Astvผู้จัดการออนไลน์--สำหรับสาธารณรัฐแห่งประชาชนจีนแล้ว คณะกรรมการกรมการเมือง หรือโปลิตบูโรแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้แบ่งเป็นสองระดับชั้น ได้แก่ คณะกรรมการหมุนเวียนแห่งกรมการเมือง และคณะกรรมการประจำกรมการเมืองฯ เป็นบัลลังก์ของกลุ่มผู้นำที่ครองอำนาจใหญ่อย่างแท้จริง ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และบรรดาผู้นำสูงสุดตามมณฑลยักษ์ใหญ่ที่เป็นแหล่งขุมทองผลประโยชน์ เขตเทศบาลนครที่ขึ้นตรงรัฐบาลกลางอย่าง กรุงปักกิ่ง มหานครเซี่ยงไฮ้ มหานครเทียนจิน มหานครฉงชิ่ง และเขตบริหารพิเศษฯ ล้วนมาจากกรมการเมือง
หลังจากที่จีนปฏิรูปเศรษฐกิจ เปิดประเทศ รับการลงทุนจากต่างแดน ผลประโยชน์ก็ยิ่งหลั่งไหล น่าเย้ายวนยิ่งนัก จากปลายทศวรรษที่ 1987 ที่จีนดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจนี้ ก็มีผู้นำแห่งกรมการเมืองสามคน ที่หลงระเริงใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบกอบโกยผลประโยชน์ และในที่สุด ก็ถูกดำเนินคดี อนาคตดับวูบลงอย่างน่าสังเวชอดสู
ที่สำคัญกว่านั้นคือ เรื่องอื้อฉาวภายในใจกลางพรรคฯอย่างกรมการเมืองนี้ ทำให้ภาพลักษณ์ทั้งอำนาจ ความน่าเชื่อถือ ต้องมีอันแปดเปื้อนมัวหมอง
และปีที่ผ่านมา อันเป็นช่วงจังหวะที่จีนกำลังถ่ายโอนอำนาจสู่การนำรุ่นที่ 5 ก็เกิดเรื่องอื้อฉาวสะท้านแดนมังกร คือ กรณีอื้อฉาวของนาย ปั๋ว ซีไหล(薄熙来)อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมหานครฉงชิ่ง และยังเป็นสมาชิกคณะกรรมการหมุนเวียนกรมการเมืองฯ นอกจากเรื่องอื้อฉาวคอรัปชั่นแล้ว ปั๋วยังโดนข้อหาอันน่าอดสู คือใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซงการไต่สวนฆาตกรรมนาย นีล เฮย์วูดนักธุรกิจชาวอังกฤษที่สนิทสนมกับครอบครัวปั๋ว โดยผู้ต้องสงสัยเป็นมือสังหารคือ ภรรยาของเขา นาง กู่ ไคไหล (谷开来) ทั้งนี้นายเฮย์วูดเสียชีวิตในโรงแรมที่ฉงชิ่งเมื่อวันที่ 15 พ.ย.2554
กรณีอื้อฉาวของปั๋ว ซีไหล ยังเชื่อมโยงถึง หวังลี่จวิน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งฉงชิง ซึ่งเป็นมือขวาผู้ช่วยปราบมาเฟียของปั๋ว หวัง ลี่จวิน แตกหักกับปั๋ว เมื่อเขาพูดสงสัยว่า กู่ ไคไหล เป็นฆาตกรปลิดชีพเฮย์วูด ปฏิกิริยาโกรธเกรี้ยวของปั๋วทำให้หวังกลัวถูก “เก็บ” จึงหลบหนีไปที่สถานกงสุลอเมริกันในนครเฉิงตูในคืนวันที่ 6 ก.พ. ปีที่แล้ว (2555) นับจากคืนนั้นเรื่องอื้อฉาวของปั๋ว ซีไหล ก็ค่อยๆแดงออกมา
ในเดือนต่อมา วันที่ 15 มี.ค. ปั๋ว ถูกปลดออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯประจำฉงชิ่ง
