xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ 7 ปีมานี้ ทิเบตกว่า 2 ล้านคน ถูกรัฐบาลสั่งย้ายถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลามะกำลังจุดธูปในวัดไนมู เมืองจาเรน เขตอานดัว ในเขตปกครองตนเองชนชาติทิเบต (ภาพซินหวา)
เอเอฟพี - กลุ่มสิทธิมนุษยชน เผย ชาวทิเบตในจีนกว่า 2 ล้านคนถูกบีบบังคับให้ย้ายถิ่นที่อยู่ใหม่ ตามโครงการสนับสนุนของรัฐบาลจีน ซึ่งถือเป็นการทำลายวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม ตลอดจนวิถีชนบทของชาวทิเบต

โซฟี ริชาร์ดสัน ผู้อำนวยการกลุ่มติดตามสิทธิมนุษยชนในจีน เผยในรายงานว่า "ในช่วงยุคหลังการปกครองของเหมา เจ๋อตงเป็นต้นมา รัฐบาลจีนมีนโยบายเร่งเร้าให้ชาวทิเบตในชนบทย้ายถิ่นฐานจำนวนมากอย่างคาดไม่ถึง"

"ชาวทิเบตไร้สิทธิ์ในการออกนโยบายต่าง ๆ ทว่านโยบายที่ออกโดยรัฐบาลกลับมาทำให้วิถีชีวิตพวกเขาเบี่ยงเบน โดยที่พวกเขาไร้หนทางต่อสู้" เธอกล่าว

ข้อมูลสถิติของเจ้าหน้าที่จีนระบุว่า นับแต่ปี 2549 จนถึง 2555 ที่ผ่านมา ยอดชาวทิเบตที่ย้ายที่อยู่อาศัยไปยังที่ใหม่ หรือทำการก่อสร้างแหล่งพำนักใหม่นั้นมีจำนวนราว 2 ล้านคน

รายงานระบุว่า จำนวนผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายดังกล่าวมีมากถึง 2 ใน 3 จากจำนวนชาวทิเบตที่อยู่ในเขตปกครองตนเองทั้งหมด

นอกจากนั้น ชาวทิเบตเลี้ยงสัตว์ที่ร่อนเร่อยู่นอกเขตปกครองตนเองฯ จำนวนหลายแสนคน อาทิ ในมณฑลชิงไห่ ก็ยังทำการอพยพย้ายถินด้วย รายงานระบุ (27 มิ.ย.)

กลุ่มติดตามสิทธิมนุษยชนอ้างการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2553 ระบุว่า ชาวทิเบตประมาณ 6.2 ล้านคนอาศัยอยู่ในจีน ส่วนเฉพาะที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองทิเบตมีจำนวน 2.7 ล้านคน

กลุ่มสิทธิมนุษยชนในนิวยอร์กเผยรายงาน 116 หน้า อ้างเรื่องการละเมิดต่าง ๆ อาทิ การขาดการให้คำปรึกษา และการอุดหนุนที่เหมาะสม คุณภาพเรื่องการจัดการที่อยู่อาศัย และความไม่แยแสสิทธิของชาวทิเบตพื้นถิ่น

รัฐบาลจีนออกมาถล่มรายงานฉบับดังกล่าวทันควัน

"ความจริงที่เกิดขึ้นก็คือ ทิเบตได้มีการพัฒนาขนานใหญ่ ก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในช่วงทศวรรษนี้" หวา ชุนอิ้ง โฆษกหญิงกระทรวงต่างประเทศจีนออกมาเผย (27 มิ.ย.)

รายงานของกลุ่มติดตามสิทธิมนุษยชนออกมา ขณะที่กลุ่มเรียกร้องเพื่อทิเบต ตลอดจนสื่อสหรัฐฯ ได้พยายามเรียกร้องให้จีนทบทวนนโยบายบางแง่มุมที่มีต่อทิเบตเสียใหม่

อย่างไรก็ดี เนื้อหาในรายงานระบุว่า รัฐบาลกำลังจะอนุญาตให้ประชาชนสามารถแสดงความเคารพต่อองค์ทะไลลามะ ผู้นำทางศาสนาและจิตวิญญาณของทิเบตได้แบบมีข้อจำกัด และกำลังจะยุติการประณามทะไลลามะ อย่างไรก็ดี ไม่ว่าสัญญาณการผ่อนคลายเหล่านี้จะมีแนวโน้มไปในทางใด รัฐบาลจีนก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่นอน

ทะไลลามะหลบหนีออกจากทิเบตหลังจากล้มเหลวในการลุกขึ้นประท้วงการปกครองของจีนในปี 2502 และต่อมาได้ไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ในอินเดีย

จีนได้ประณามทะไลลามะว่าเป็นนักแบ่งแยกดินแดน ต่อต้านจีน

สถานีวิทยุฟรีเอเชียรายงานเมื่อวันพุธ (26 มิ.ย.) ว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลในชิงไห่และซื่อชวน (เสฉวน) กำลังอนญาตให้ลามะสามารถแสดงความเคารพต่อทะไลลามะและผู้นำทางศาสนาได้ โดยมีเงื่อนไขว่าไม่ใช่การเคารพในตำแหน่งทางการเมือง

กลุ่มฟรีทิเบต ซึ่งมีฐานในลอนดอนเผยว่า (27 มิ.ย.) ลามะในอารามที่ลาซ่า เมืองเอกของทิเบต ก็ได้รับอนุญาตให้สามารถประดับรูปของทะไลลามะได้ หลังจากที่รัฐบาลจีนสั่งห้ามประดับรูปมาเป็นเวลานานถึง 17 ปี

โรเบิร์ต บาร์เนต ผู้อำนวยการโครงการทิเบตศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยโคลอมเบีย เผยว่า การอนุญาตให้ประดับรูปทะไลลามะเป็นเพียงนัยยะที่เล็กน้อย เพราะรัฐบาลจีนยังไม่ได้ออกประกาศมาเป็นกฎฯ ที่ชัดเจน หรือหากว่าจีนจะออกมาพลิกนโยบายแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ก็จะทำให้จีนเสียภาพลักษณ์อย่างมาก เนื่องจากสองทศวรรษมานี้ปฏิบัติต่อทิเบตอย่างเข้มงวด

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯเผย (27 มิ.ย.) ทูตสหรัฐฯ ประจำจีน แกรี ล็อก ได้เดินทางเยือนทิเบตในสัปดาห์นี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลจีนเปิดพื้นที่ให้แก่การท่องเที่ยวและเพื่อการทูตด้วย

อย่างไรก็ดี ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกจากเดือนก.ย. ปี 2553 ที่ปักกิ่งอนุญาตให้ทูตสหรัฐฯ เดินทางไปทิเบตได้
กำลังโหลดความคิดเห็น