xs
xsm
sm
md
lg

จีนประสบภัยแล้งหนัก พื้นที่เพาะปลูกเสียหายนับล้านไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกษตรกรในเมืองเซ่าซิง มณฑลเจ้อเจียง มองดูพืชผักที่เหี่ยวเฉาใกล้ตาย หลังหลายพื้นที่ทางตอนกลางและตะวันออกของจีน ต้องประสบกับอากาศร้อนจัดและภัยแล้งอย่างรุนแรง (ภาพ - รอยเตอร์)
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่บริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกของแดนมังกร นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชาวจีน ยังก่อความเสียหายให้กับเรือกสวนไร่นาของเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมาก ล่าสุด ทางการสำรวจพบพื้นที่เพาะปลูกประสบปัญหาภัยแล้งกว่า 31 ล้านไร่แล้ว

รายงานข่าวกล่าวว่า สำนักงานบรรเทาภัยแล้งและควบคุมอุทกภัยแห่งชาติจีน ระบุ (12 ส.ค.) ว่า หลายพื้นที่ในมณฑลหูหนันและมณฑลกุ้ยโจวกำลังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำสะอาดไว้ใช้อุปโภคบริโภค ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 5 ล้านคน และสัตว์เลี้ยงอีกกว่า 2 ล้านตัว

สภาพอากาศร้อนจัดยังได้ส่งผลเสียต่อพื้นที่เพาะปลูกกว่า 6 ล้านไร่ในมณฑลกุ้ยโจว และอีกกว่า 85 เปอร์เซนต์ในมณฑลหูหนัน ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาท้องถิ่นเผยว่า ปริมาณน้ำฝนของช่วงฤดูฝนที่ควรเริ่มมีมาตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค.นั้น กลับอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 64 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ พืชผักของเกษตรกรในมหานครเซี่ยงไฮ้ และเมืองเซ่าซิงของมณฑลเจ้อเจียงต่างพากันทยอยล้มตายลง เพราะไม่สามารถทนต่ออากาศร้อน ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยพุ่งสูงถึง 40 องศาเซลเซียสในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หยั่งผลให้ราคาพืชผักตามท้องตลาดถีบตัวสูงขึ้นเป็น 2 เท่าจากปีก่อน

“ภาครัฐควรใส่ใจแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้มากขึ้น เนื่องจากมันได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ดังเห็นได้จากพื้นที่การเกษตรเล็กๆ ในมณฑลกุ้ยโจว ลุกลามไปถึงแหล่งเพาะปลูกข้าวสำคัญตามลุ่มน้ำแยงซีเกียง” หม่า เหวินเฟิ่ง นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจการเกษตรในปักกิ่ง กล่าว

ทั้งนี้ สำนักอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติจีน ได้ประกาศภาวะภัยแล้ง ระดับสีเหลือง (ระดับ 3) อันเป็นระดับปกติ เมื่อวานนี้ (12 ส.ค.) พร้อมระบุว่า จะยังไม่มีฝนตกในพื้นที่ประสบภัยจนถึงอย่างน้อยในวันพรุ่งนี้

ทว่า ในพื้นที่ทางตะวันเฉียงเหนือของจีน อันเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวสำคัญของแดนมังกร กลับมีการประกาศเตือนภัยประชาชน ให้ระมัดระวังเหตุน้ำท่วมฉับพลัน หลังมีฝนตกอย่างต่อเนื่องมากว่า 60 วัน ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแม่น้ำสายย่อยตามลุ่มแม่น้ำซงฮวา มีระดับสูงเกินเส้นเตือนภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น