เอเยนซี--หลัง จากที่เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ราชบัณฑิตยสถานแห่งสวีเดน ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี 2555 ให้กับนักเขียนชาวจีนนามปากกาว่า มั่ว เหยียน จนขณะนี้ทำให้ในจีน เกิดกระแส “มั่ว เหยียน ฟีเวอร์” ไปเสียแล้ว หนังสือของเขาขายดิบขายดี ร้านหนังสือหลายแห่งในจีนมีหนังสือไม่พอขาย
หนังสือของมั่ว เหยียน ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
ชาวจีนแห่ซื้อหนังสือของผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลฯ ท่านนี้ บางคนกล่าวว่า ตระเวนไปร้านหนังสือกว่า 4 แห่งในเมืองเกามี่ มณฑลซานตงซึ่งเป็นบ้านเกิดของมั่ว เหยียน แต่ซื้อได้เพียง 2 เล่มเท่านั้น นอกจากนี้ นักเรียนชั้นมัธยมปลายคนหนึ่ง กล่าวว่า สาเหตุที่ซื้อหนังสือมา เพราะอยากลองอ่านดู และคนซานตงได้รับรางวัลที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เป็นความภูมิใจมากเช่นกัน
ขณะนี้ หนังสือของมั่วเหยียนเริ่มขาดตลาดแล้ว จัง ซ์อลู่ว์ พนักงานร้านหนังสือซินหวา ในเมืองเหวยฟัง มณฑลซานตง เผยว่า ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (12 ต.ค.) จนถึงวันอาทิตย์ (13 ต.ค.) ลูกค้าที่มาซื้อมีจำนวนมาก ในคลังของร้านตอนนี้ไม่มีหนังสือแล้ว ก็เลยต้องสั่งเพิ่มอีกให้เพียงพอต่อความต้องการ
ร้านหนังสือหวังฟู่จิ่ง ในกรุงปักกิ่ง ก็ขายดีจนขาดตลาดเช่นกัน ชั้นหนังสือของมั่ว เหยียนว่างเปล่า ผู้จัดการร้านเผยว่า ต้องใช้เวลากว่า 10 วันจึงจะได้รับหนังสือที่สั่งเพิ่ม
นอกจากนี้ นายซาที่มาซื้อหนังสือ ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่ค่อยชอบมั่ว เหยียนหรอก แต่เพราะเขาได้รางวัลฯ ก็เลยลองซื้อไปอ่านดู” ส่วนนางเหยียน เคยอ่านผลงานของเขาบนอินเทอร์เน็ต รู้สึกประทับใจเรื่อง “ถาน เซียง สิง (檀香刑: Sandalwood Penalty)” พร้อมกล่าวว่า “ตัวละครที่มั่ว เหยียนแต่งขึ้นมานั้น เป็นจริง และวิจารณ์ธรรมชาติของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง”
หนังสือที่ขายทางอินเทอร์เน็ตก็ขายดิบขายดีเช่นกัน ทำให้อย่างเว็บไซต์ตังตังของจีนเริ่มส่งข้อความไปยังลูกค้า เพื่อดึงดูดให้มาซื้อทางเน็ตมากขึ้น
เย่ เสี่ยวโจว ผู้จัดการส่วนประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ตังตัง เผยว่า “เมื่อเร็วๆ นี้ ยอดจำหน่ายหนังสือของมั่ว เหยียน เพิ่มสูงขึ้นมาก เพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงปกติ แต่ละวันขายได้เกือบหมื่นเล่ม ตามประสบการณ์นั้น ผลงานของผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลฯ ในแต่ละปีนั้น ยอดขายทางเว็บฯ จะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น”
ในเว็บไซต์อะเมซอนนั้น ยอดขายหนังสือของมั่ว เหยียนไต่อันดับจาก 560 ขึ้นมาที่ 139 เพียงข้ามคืนเท่านั้น
ด้านสำนักพิมพ์บริษัทจิงเตี่ยนปั๋วเหว่ยที่มั่ว เหยียนเซ็นสัญญาด้วยเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เฉิน หลีหมิง ประธานบริษัทฯ กล่าวว่า บริษัทฯ จะทยอยตีพิมพ์หนังสือของมั่ว เหยียน โดยเพิ่มจำนวนจากหมื่นเล่ม เป็นหลายแสนเล่ม รวมทั้ง หนังสือเล่มใหม่อีก 4 เล่ม และฉบับรวมเล่ม นอกจากนี้ หนังสือเรื่อง “หว่อ เมิน เตอ จิงเคอ (我们的荆轲: Our Assassin Jing Ke)” ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลโนเบลฯ นั้น คาดว่าจะตีพิมพ์ภายในสิ้นเดือนนี้ (ต.ค.)
