ซีอาร์ไอ สื่อจีนเผย (12 ก.ย.) ภาพสุสานของ ซ่างกวน ว่านเอ๋อร์ ขุนนางสตรี และกวีในยุคจักรพรรดินี อู่ เจ๋อเทียน (บูเช็กเทียน) โดยสุสานแห่งนี้อยู่ไม่ไกลจากท่าอากาศยานนานาชาติ ซีอานเสียนหยาง ในเมืองเสียนหยาง มณฑลส่านซี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
สำนักงานโบราณคดีท้องถิ่น เผยเมื่อวันจันทร์ที่ 9 ก.ย. ว่า สุสานที่ค้นพบนี้ ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และโบราณคดีแล้วว่า เป็นสุสานของขุนนางสตรีในยุคจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน จากหลักฐานจารึกที่ค้นพบในสุสาน
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ซ่างกวน ว่านเอ๋อร์ มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี 664 - 710 (พ.ศ. 1207 - 1253) ในสมัยราชวงศ์ถัง และจัดเป็นผู้ใกล้ชิดบัลลังก์จักรพรรดินีอู่ เจ่อเทียน หรือ บูเช็กเทียน ซึ่งครองราชย์ในช่วงปี ค.ศ. 690-705 (พ.ศ. 1233 - 1248) นาน 15 ปี ทรงเป็นสตรีพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนที่ได้เป็นพระจักรพรรดินีนาถ และในเวลานั้น ซ่างกวน ว่านเอ๋อร์ ได้รับความไว้วางใจให้บริหารแผ่นดินมีตำแหน่งเทียบได้กับนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นยังได้เสกสมรสกับหลี่ เซียน พระราชบุตรของจักรพรรดินี ที่ขึ้นครองราชบัลลังก์ช่วงสั้นๆ ก่อนที่จะมีศึกชิงอำนาจภายใน และว่านเอ๋อร์ ถูกฆาตกรรมโดยสนมอีกองค์ของฮ่องเต้นั่นเอง
ไชน่าเดลี่ รายงานอ้างคำกล่าวของ ตู้ เวินยู่ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ว่า การค้นพบสุสาน และจารึกเป็นหลักฐานสำคัญทางการศึกษาประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถัง
ด้าน นักวิจัยท้องถิ่นฯ เกิ้ง ฉิงกัง กล่าวว่า สุสานนี้อยู่ในสภาพที่เสียหายหนัก และคงต้องอาศัยความระมัดระวังยิ่งในการจัดการขุดค้นฯ โดยยังไม่พบว่ามีโครงกระดูกที่สมบูรณ์ หรือสมบัติล้ำค่าใดๆ
ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์ในยุคของ อู่เจ๋อเทียน นี้ ได้รับความสนใจศึกษาจากหลายฝ่าย ด้วยเป็นยุคที่ปกครองด้วยสตรี ซึ่งตลอดประวัติศาสตร์ถูกปกครองภายใต้บุรุษเสมอมา ไม่มีทั้งสิทธิในทางการเมือง การครอบครองทรัพย์สิน หรือแม้กระทั่งสถานะชีวิตในสังคม โดยมีธรรมเนียมปฎิบัติว่า เพศหญิงจะต้องอยู่ภายใต้อำนาจของบิดาในตอนก่อนแต่งงาน เมื่อแต่งงานแล้วก็อยู่ภายใต้สามี กระทั่งแม้เป็นหม้ายสามีเสียชีวิต ก็อยู่ภายใต้บุตร จนกระทั่ง ในยุคของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนี้เอง ที่ธรรมเนียมจารีตปฏิบัติ และค่านิยมเหล่านี้ ได้ถูกทำลายล้างสิ้นไป