เอเยนซี - โครงการสำรวจใต้สมุทรจีนประสบความสำเร็จอีกขั้น หลังดำดิ่งระดับ 1,000 เมตร ทดสอบระบบระบุพิกัดตำแหน่งใต้น้ำ และฝึกซ้อมเทคนิคการควบคุมทิศทางตามโขดหินใต้น้ำ
สื่อจีนรายงาน (18 มิ.ย.) ว่ายานดำน้ำพร้อมนักสมุทรศาสตร์และทีมนักประดาน้ำ "เจียวหลง" ประสบความสำเร็จในการดำเนินการทดลองเชิงประยุกต์ครั้งแรก โดยวัตถุประสงค์ของการดำน้ำครั้งนี้คือ ทดสอบระบบระบุพิกัดตำแหน่งใต้น้ำ ซึ่งใช้เวลาในการดำน้ำกว่า 4 ชั่วโมง ใต้ระดับความลึกกว่า 1,000 เมตร
รายงานข่าวกล่าวว่า นักสมุทรศาสตร์ชาวจีน 14 คน ได้เข้าประจำการยานดำน้ำ "เจียวหลง" และลงน้ำเมื่อเช้าวันที่ 17 มิ.ย. เพื่อปฏิบัติภารกิจ 4 ชั่วโมง ทดสอบระบบกำหนดพิกัดเรือดำน้ำ ในระดับน้ำลึก 1,000 เมตร ก่อนจะกลับขึ้นมาในเย็นวันเดียวกัน นับเป็นความสำเร็จอีกขีดขั้นของการสำรวจใต้สมุทรจีน หลังจากก่อนหน้านี้ ยานดำน้ำ"เจียวหลง" นี้ ได้ทำลายสถิติดำน้ำลึกถึง 7,062 เมตร โดยมีนักสำรวจ 3 คน ลงไปพร้อมกันด้วย
นายหูเจิ้น รองผู้บัญชาการการทดลองครั้งนี้ กล่าวว่า ภารกิจล่าสุดของยานดำน้ำนี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือตรวจสอบสภาวะการทำงานของเรือดำน้ำ - ทดสอบระบบระบุพิกัดตำแหน่งใต้น้ำลึก และฝึกซ้อมเทคนิคการควบคุมทิศทางตามโขดหินใต้น้ำ
ทั้งนี้ ยานดำน้ำ"เจียวหลง" จะยังมีภารกิจในโครงการสำรวจระบบนิเวศวิทยา -ชีววิทยาในทะเลจีนใต้ และสำรวจทางธรณีวิทยาทางตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นเวลา 113 วัน