มั่ว เหยียน เกิดเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2498 นามเดิม ก่วน หมัวเย่ ภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองเกามี่ มณฑลซานตง สมัยประถมเขาต้องหยุดเรียนกลางคัน เคยทำไร่ทำนาอยู่หลายปี และยังเคยเป็นคนงานสักพักหนึ่ง เมื่อเดือนก.พ. 2519 ออกจากบ้านเกิด ลองทำงานด้านการเขียน จนเขาเริ่มออกผลงานเมื่อปี 2524 ผลงานชุดท้องถิ่น เต็มไปด้วยความรู้สึกซับซ้อนที่มีทั้ง “คิดถึงบ้านเกิด” และ “ตำหนิบ้านเกิด” จึงได้รับการขนานามว่า เป็นนักเขียน “วรรณกรรมตามหารากเหง้า”
ผลงานของมั่ว เหยียน เช่น “หง เกา เหลียง จยาจู๋ (红高粱家族: Red Sorghum)” “เฟิง หรู่ เฝย ถุน (丰乳肥臀: Big Breasts & Wide Hips)” “ถาน เซียง สิง (檀香刑: Sandalwood Penalty)” “วา (蛙: Frog)” “เซิง สื่อ ผี เหลา (生死疲劳: Life and Death Are Wearing Me Out)” “ซื่อ สือ อี เพ่า (四十一炮: Forty-one Bombs)” เป็นต้น นวนิยายเรื่อง “หง เกา เหลียง จยาจู๋” นำมาแปลเป็น 20 กว่าภาษา และตีพิมพ์ไปทั่วโลก และผู้กำกับชาวจีนชื่อดัง จัง อี้โหมว ได้นำวรรณกรรมเล่มนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ จนได้รับรางวัลระดับนานาชาติ เมื่อปีที่แล้ว (2554) นวนิยายเรื่อง “วา” ได้รับรางวัลวรรณกรรมเหมาตุ้น* ครั้งที่ 8
เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ราชบัณฑิตยสถานแห่งสวีเดน ประกาศให้มั่ว เหยียน ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปี 2555 ด้านมั่ว เหยียน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า “ในผลงานแรกๆ ของผม เรื่องราว ตัวละคร บางส่วนมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเอง บางส่วนมาจากประสบการณ์ของเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง บางส่วนเป็นเรื่องที่ผู้เฒ่าผู้แก่เคยเล่าให้ฟัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ดั้งเดิมและมีค่าที่สุด และข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผลงานช่วงแรกๆ ของผมสำเร็จลุล่วง”
ขณะมั่ว เหยียน เริ่มสร้างสรรค์งานเขียนเมื่อปี 2524 นั้น เคนซาบุโร โอเอะ นักเขียนชาวญี่ปุ่นที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เมื่อปี 2537 ได้กล่าวไว้ว่า “ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นักเขียนจีนจะได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมด้วย ในผลงานของเขา ในด้านการยกย่องชีวิตความเป็นอยู่ดั้งเดิม แสดงให้เห็นจากมุมมืดของมนุษย์ไปสู่อีกมุมหนึ่งที่พบกับความสว่างสดใส นำเอาชีวิตในชนบทและความรู้สึกต่อธรรมชาติมาเขียนลงในผลงาน มั่วเหยียนเขียนโดยคิดว่าตนเป็นเพียงประชาชนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ชีวิตที่เขารับรู้ทั้งหมดและความเจ็บปวดล้วนแล้วแต่เหมือนกับของชาวบ้าน”
* รางวัลวรรณกรรมเหมาตุ้น (茅盾文学奖: Mao Dun Literature Prize) เป็นรางวัลประเภทนวนิยาย ก่อตั้งโดยนักเขียนจีนชื่อดัง เหมา ตุ้น (ซึ่งบริจาคเงินส่วนตัวราว 250,000 หยวน) และสนับสนุนโดยสมาคมนักเขียนแห่งจีน เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์นวนิยายที่โดดเด่น มีการให้รางวัลครั้งแรกเมื่อปี 2525 และจะตัดสินทุกๆ 4 ปี