xs
xsm
sm
md
lg

'สามก๊ก' การเมืองจีน ฉบับปี 2556 (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: น้ำทิพย์ อรรถบวรพิศาล

การมรณกรรมของเหมา เจ๋อตง (毛泽东) และการศูนย์เสียอำนาจของบุคคลรอบตัวเขา ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ให้กับประเทศจีน บทเรียนจาก 10 ปีแห่งความวิบัติทางสังคมในยุค ‘ปฏิวัติวัฒนธรรมกรรมาชีพอันยิ่งใหญ่’ (文化大革命 หรือ The Great Proletarian Cultural Revolution) ส่งผลให้ประชาชนเริ่มละทิ้งแนวคิด ‘ซ้ายจัด’ และเตรียมพร้อมสำหรับการแสวงหาครั้งใหม่ ดังปรากฎชัดจากกระแสต่อต้านหลักการ ‘สองอะไรก็ตาม’ (两个凡是 หรือ two whatevers หมายถึง การตัดสินใจอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นโดยประธานเหมา เจ๋อตง ทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติตามอย่างไม่มีข้อแม้ และคำชี้แนะอะไรก็ตามที่ออกมาจากประธานเหมา เจ๋อตง ทุกคนต้องนำไปปฏิบัติให้เป็นจริงมากที่สุด) ที่เสนอโดยฮวา กั๋วเฟิง (华国锋) นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ครั้งใหญ่เกี่ยวกับ ‘มาตรฐานชี้วัดสัจธรรม’ นักปฏิวัติรุ่นเก่าสมัยสงครามต่อสู้เพื่อปลดแอกประเทศจีน ต่างสนับสนุนการสร้างสรรค์ระบบเศรษฐกิจของประเทศ บนพื้นฐานการยอมรับสภาพความเป็นจริงของสังคม ดังเช่นคำกล่าวของเติ้ง เสี่ยวผิง (邓小平) ในที่ประชุมด้านการเมืองแห่งกองทัพจีน เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2521 ความว่า “ลัทธิมาร์กซ์เป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ตายตัว สิ่งสำคัญคือ ต้องนำไปพิจารณาควบคู่กับสถานการณ์หรือปัญหาเฉพาะทาง”

ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการกลางเต็มคณะครั้งที่ 3 สมัยที่ 11 เมื่อวันที่ 18-22 ธ.ค. 2521 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้สร้างคณะผู้นำประเทศรุ่นที่ 2 โดยมีเติ้ง เสี่ยวผิงเป็นแกนนำ พร้อมกันนี้ได้มีมติให้เน้นระบบบริหารจัดการใน ‘คณะบุคคล’ เป็นหลัก แทนการยกย่องเชิดชูเฉพาะ ‘ตัวบุคคล’ และผลักดัน ‘สี่ทันสมัย’ (四个现代化หรือ Four Modernizations) อันได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การทหาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เป็นยุทธศาสตร์สร้างชาติ แทน ‘การต่อสู้ทางชนชั้น’ (阶级斗争 หรือ class struggle)

ทางด้านการเมือง เติ้ง เสี่ยวผิง เริ่มต้นปฏิรูปด้วยการปรับปรุงโครงสร้างผู้นำประเทศ ยุบตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เคยมีมานานกว่า 30 ปี และให้เลขาธิการพรรคฯ ครองตำแหน่งสูงสุดแทน (เติ้ง เสี่ยวผิง ปฏิเสธการดำรงตำแหน่งสำคัญนี้ เปิดทางให้หู เย่าปัง (胡耀邦) ขึ้นแท่น) ยกเลิกระบบผู้นำองค์กรตลอดชีพ กำหนดวาระทางการเมือง สร้างระบบเลือกตั้ง สอบคัดเลือก และประเมินผลงานสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐในระดับผู้นำ เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญ ขึ้นมามีบทบาทในฐานะ '3 ตัวแทน' อันได้แก่ ตัวแทนพลังการผลิตที่ก้าวหน้าของสังคม ตัวแทนวัฒนธรรมที่ก้าวหน้าของสังคม และตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชน
หู เย่าปัง (ซ้าย) ขณะกำลังเจรจาพาทีกับเติ้ง เสี่ยวผิงในปี 2525 (ภาพ เวบไซต์ข่าวพรรคคอมมิวนิสต์จีน)
อนึ่ง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2525 หลี่ เซียนเนี่ยน (李先念) ได้รับเลือกให้เป็นประธานแห่งรัฐ (หลังจากตำแหน่งนี้ว่างมา 17 ปี นับแต่สมัยหลิว ส้าวฉี (刘少奇) ถูกขบวนปฏิวัติวัฒนธรรมปลดจากตำแหน่ง ด้วยข้อหาฝักใฝ่แนวทางทุนนิยม) และส่งมอบบัลลังก์ให้กับหยัง ซั่งคุน (杨尚昆) ทันทีเมื่อครบวาระ 5 ปี อันเป็นช่วงเดียวกับที่หลี่ เผิง (李鹏) บุตรบุญธรรมของโจว เอินไหล ดำรงตำแหน่งนายกฯ

ทางด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลจีนใช้การปฏิวัติวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีครั้งใหม่ และการผงาดขึ้นของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นบันไดให้จีนก้าวไปสู่การ ‘เปิดประเทศ’ เพื่อต้อนรับการลงทุน นำเข้าเทคโนโลยี และปล่อยสินค้าออกสู่ตลาดโลก ผ่านการดำเนินนโยบาย ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ (一国两制 หรือ One Country, Two System) รวมจีนเป็นหนึ่งเดียว แต่อนุญาตให้เขตอิสระฮ่องกง มาเก๊า และไถวัน (ไต้หวัน) สามารถจัดการระบบการเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจและการเงินของตนเองได้ ตลอดจนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (经济特区หรือ Special Economic Zones) 5 แห่ง การประกาศให้ 14 เมืองของพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นเมืองที่มีความเสรีด้านเศรษฐกิจการค้า การประกาศให้พัฒนาลุ่มแม่น้ำแยงซี สามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง และพื้นที่สามเหลี่ยมที่ประกอบด้วยเมือง ซย่าเหมิน ฉวนโจว และฉางโจวเป็นเขตเสรีด้านเศรษฐกิจริมชายฝั่งทะเล

สำหรับภาคเกษตรกรรม ปลายปี 2526 รัฐบาลจีนได้ประกาศใช้ ‘ระบบรับเหมาในครัวเรือน’ (家庭联产承包责任制 หรือ Household Contract Responsibility System) เปิดโอกาสให้ครอบครัวเกษตรกรรับเหมาผลิตพืชผลตามขีดความสามารถ เมื่อตัดส่วนที่ต้องผลิตให้กับรัฐแล้ว ที่เหลือถือเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล สามารถนำไปจำหน่ายเองได้ ส่งผลให้กำลังการผลิตที่ถูกจำกัดในระบบ ‘สหกรณ์ประชาชน’ (人民公社หรือ People’s Commune) ได้รับการปลดปล่อย ศักยภาพทางการเกษตรพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ส่วนภาคอุตสาหกรรม ก็ลดอำนาจของส่วนกลางในการวางแผนและควบคุมการผลิต ปล่อยให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบกำไรขาดทุนเอง โดยรัฐจะดูแลและอุดหนุนเฉพาะอุตสาหกรรมหนักที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจเท่านั้น
โปสเตอร์รำลึกความรุ่งโรจน์จากนโยบายเปิดประเทศของ เติ้ง เสี่ยวผิง (ภาพ เวบไซต์โปสเตอร์จีน)
การยอมรับผลประโยชน์ทางวัตถุ เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจ ตลอดจนการอนุญาตให้ ‘มือที่มองไม่เห็น’ หรือกลไกของอุปสงค์-อุปาทานเข้ามามีบทบาท นอกเหนือจากการวางแผนของรัฐ ได้สร้างความคึกคักทางเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนแล้ว นับแต่ปี 2521 ถึงปี 2542 รายได้ของประชากรจีนเพิ่มขึ้น 6.6% ทุกปี แซงหน้าสถิติรายได้ของประชากรในประเทศยุโรปและอเมริกาที่เพิ่มขึ้นเพียง 1.8% ต่อปีเท่านั้น ทั้งยังมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 9.7 ต่อปี มากกว่าเป้าหมายในการพัฒนาที่เติ้ง เสี่ยวผิงตั้งไว้ถึงร้อยละ 2.5 และมีปริมาณเงินทุนจากต่างประเทศสูงเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์ ‘คลำก้อนหินข้ามคลอง’ (摸着石头过河 หรือ to cross the river by grasping the stones) ก็ได้ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อ การฉ้อราษฎร์บังหลวง ช่องว่างของรายได้ระหว่างเขตชายฝั่งที่มีการลงทุนของต่างชาติกับมณฑลภายใน ตลอดจนถึงความแตกต่างระหว่างการรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองกับการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยให้เหล่าปัญญาชนที่ได้รับอิทธิพลจาก ‘กระแสลมตะวันตก’ ลุกขึ้นเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลจีนผลักดันให้ดำเนินเศรษฐกิจตามแบบเสรีนิยม และเรียกร้องสิทธิประชาธิปไตยแบบตะวันตกในปี 2532
ปัญญาชนหัวเสรีเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลจีนผลักดันให้ดำเนินเศรษฐกิจตามแบบเสรีนิยม และเรียกร้องสิทธิประชาธิปไตยแบบตะวันตกในปี 2532 (ภาพเวบไซต์ เอเชียนิวส์)

แรงกดดันทางสังคมดังกล่าว บีบรัดให้กลุ่มผู้นำอาวุโสในพรรคคอมมิวนิสต์จีน จำต้อง ‘เปลี่ยนม้ากลางเชี่ยว’ ท่าทีรอมชอมและดูเหมือนมีอารมณ์ร่วมกับกลุ่มปัญญาชนหัวเสรีของหู เย่าปัง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่เพียงส่งผลให้เขาถูกปลดจากตำแหน่งบริหารพรรคฯ แม้แต่ตำแหน่งว่าที่ประธานแห่งรัฐ ก็ตกเป็นของม้ามืดเจียง เจ๋อหมิน (江泽民) สมาชิกคณะกรรมการกรมการเมืองธรรมดาๆ ทว่า มีจุดยืนอันหนักแน่นต่อการใช้มาตรการแข็งกำราบกลุ่มปัญญาชนหัวเสรี เพื่อปกป้องฐานะการนำของพรรคฯ และมีเจตนาที่พร้อมจะสานต่อ ‘ทฤษฎีเติ้ง เสี่ยวผิง’ (邓小平理论) คงไว้ซึ่ง ‘ระบบตลาดสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน’ (中国特色社会主义市场经济 หรือ socialist market economy with Chinese characteristic) ต่อไป

คลิกอ่าน: 'สามก๊ก' การเมืองจีน ฉบับปี 2556 (ตอนที่ 1)
กำลังโหลดความคิดเห็น