xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าการทิเบตคนใหม่ ยึดมั่นอุดมการพรรคคอมมิวนิสต์เป๊ะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายโลซัง เกียลเซน ( Losang Gyaltsen) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า โลซัง  จัมคัน ( Losang Jamcan) ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองทิเบตคนใหม่และอดีตนายกเทศมนตรีกรุงลาซาระหว่างให้สัมภาษณ์ ที่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2544 –รอยเตอร์
รอยเตอร์ - จีนแต่งตั้งชาวทิเบตผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้ว่าการเขตปกครองตนเองทิเบตคนใหม่ ส่งสัญญาณว่า รัฐบาลไม่มีแผนผ่อนคลายการปกครองควบคุม ที่เข้มงวดในภูมิภาคบนเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้อย่างแน่นอน

นายโลซัง เกียลเซน ( Losang Gyaltsen) วัย 55 ปี ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการในการปิดการประชุมสมัชชาภูมิภาคประจำปี ซึ่งเป็นสภาตรายางของทิเบตเมื่อวันอังคาร (29 ม.ค.) สืบแทนนายพัดม่า โชลิง ( Padma Choling) ผู้ว่าการเขตปกครองทิเบตคนก่อน

นายโลซัง เกียลเซนเคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงลาซา และเคยผ่านการศึกษาอบรมทฤษฎีมาร์กซิสต์ โดยตำแหน่งผู้ว่าการขึ้นตรงต่อนายเฉิน ชวนกั๋ว เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเขตปกครองตนเองทิเบต ซึ่งเป็นหัวหน้าสูงสุดที่นี่
คณะผู้แทนจากทิเบตถ่ายรูปที่หน้ามหาศาลาประชาชนกรุงปักกิ่งระหว่างริ่มการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนเครั้งที่ 18 ที่มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 8 พ.ย 2555 นายโลซัง เกียลเซนยืนอยู่แถวหลังคนที่ 3 จากซ้าย – รอยเตอร์
วูเซอร์ ( Woeser) นักเขียนชาวทิเบตชื่อดังระบุว่า นายโลซัง เกียลเซนเป็นคน ที่ค่อนข้างยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ในระดับนี้ก็เป็นเหมือนกันหมด

“จะไม่มีการเปลี่ยนอย่างแท้จริงเกิดขึ้นในทิเบต” เขากล่าว

ผู้ว่าการทิเบตคนใหม่ประกาศต่อหน้าที่ประชุมสมัชชาประจำปีว่า คณะผู้บริหารของเขาจะต่อสู่อย่างเด็ดเดี่ยวกับทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณพลัดถิ่นของทิเบต ซึ่งถูกจีนกล่าวหาว่าสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนโดยการใช้ความรุนแรง เพื่อปกป้องความเป็นปึกแผ่นของแผ่นดินแม่ ตลอดจนเสถียรภาพและความปรองดองในทิเบต

ตำแหน่งในทิเบตนับเป็นตำแหน่งน่าท้าทายที่สุดตำแหน่งหนึ่งสำหรับเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน และยังอาจเป็นบันไดก้าวไปสู่ตำแหน่ง ที่สูงขึ้นในอนาคต หากมีการตัดสินว่า ปฏิบัติงานเป็นที่น่าพึงพอใจ โดยประธานาธิบดี หู จิ่นเทาเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขาเขตปกครองตนเองทิเบตในระหว่างปี 2531-2535 หรือนายหู ชุนหวา ดาวรุ่งการเมือง ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขามณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) เมื่อเร็ว ๆ นี้ และมองกันว่า มีแววเป็นประธานาธิบดีในกาลข้างหน้า ก็เคยผ่านประสบการณ์ในทิเบตมานานราว 2 ทศวรรษ

การปกครองทิเบตตามปกติก็เข้มงวดอยู่แล้ว แต่รัฐบาลปักกิ่งได้เพิ่มความเข้มงวดกวดขันมากขึ้น หลังจากเกิดเหตุชาวทิเบตจุดไฟเผาตัวตายประท้วงการปกครองของจีนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งมีชาวทิเบตอาศัยหนาแน่นนอกภูมิภาค ที่จีนเรียกว่าเขตปกครองตนเองทิเบตก็ตาม โดยนับตั้งแต่การประท้วงเริ่มขึ้นเมื่อปี 2552 มีชาวทิเบตจุดไฟเผาตัวเองเกือบ 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิต

แม้มีการคาดหวังกันว่า การปราบปรามผู้ประท้วงในทิเบตอาจผ่อนคลายขึ้น เมื่อนายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีจีนในเดือนมีนาคมนี้ แต่เคต ซอนเดอร์ส นักสิทธิมนุษยชนของกลุ่มรณรงค์ระหว่างประเทศ เพื่อทิเบต (International Campaign for Tibet) กลับมองว่า การปราบปรามอาจเลวร้ายกว่าเดิมในการเริ่มต้นการปกครองประเทศ เนื่องจากนายสีต้องการสร้างฐานการปกครองของเขาให้แน่นหนาเสียก่อน และหลังจากนั้น สถานการณ์ก็อาจจะดีขึ้น

ทั้งนี้ บิดาของนายสีคือนายสี จงซุ่น อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผู้มีหัวเสรีนิยม มีความผูกพันใกล้ชิดกับองค์ทะไลลามะ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จลี้ภัยในปี 2502 หลังจากชาวทิเบตลุกฮือโค่นล้มการปกครองของจีนประสบความล้มเหลว
กำลังโหลดความคิดเห็น