เอเจนซี--สื่อจีนรายงาน ระบุว่า “วันนี้(23 เม.ย.) คือ วันหนังสือโลก”.....เมื่อเย็นวาน(22 เม.ย.) เจ้าหน้าที่ในร้านหนังสือ “ซันเหลียนเทาเฟิ่น” (北京三联韬奋书店) ต่างดีใจกันยกใหญ่ที่ได้รับจดหมายตอบกลับจากนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง
ในจดหมายของท่านนายกฯที่มีมาถึงร้านหนังสือซันเหลียนเมื่อเย็นก่อน “วันหนังสือโลก” นี้ กล่าวชื่นชมการเปิด “ห้องอ่านหนังสือกลางคืน” ว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ พร้อมแสดงความหวังว่า “ร้านหนังสือ 24 ชั่วโมง จะเป็น "หลักหมาย (landmark) ทางจิตวิญญาณของเมือง" และว่าการอ่านหนังสือจะกระตุ้นให้ผู้คนคิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆยิ่งขึ้น
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้จัดการร้านหนังสือซันเหลียน นาย ฝาน ซีอัน ได้ส่งจดหมายไปยังนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง แนะนำบริการโฉมใหม่ของร้าน คือ “ร้านหนังสือ 24 ชั่วโมง” แห่งแรกของนครหลวงปักกิ่ง ในจดหมายฝานแจ้งว่าทางร้านฯได้ปรับปรุงบริการใหม่ เป็น “ร้านหนังสือ 24 ชั่วโมง” เปิดบริการมาตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 16 เม.ย. ได้ผลตอบรับดีมาก ผู้คนที่มาอ่านมาซื้อหนังสือตอนกลางคืน ล้วนเป็นคนหนุ่มสาว
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา หลี่ เค่อเฉียง ได้เป็นประธานการประชุมสัมนาที่ถนนจงหนันไห่ในปักกิ่ง เป็นการประชุมเสวนาการดำเนินงานของรัฐบาล ด้านส่งเสริมการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ผู้จัดการร้านหนังสือซันเหลียน นาย ฝาน ซีอัน ก็ได้กล่าวเสนอแนะให้มีการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อการอ่านอย่างยั่งยืนแก่ประชาชนทั่วประเทศ ข้อเสนอแนะนี้มิใช่ความฝันลมๆแล้งๆ หากได้เป็นจริงขึ้นแล้ว การเปิดร้านหนังสือ 24 ชั่วโมง เป็นการส่งเสริมการอ่านด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดการอ่านมากขึ้น
นายกฯหลี่ “หนอนหนังสือประจำร้านซันเหลียน”
นี่มิใช่ครั้งแรกที่หัวหน้าใหญ่รัฐบาลแดนมังกรโต้ตอบจดหมายกับทางร้านหนังสือ ในเดือนมิ.ย.ปี 2555 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 80 ปี ร้านซันเหลียน หลี่ เค่อเฉียงได้ส่งจดหมาย ระบุว่า “ผมเป็นแฟนประจำร้านหนังสือซันเหลียนมาหลายปี มาซื้อหนังสือที่นี่บ่อยๆ...ชีวิตคนมิอาจขาดการอ่าน การอ่านหนังสือทำให้ได้เรียนรู้ใหม่ๆ ได้ทบทวนขบคิดและนำไปสู่การเรียนรู้ใหม่
ผู้สื่อข่าวในปักกิ่ง ได้ไปสัมภาษณ์ผู้จัดการร้านซันเหลียน เกี่ยวกับ “หลักหมายทางจิตวิญญาณ” ที่นายกฯหลี่ได้กล่าวถึงในจดหมาย?
ฝานตอบว่า โดยส่วนตัวของเขานั้น “หลักหมายทางจิตวิญญาณ” เป็นการกล่าวครั้งแรกของท่านนายกฯ ก่อนหน้ามีเพียงการพูดถึง “หลักหมายทางวัฒนธรรม” โดยการพูดถึง “”หลักหมายทางจิตวิญญาณ” นี้เป็นการยกระดับสูงขึ้นถึงขั้นจิตวิญญาณ การอ่านหนังสือไม่เพียงยกระดับคุณภาพทางวัฒนธรรม ยังกระตุ้นการแสวงหาทางอุดมคติ ไปถึงแนวคิดทางคุณค่าใจกลาง การยกระดับจากวัฒนธรรมไปถึงจิตวิญญาณนี้นับเป็นขั้นปรัชญา
“การได้รับสารเช่นนี้ในวันก่อนวันหนังสือโลก มิเพียงสร้างข้อเรียกร้องกับทางร้านหนังสือ ยังได้ให้ความหวังแก่ประชาชนทั้งมวลอีกด้วย
ทั้งนี้เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยของสำนักข่าวสารแห่งจีน ได้รายงานผลการสำรวจการอ่านของประชาชนทั่วประเทศครั้งที่ 11 ปรากฏผลว่า ปริมาณการอ่านหนังสือที่เป็นสิ่งพิมพ์ต่อหัวประชากร/ปี เท่ากับ 4.77 เล่ม เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า เท่ากับ 0.38 เล่ม อัตราการการอ่านหนังสือผ่านสื่อดิจิตอลของกลุ่มวัยผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก อัตราการอ่านหนังสืออิเลคทรอนิกต่อหัวประชากร/ปี เท่ากับ 2.48 เล่ม เทียบกับปี 2555 สูงขึ้น เท่ากับ 0.13 เล่ม