ข่าวฉาวโฉ่เรื่องภรรยาผู้นำแห่งกรมการเมืองสังหารเพื่อนชาวต่างชาติ โดยการจับกรอกยาพิษ บางกระแสกล่าวหาว่านางยังเป็นชู้รักกับเฮย์วูด กระหึ่มไปทั่วโลก จีนเดินหน้าพิจารณาคดีฆาตกรรมเฮย์วูดอย่างด่วนจี๋ และในวันที่ 20 ส.ค. ศาลก็ตัดสินโทษประหารชีวิต นาง กู่ ไคไหล โดยรอลงอาญาสองปี ในความผิดสังหารนายเฮย์วูด
ขณะเดียวกัน ก็ดำเนินคดีหวัง ลี่จวิน ด้วยข้อกล่าวหาอาชญากรรมเศรษฐกิจและทรยศต่อพรรคฯ(จากเหตุการณ์หนีไปสถานกงสุลสหรัฐฯ สาวไส้ความฟอนแฟะของผู้นำจีน) ในวันที่ 19 ก.ย.สื่อของรัฐรายงานข่าวปั๋ว มีเอี่ยวในการกระทำอันเป็นอาชญากรรมของหวัง และวันที่ 24 ก.ย. ศาลในเฉิงตู ก็พิพากษาหวัง ลี่จวิน ด้วยโทษจำคุก 15 ปี ในความผิดทรยศ และอาชญากรรมอื่นๆ
อนาคตการเมืองของปั๋วดับวูบสนิทในวันที่ 28 เดือนก.ย.เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ริบเก้าอี้สมาชิกพรรคฯและบทบาททางการทั้งหมดของเขา
จีนตอกหมุดความวุ่นวายที่สร้างมลทินเสื่อมเสียแก่พรรคฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ศาลเมืองจี่หนัน มณฑลซันตง ได้เปิดการพิจารณา “คดี ปั๋ว ซีไหล” กรณีที่สั่นสะเทือนพลังอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากที่สุดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา
ในคำฟ้องร้องจำเลย ปั๋ว ซีไหล ได้ระบุกระทำความผิดรับสินบน โดยจากปี 2542-2549 จำเลยได้ใช้จากตำแหน่งหน้าที่ อันได้แก่ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครต้าเหลียน, เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครต้าเหลียน, ผู้ว่าการประจำมณฑลเหลียวหนิง รัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ และอื่นๆ แสวงหาผลประโยชน์ นอกจากนี้ ระหว่างปี 2543-2555 ปั๋ว ซีไหล กระทำการแต่เพียงผู้เดียว หรือไม่ก็ดำเนินการผ่านภรรยา นางกู่ ไคไหล และบุตรชาย ปั๋ว กวากวา โดยได้รับสินบนจากกรรมการผู้จัดการใหญ่ ถัง เสี้ยวหลิน แห่งบริษัท ต้าเหลียน อินเตอร์เนชั่นนัล คอเปอเรชั่น (DALIAN INTERNATIONAL COOPERATION GROUP), กรรมการผู้จัดการใหญ่ สีว์ หมิง แห่งบริษัท สือเต๋อ กรุ๊ป (Side Group) รวมสินบนที่ปั๋วรับ 21,790,587 หยวน
ในคำฟ้องร้องอีกฉบับ ระบุว่า ระหว่างปี 2543 ที่จำเลยปั๋ว ซีไหล เป็นเลขาธิการพรรคอมมิวนิสต์ประจำนครต้าเหลียน และได้เลื่อนขั้นเป็น ผู้ว่าการมณฑลเหลียวหนิง ได้ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในโครงการลับของรัฐบาลท้องถิ่นอยู่ด้วย ในระหว่างนี้ ก็มีการยักยอกเงิน 5 ล้านหยวน
ศาลจี่หนันพิจารณาคดีเป็นเวลา 5 วัน และจบการพิจารณาในวันจันทร์(26 ส.ค.)ที่ผ่านมา โดยยังไม่ประกาศคำตัดสิน
กลุ่มอัยการได้ออกมาเรียกร้องให้ลงโทษสถานหนักแก่ ปั๋ว ซีไหล เนื่องจากกรำทำความผิดร้ายแรง และระหว่างการให้ปากคำ ปั๋วได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ซึ่งอัยการมองว่าปั๋วไร้สำนึกความเสียใจใดๆ
