xs
xsm
sm
md
lg

ภริยา “จ้าว จื่อหยาง” เสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัย 95 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจ้าว จื่อหยาง และนางเหลียง ปั๋วฉี ถ่ายภาพคู่กันภายในบ้านพักเมื่อปี 2536 (ภาพ - เอเยนซี)
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - ครอบครัวและคนสนิทเผยการเสียชีวิตอย่างสงบของนางเหลียง ปั๋วฉี (梁伯琪) อายุ 95 ปี ภริยานายจ้าว จื่อหยาง (赵紫阳) อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และอดีตนายกรัฐมนตรีจีน ผู้ซึ่งใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ภายใต้การกักบริเวณเป็นเวลานานกว่า 15 ปี

รายงานข่าว (26 ธ.ค.) กล่าวว่า นางเหลียง ปั๋วฉี ภริยาของนายจ้าว จื่อหยาง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และอดีตนายกรัฐมนตรีของจีน ได้เสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัย 95 ปีในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของกรุงปักกิ่ง เมื่อคืนวันพุธ (25 ธ.ค.) ที่ผ่านมา โดยครอบครัวและคนสนิทเผยว่า พิธีศพจะดำเนินไปอย่างเรียบง่ายตามความประสงค์ของนางเหลียง

ประวัติของนางเหลียง ปั๋วฉี เกิดเมื่อปี 2461 เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคฯ ช่วงปลายทศวรรษ 1930 โดยเริ่มต้นทำงานอยู่ในหน่วยงานใต้บังคับบัญชาของนายจ้าว เมื่อครั้งที่เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ประจำเมืองหวา มณฑลเหอหนัน ต่อมานางเหลียงได้ขึ้นเป็นรองหัวหน้าฝ่ายการจัดการประจำมณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง), เลขานุการประจำสำนักการค้าระหว่างประเทศมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) และผู้ช่วยฝ่ายการจัดการประจำคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนตามลำดับ โดยนางเหลียงแต่งงานกับนายจ้าวในปี 2487

อนึ่งนายจ้าว จื่อหยาง ผู้เป็นสามีของนางเหลียง ถือเป็นบุคคลสำคัญผู้หนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองแดนมังกร โดยเขาเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และนายกรัฐมนตรีของประเทศ ทว่าจำต้องถูกปลดออกจากบัลลังก์อำนาจในปี 2532 หลังแสดงท่าทีคัดค้านการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ใจกลางมหานครปักกิ่ง

ภายหลังการก้าวลงจากตำแหน่งนายจ้าวถูกทางการจับกุมตัวและสั่งกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านพัก สถานที่พักพิงสุดท้ายกว่า 15 ปี ก่อนจบชีวิตลงในเดือน ม.ค. 2548 ด้วยวัย 85 ปี โดยมีนางเหลียงคอยอยู่เคียงข้างไม่เคยห่างไกล ซึ่ง ณ เวลานั้นทางการจีนต่างหวั่นวิตกว่างานพิธีศพของนายจ้าวอาจเป็นชนวนให้กลุ่มผู้ภักดีและสนับสนุนประชาธิปไตยใช้เป็นข้ออ้างก่อเหตุรุนแรงขึ้นอีกครั้งดังเช่น “เหตุการณ์ 4 มิถุนายน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน”

“นางเหลียงต้องทนทุกข์กับโรคสมองเสื่อมและความบกพร่องทางการมองเห็นในวัยชรา” เพื่อนสนิทครอบครัวนางเหลียงรายหนึ่งกล่าว

“แม้แต่วินาทีสุดท้ายของชีวิต เธอก็ยังคงไม่รู้ว่าสามีของตัวเองได้จากไปนานแล้ว ลูกๆ ของพวกเขาเลือกจะไม่บอกแม่ เพราะอย่างไรเธอก็คงจำใครไม่ได้อีกหลังป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม”
กำลังโหลดความคิดเห็น