เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - นักแสดงหนังกังฟูจีนผู้เลื่องชื่อ "เฉินหลง" หรือแจ๊คกี้ ชาน ขณะนี้กำลังถูกวิจารณ์ เนื่องจากไปแสดงความคิดเห็นว่า เสรีภาพในการเดินขบวนเรียกร้องของชาวฮ่องกงมากเกินไป ควรจะจำกัด
ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองในรอบสามปีที่ดารากังฟูอย่างเฉินหลงออกมาพูดวิจารณ์ว่าควรจะจำกัดเสรีภาพในฮ่องกง ซึ่งเป็นเมืองแดนเกิดของเขาเอง
เฉินหลงให้สัมภาษณ์กับเซาเทิร์นพีเพิล วีคลี่ ในก่วงโจวเมื่อวันอังคาร (11 ธ.ค.) ว่า ฮ่องกงกลายเป็นเมืองของการประท้วงไปเสียแล้ว ก่อนหน้านี้คนทั้งโลกบอกว่าเมืองประท้วงอยู่ที่เกาหลีใต้ ทว่าปัจจุบันนี้มันกลายเป็น "ฮ่องกง" ไปแล้ว "ประชาชนตะโกนด่าทอผู้นำ หรืออะไรก็ตามที่พวกเขาต้องการ และประท้วงต่อต้านทุกสิ่งทุกอย่าง"
เฉินหลงแนะว่า "เจ้าหน้าที่้รัฐบาลควรจะกำหนดเงื่อนไขว่า ประเด็นใดประชาชนสามารถประท้วงได้ หรือประเด็นใดไม่อนุญาตให้ประท้วง"
ในเดือนเม.ย. ปี 2552 เฉินหลงก็ถูกวิจารณ์ไปรอบหนึ่ง กรณีที่ให้สัมภาษณ์ในปั๋วเอ้าฟอรั่มฟอร์เอเชีย ในไห่หนาน (ไหหลำ) ที่ไปพูดว่า รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องควบคุมประชาชนชาวจีน
เมื่อถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการควบคุมการสร้างภาพยนตร์ในจีน เฉินหลงตอบว่า "ผมไม่ทราบว่าการควบคุมเสรีภาพหรือให้เสรีภาพอย่างไหนดีกว่ากัน ทว่า หากเสรีภาพมากจนเกินไปก็จะนำมาซึ่งความวุ่นวาย มันก็จะจบเห่แบบในไต้หวัน"
เฉินหลงยังพูดว่า เขาเริ่มมีความคิดว่า คนจีนจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุม มิฉะนั้นพวกเขาจะทำอะไรอย่างที่พวกเขาต้องการไปหมดเสียทุกอย่าง
เหลียง หมั่นเถา นักวิจารณ์ในฮ่องกงผู้เขียนคอลัมน์เผยแพร่ในแผ่นดินใหญ่เผยว่า คำกล่าวของเฉินหลงมีอคติไม่เป็นกลาง และจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดใหญ่หลวงต่อสังคมฮ่องกง "เฉินหลงไม่เคยเข้าใจเลยว่า เหตุไรคนฮ่องกงจึงออกมาเดินถนน เขาเพียงเข้าใจว่า อะไรที่รัฐบาลทำนั้นถูกต้องไปเสียทุกอย่าง"
ออเดรย์ ออ ยุท มี ประธานหญิงของพรรคซีวิคเผยว่า เธอตกใจมากเกี่ยวกับความเห็นของเฉินหลง "ฉันคิดว่าเป็นความอับอายของวงการภาพยนตร์ เนื่องจากเสรีภาพในการแสดงออกนั้นเป็นรากฐานของการทำธุรกิจของเฉินหลงเองด้วยซ้ำ "
ดีซอน หมิง นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเผยว่า "เหมือนกับว่าการใช้ชีวิตประจำวันของเฉินหลงจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนฮ่องกงเลย"
ดร. หม่า ง็อก นักรัฐบาลศาสตร์แห่งไชนีส ยูนิเวอร์ซิตี้ เผยว่า การแสดงความเห็นของเฉินหลง บ่งบอกว่าเขาไม่ได้ให้ความสนใจต่อปัญหาเลย "เฉินหลงไม่รู้ว่าเสรีภาพในการแสดงออกเป็นพื้นฐานของสังคมอารยะ"