ทั้งนี้ตามกฎหมายจีนได้กำหนดโทษประหารชีวิตแก่ความผิดรับสินบนมากกว่า 100,000 หยวน หรือ 16,000 เหรียญสหรัฐ
สำหรับผู้นำกรมการเมืองคนก่อนหน้าที่ร่วงจากเวทีการเมือง ได้แก่
เฉิน ซีถง(陈希同)เกิดเมื่อเดือนมิ.ย. 2473 ที่อำเภออันชิว มณฑลซื่อชวน(เสฉวน) ดำรงตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีแห่งกรุงปักกิ่ง (2526), เป็นนายกเทศมนตรีปักกิ่งสมัยที่สอง (2531) ต่อมา เดือนเม.ย.ปีเดียวกัน ได้รับการเลื่อนขั้นเข้ามาเป็นคณะกรรมการในคณะมุขมนตรี, ในปี 2538 ถูกปลดออกจากตำแหน่งทั้งภายในพรรคฯ และหน่วยงานรัฐอื่นๆ, 2540 ถูกปลดออกจากสมาชิกภาพพรรคฯ, 2541 ถูกตัดสินจำคุก 16 ปี ในความผิดอาชญากรรมเศรษฐกิจและฝ่าฝืนกฎหมาย วินัยพรรคฯ เสียชีวิตด้วยโรคร้ายเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2556
ระหว่างที่เฉิน ซีถง ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงปักกิ่ง ควบตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯสาขาปักกิ่ง ได้รับของกำนัลมูลค่าสูงจากการติดต่อกับต่างประเทศ รวม 555,956.2 หยวน อีกทั้งยังได้ชี้โพรงให้กระรอกและเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ต่อการฉ้อราษฎร์บังหลวงของรองนายกเทศมนตรี หวัง เป่าเซิน มีคฤหาสน์สองแห่งในปักกิ่ง ฝ่าฝืนกฎหมายในการก่อสร้างและสั่งซื้ออุปกรณ์ มูลค่า 35,210,000 หยวน พาภรรยาและพวกฟ้อง มากินดื่มสำเริงสำราญที่คฤหาสน์สองแห่ง สิ้นเปลืองงบฯหลวง 2,400,000 หยวน และยังผลาญเงินหลวงไปในการเลี้ยงดูปูเสื่อพวกฟ้อง 1,050,000 หยวน
เฉิน เหลียงอี่ว์(陈良宇)เกิดเมื่อเดือนต.ค. 2489 เป็นชาวหนิงปัว มณฑลเจ้อเจียง ในเดือนก.ค.2549 คณะกรรมการตรวจสอบวินัยแห่งพรรคฯ ได้ดำเนินการไต่สวนกรณีการใช้เงินในกองทุนประกันสังคมอย่างผิดกฎหมายของสำนักงานประกันสังคมและแรงงานนครเซี่ยงไฮ้ เฉินถูกปลดออกจากสมาชิกภาพพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 2550 และในวันที่ 11 เม.ย.2551 ศาลประชาชนชั้นกลางประจำนครเทียนจิน ก็ได้ตัดสินเฉิน เหลียงอี่ว์ มีความผิด ได้แก่ รับสินบน ใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ จึงพิพากษาลงโทษจำคุก 18 ปี
อดีตนายกรัฐมนตรี จู หรงจี (朱镕基)ลั่นวาจาว่า “ในการกำจัดคอรัปชั่น จักต้องตีเสือก่อน แล้วจึงค่อยตีสุนัขจิ้งจอก สำหรับพวกเสือร้ายแล้ว หากปล่อยมันไว้ ก็เท่ากับเป็นการเลี้ยงหรือส่งเสริมพวกมัน จงเตรียมโลงศพไว้ 100 โลง รวมทั้งของผมด้วยอีก 1 โลง ผมพร้อมจะตายไปกับพวกมัน เพื่อแลกกับความเจริญ สงบสุขที่ยั่งยืนของบ้านเมือง และทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในพวกเรา”.