เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - การรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านโครงการการศึกษาระดับชาติของรัฐบาลในฮ่องกงปะทุขึ้นวานนี้ (29 ก.ค.) ผู้ชุมนุมชี้ไม่เอาข้อเสนอของภาครัฐฯ ที่จะมาจัดตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาตรวจสอบวิชาเรียนของนักเรียนