการตื่นตัวปฏิรูปประเทศ โดยประชาชนได้ลุกขึ้นก่อการปฏิวัติใหญ่ในปี ค.ศ. 1911 โค่นล้มรัฐบาลชิงซึ่งเสื่อมถอยถึงที่สุดได้สำเร็จ เป็นจุดเริ่มต้นของจีนใหม่ และแม้เวลาจะผ่านมาแล้ว 120 ปี แต่สงครามครั้งนี้ ก็ยังคงเป็นบทเรียนอันทันสมัยสำหรับจีนในการเผชิญโลกทุกวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น