ไชน่า เดลี่ - หน่วยงานด้านปศุสัตว์ของซินเจียง คิดวิธีกำจัด “หนู” ตามท้องทุ่งที่มีปริมาณมากเกินจนสร้างความเสียหายต่อการเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้าน ด้วยการปล่อยนักล่าอย่าง “เจ้าเหมียว” ขนปุกปุยทั้งหลายสู่สนามรบ ทว่า ประชาชนบางกลุ่มยังคงวิตกกังวลถึงความอยู่รอดปลอดภัยของทหารแมวน้อยเหล่านี้
รายงานข่าว (26 ส.ค.) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ประจำสถานีคุ้มกันและดูแลทุ่งหญ้าปศุสัตว์ เมืองปั๋วเล่อ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ใช้วิธีปล่อย “แมว” จำนวนนับร้อยตัวลงสู่พื้นที่ทุ่งหญ้าที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงสัตว์ เพื่อให้พวกมันช่วยกำจัดหนูจำนวนมากที่สร้างความเสียหายต่อผืนดินและต้นหญ้า
ทหาร “แมว” ชุดล่าสุด จำนวน 8 ตัว ถูกปล่อยสู่ทุ่งหญ้า เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดยพวกมันเป็นส่วนหนึ่งของทหารแมวอีกกว่าหลายร้อยตัวที่มาปฏิบัติภารกิจกำจัดหนู ที่คอยกัดกินต้นหญ้าและขุดรูโพรงบนผืนทุ่งหญ้าเขียวขจีที่สุดท้ายอาจแปรสภาพเป็นทะเลทรายได้ในอนาคต
ยุทธศาสตร์ “แมวขย้ำหนู” นี้ เริ่มดำเนินมาตั้งแต่ต้นปี 2554ในปัจจุบัน มีแมวมากกว่า 600 ตัว ที่ทำหน้าที่กำจัดหนูในทุ่งหญ้าขนาดราว 33,000 ไร่ รอบๆ เมืองปั๋วเล่อ
“เนื่องจากในเมืองมีแมวเร่ร่อนอาศัยอยู่จำนวนมาก พวกมันจึงกลายเป็นเครื่องมือมีชีวิตที่ช่วยปราบหนูได้อย่างดี ซึ่งถือเป็นวิธีที่ win-win มากเลยทีเดียว” กวน ถิงเสี้ยน หัวหน้าสถานีฯ กล่าว
โดยตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา นักล่าสี่ขาขนปุยได้ช่วยควบคุมปริมาณหนูอย่างเห็นผล ชาวบ้านหลายรายเผยว่า มักจะเห็นเจ้าเหมียวสามารถไล่ล่าและจับหนูได้เป็นจำนวนมากเสมอ
“ฉันเห็นพวกมันไล่จับหนูนาได้ตั้งหลายครั้ง ระหว่างที่ฉันกำลังต้อนแกะไปกินหญ้า” คนเลี้ยงสัตว์ท้องถิ่นผู้หนึ่งกล่าว
อย่างไรก็ดี แม้ว่าชาวจีนบางส่วนเห็นว่า การใช้แมวเป็นเครื่องมือกำจัดหนูจะเป็นวิธีการที่ดี เพราะได้ประโยชน์ทั้งเรื่องการควบคุมสัตว์พาหะนำโรค และหมดปัญหาแมวจรจัดในเมืองแล้ว แต่ก็ได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโลกสังคมออนไลน์แดนมังกร
“แมวจากในเมืองไม่น่าจะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของทุ่งหญ้าได้ดีนัก และพวกมันอาจหนาวตายในช่วงฤดูหนาว” ชาวเน็ตจีนรายหนึ่ง ตั้งคำถามถึงสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของกองทัพแมวเหล่านั้น
หู อี้ว์คุน นักวิจัยด้านนิเวศวิทยาทุ่งหญ้า สถาบันนิเวศวิทยาและธรณีวิทยาของซินเจียง ก็แสดงคิดเห็นไปในทางเดียวกัน
เขากล่าวว่า “แมวเป็นสัตว์ที่ผู้คนมักนำมาเลี้ยงดู อาจบกับช่วงเวลายากลำบากในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าไม้เช่นนั้น”
“และหนูที่อาศัยอยู่ในทุ่งหญ้า ก็มีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น หนูตุ่นหรือหนูสีน้ำตาลขนาดใหญ่ ซึ่งพวกแมวอาจไม่คุ้นชิน และกลายเป็นเหยื่อของพวกหนูแทน”
นอกจากนี้ ชาวจีนบางส่วนยังกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบนิเวศวิทยา โดยเฉพาะการแทรกแซงห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติเดิมของพื้นที่
“สุดท้ายพวกนกตามธรรมชาติในทุ่งหญ้าที่กินหนูเป็นอาหารอาจทยอยล้มตายลง เพราะถูกพวกแมวแย่งไปจนหมด” ชาวเน็ตจีนรายหนึ่งกล่าว
อนึ่ง ในประเด็นการปรับตัว เจ้าหน้าที่กวน เผยว่า ได้สร้าง “บ้านแมว” ใกล้กับแหล่งน้ำเป็นการเฉพาะขึ้นมา และในช่วงฤดูหนาว ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์จะช่วยดูแลเรื่องอาหารให้กับพวกแมวเหล่านี้ อีกทั้งทางสถานีฯ ก็มีการฝึกพวกมันก่อนที่จะปล่อยให้เป็นนักล่าตัวจริง ดังนั้น พวกมันน่าจะมีภาวะการปรับตัวที่ดีกว่าเดิมยิ่งขึ้น
“หากแมวสามารถพิสูจน์ได้ว่า พวกมันมีประสิทธิภาพเพียงพอ สิ่งสำคัญที่ต้องคิดต่อมาก็คือ การรักษาสมดุลของห่วงโซ่อาหารตามระบบนิเวศวิทยาทุ่งหญ้าของพื้นที่” นักวิจัยหู อี้ว์คุน กล่าว