เอเยนซี่--แม้เศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้ได้พัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่ความเสี่ยงต่ออุทกภัยกลับมีมากกว่า ธากา เมืองหลวงของบังคลาเทศที่ยากจนเสียอีก ผลสำรวจงานวิจัยระบุ
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากสหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์ ร่วมมือกันศึกษาวิจัยเพื่อจัดอันดับความเสี่ยงภัยน้ำท่วมของเมืองต่างๆที่ตั้งอยู่ในเบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ 9 เมือง เช่น เซี่ยงไฮ้(จีน) ธากา(บังคลาเทศ) คาซาบลังกา(โมร็อกโก) บัวโนสไอเรส(อาร์เจนตินา) กัลกัตต้า(อินเดีย) อัมสเตอร์ดัม(เนเธอร์แลนด์)
สำหรับเกณฑ์การประเมินเพื่อจัดอันดับนี้ นอกจากปัจจัยด้านภูมิศาสตร์แล้ว ยังได้ประเมินปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วย รายงานผลการวิจัยถูกเผยแพร่ในนิตยสาร Natural Hazards ของอเมริกา
โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ได้จัดทำ “ดัชนีชี้วัดความเสี่ยงต่ออุทกภัยของเมืองแถบชายฝั่งทะเล” (Coastal City Flood Vulnerability Index -CCFVI)) จากปัจจัยพื้นฐานต่างๆได้แก่ ความเสี่ยงที่เผชิญอยู่ ความเปราะบางต่อผลกระทบ และการฟื้นตัวจากน้ำท่วม
ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยจากประเทศอังกฤษ ศจ.นิเกล ไรท์ (Nigel Wright) จากคณะวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยลีดส์(University of Leeds) เผยว่าวิธีการวิจัยปัจจุบันแบ่งเป็นสองมิติ “พวกเราพิจารณาความเสี่ยงทางกายภาพ ถ้าคุณอยู่ใกล้แม่น้ำก็มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วม"
“นอกจากนี้ ยังพิจารณาทั้งปัจจัยเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ อย่างเช่น รัฐบาลกลางหรือรัฐบาลในท้องถิ่นเอาใจใส่มาตรการปกป้องพลเมือง ตลอดจนลงทุนหลายๆรูปแบบเพื่อฟื้นฟูเมืองหลังจากประสบภัยน้ำท่วมอย่างไร”
ปัจจัยที่นำมาพิจารณายังรวมถึงอัตราส่วนของประชากรที่อาศัยใกล้ชายฝั่ง ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการฟื้นฟูเมืองหลังประสบภัยฯ การพัฒนาที่ไม่อาจควบคุมได้ตามเขตชายฝั่งว่ามีมากน้อยเท่าไหร่
ดัชนีวัดความเสี่ยงฯนี้ยังขยายกว้างไปถึงการพิจารณาด้านสังคมร่วมด้วย ศจ.ไรท์กล่าวว่า แม้แต่กลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเดียวกัน ก็ยังมีความเปราะบางแตกต่างกัน “อายุของผู้อยู่อาศัยก็เป็นปัจจัยหนึ่ง หากคุณอายุมากกว่า 65 ปีหรือน้อยกว่า 18 ปี ความเปราะบางของคุณก็มีมากกว่าคนในวัยทำงาน เพราะคุณจะไม่สามารถทำอะไรได้เลยนอกจากปกป้องตัวเองหรืออพยพออกไป”
นอกจากนี้ ประสบการณ์ในอดีต ยังมีผลต่อทัศนะคติต่อความเสี่ยงภัยน้ำท่วมด้วย
ศจ.ไรท์ตั้งข้อสังเกตอีกว่า “เมื่อเกิดน้ำท่วมในพื้นที่หนึ่งก็จะมีผลกระทบไปทั่วโลก เช่นโรงงานผลิตฮาร์ตดิสก์ในญี่ปุ่นหนีภัยสึนามิย้ายมาที่กรุงเทพฯ แต่ก็คิดไม่ถึงว่าต้องมาผจญกับภัยน้ำท่วมอีก ซึ่งต่อมาโรงงานก็ต้องปิดตัวลง ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนฮาร์ตดิสก์ ราคาฮาร์ตดิสก์จึงพุ่งสูงขึ้น”.