เอเยนซี - กลุ่มนักโบราณคดีจีนสันนิษฐานสัญลักษณ์สลักบนเศษชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องมือหิน ที่ค้นพบในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของมณฑลเจ้อเจียง อาจเป็นอักษรจีนที่เก่าแก่ที่สุดของอารยธรรมจีน หากการพิสูจน์ฯยืนยันว่าสัญญลักษณ์เหล่านี้คืออักษรจีน ก็จะลบประวัติศาสตร์ที่ขณะนี้ระบุว่า อักษรจารึกบนกระดองเต่าคือ อักษรที่เก่าแก่ที่สุด
รายงานข่าวเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า คณะนักโบราณคดีและนักภาษาศาสตร์ของจีน แถลงผลการวิเคราะห์ สัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่บนเศษชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องมือหินที่ขุดพบ ณ สุสานฝังศพจวงเฉียว หมู่บ้านฉุนเฟิง อำเภอหลินไต้ เมืองผิงหู มณฑลเจ้อเจียง ระหว่างปี 2546 - 2549 ซึ่งเป็นความร่วมมือทางโบราณคดีระหว่างศูนย์วิจัยโบราณคดีแห่งมณฑลเจ้อเจียง กับพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองผิงหู มณฑลเจ้อเจียง
หลักฐานทางโบราณคดีชิ้นใหม่นี้ มีลักษณะเป็นเศษชิ้นส่วนของเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องมือขวานหินยุคโบราณ ปรากฏชุดสัญลักษณ์ที่แกะสลักเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบ บ้างก็รวมตัวกันอย่างซับซ้อน หรือแยกตัวอยู่เหมือนคำศัพท์ทั่วไป
สู ซินหมิน นักวิจัยจากศูนย์วิจัยโบราณคดีแห่งมณฑลเจ้อเจียง ผู้เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยศึกษา “โบราณวัตถุจวงเฉียว” ชิ้นนี้ อธิบายว่า เมื่อนำชุดสัญลักษณ์ที่พบมาเขียนลงในกระดาษแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่า ชุดสัญลักษณ์ดูคล้ายการเล่าเรื่องราวเรื่องหนึ่ง จุดเด่นอยู่ที่ชุดสัญลักษณ์ 6 ตัว ซึ่งแต่ละตัวมีลำดับขีดการเขียนไม่เกิน 5 ขีด และมีสัญลักษณ์ 2 ตัว ที่ลักษณะคล้ายตัวอักษรจีน “มนุษย์” (人) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
จากการประชุมร่วมกันของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีและภาษาศาสตร์ของจีน ณ เมืองผิงหู มณฑลเจ้อเจียง เมื่อวันเสาร์ (6 ก.ค.) ที่ผ่านมา กลุ่มผู้เชี่ยวชาญฯ สันนิษฐานว่า ชุดสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนเศษชิ้นส่วนของโบราณวัตถุที่ขุดพบนี้ น่าจะเป็นชุดตัวอักษรจีนโบราณ สมัยอารยธรรมเหลียงจู (良渚) อันเป็นอารยธรรมโบราณที่ดำรงอยู่เมื่อ 5,000 ปีก่อน
หลี่ ปั๋วเชียน ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวกับโกลบอล ไทมส์ สื่อทางการจีนว่า “รูปแบบการผสมผสานของชุดสัญลักษณ์ที่ค้นพบนั้น แสดงให้เห็นว่าผู้คนในอารยธรรมเหลียงจู่ ได้คิดค้นและพัฒนาโครงสร้างประโยคพื้นฐานจากคำศัพท์เดี่ยวๆ ได้แล้ว”
“การค้นพบครั้งนี้ มีความหมายสำคัญต่อกระบวนการศึกษาอารยธรรมจีนโบราณอย่างมาก อีกทั้งเป็นสิ่งล้ำค่าที่เราจะใช้เรียนรู้โครงสร้างและรูปแบบสังคมในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี” หลิว เจา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอักขระจีนโบราณแห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น เซี่ยงไฮ้ กล่าวกับสื่อชั้นนำของอังกฤษ การ์เดียน (The Guardian)
ก่อนหน้านี้ นักประวัติศาสตร์จีนต่างเห็นพ้องกันว่า ตัวอักษรเจี๋ยกู่เหวิน (甲骨文) อายุ 3,600 ปี ที่แกะสลักบนกระดองเต่าในสมัยราชวงศ์ซัง (商朝) ของจีน ถือเป็นตัวอักษรจีนโบราณที่มีความเก่าแก่มากที่สุด ทว่า การค้นพบหลักฐานชิ้นใหม่นี้ ได้เปิดประวัติศาสตร์จีนบทใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มกลับเห็นค้านข้อสันนิษฐานดังกล่าว
“สัญลักษณ์เหล่านี้อาจมีลักษณะทางภาษาปรากฏอยู่ แต่มันดูเป็นการรีบร้อนเกินไปที่จะนำไปเปรียบเทียบกับชุดอักษรเจี๋ยกู่เหวิน ที่มีความเป็นระบบทางภาษามากกว่า” หวัง เจี้ยนจิน ผู้เชี่ยวชาญทางนิรุกติศาสตร์ (Philology) จากสถาบันประวัติศาสตร์จีนแห่งมหาวิทยาลัยเจิ้งโจว กล่าวกับสื่อจีนแห่งหนึ่ง