เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - สายธารน้ำใจท่วมท้นหลังชาวจีนนับพันคนช่วยกันส่งต่อข่าวตามหา “เครื่องช่วยฟัง” ราคาหลักล้านที่หล่นหายให้กับเด็กหญิงวัย 4 ขวบ พาหนูน้อยโบยบินออกจากโลกไร้เสียงได้สำเร็จ
รายงานข่าว (18 พ.ย.) กล่าวว่า ประชาชนในเมืองอิ๋นชวน เขตปกครองตนเองหนิงซย่า ชนชาติหุย ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน พากันแชร์ข้อความบนโลกออนไลน์ เพื่อตามหา “เครื่องช่วยฟัง” ข้างหนึ่งของเด็กหญิงวัย 4 ขวบ ที่หล่นหายบนถนนสายหนึ่งกลางเมือง เมื่อราวหนึ่งสัปดาห์ก่อน
เป่ยจิง นิวส์ สื่อจีน เผยว่า หนูน้อยเคราะห์ร้ายคนดังกล่าวซึ่งลืมตาดูโลกพร้อมกับความบกพร่องทางการได้ยิน เพิ่งจะมีโอกาสรับฟังเสียงแรกในชีวิต เมื่อช่วงต้นปี 2556 หลังจากพ่อและแม่ของเธอสามารถเก็บออมเงินได้เพียงพอที่จะซื้ออุปกรณ์ช่วยฟัง ที่มีราคาสูงถึง 280,000 หยวน หรือราว 1 ล้าน 4 แสนบาทต่อ 1 คู่มาให้
ทว่าปีศาจไร้เสียงกลับคืบคลานมารังแกเด็กหญิงในวันอาทิตย์ (10 พ.ย.) ที่ผ่านมา เมื่อเธอเผลอทำเครื่องช่วยฟังข้างหนึ่งหล่นหายบนถนนโดยไม่รู้ตัว ทำให้เธอตกอยู่ในโลกไร้เสียงอีกครั้ง เนื่องจากอุปกรณ์ช่วยฟังจะไม่ทำงานหากปราศจากคู่ของมัน นอกจากนั้น พ่อแม่ทั้งสองคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะรวบรวมเงินครบสำหรับเครื่องช่วยฟังคู่ใหม่ และลูกสาวของพวกเขาคงต้องกัดฟันทนกับการผ่าตัดเพื่อฝังอุปกรณ์บางชิ้นอีกรอบ
ด้วยเหตุนี้ พ่อของหนูน้อยจึงตัดสินใจเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่น และโพสต์ข้อความลงบนเว็บไซต์สังคมออนไลน์ประจำเมือง ขอให้ชาวอิ๋นชวนช่วยแจ้งเบาะแส หากค้นพบเครื่องช่วยฟังข้างที่หลุดหายไปของลูกสาว ซึ่งข้อความดังกล่าวได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยเว็บไซต์ทางการท้องถิ่นก็ได้ช่วยประชาสัมพันธ์อีกแรงด้วย
“คลิกเม้าส์ของคุณเพื่อช่วยเหลือ รีโพสต์ข้อความเพื่อเสาะหา” ชาวเน็ตจีนรายหนึ่งกล่าวพร้อมกับส่งต่อข้อความของพ่อเด็กหญิงโชคร้าย
นอกจากนี้ บรรดารถโดยสารประจำทางกว่า 1,500 คัน และรถแท็กซี่ทั่วเมือง ยังได้ช่วยกระจายข้อมูลผ่านรายการข่าวที่ฉายทางโทรทัศน์บนรถของพวกเขาอีกด้วย
ท้ายที่สุด ความพยายามของผู้คนนับพันก็สัมฤทธิ์ผล โดยในวันศุกร์ (15 พ.ย.) หลังผ่านพ้นไปราว 114 ชม.แห่งการค้นหา เครื่องช่วยฟังข้างที่หล่นหายถูกค้นพบโดยคนเร่ร่อนวัยชรารายหนึ่ง ทำให้ชาวเมืองต่างยินดีปรีดาที่สามารถเติมโลกแห่งรอยยิ้มให้หนูน้อยกลับมาได้ยินอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์แห่งสายธารน้ำใจจากโลกออนไลน์เช่นนี้มิได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยราว 2 ปีก่อน พ่อค้าขายห่านริมถนนในเมืองอูลูมู่ฉี เขตปกครองตนเองซินเจียง ชนชาติอุยกูร์ ได้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางขอความช่วยเหลือให้กับภรรยาที่ป่วยเป็นโรคลูคีเมีย ซึ่งทำให้การค้าขายของเขาดีกว่าเดิมถึง 10 เท่า หรือกรณีของชายเจ้าของร้านอาหารเล็กๆ ในมณฑลเหอหนัน ที่พบว่าตัวเองกำลังป่วยด้วยโรคมะเร็งกระดูกชนิดร้ายแรง (osteosarcoma) และต้องได้รับการผ่าตัดเนื้องอกเร่งด่วน ก็มีชาวเน็ตเป็นกำลังใจและให้ความช่วยเหลือจนกิจการร้านอาหารมีรายได้เพิ่มขึ้น เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด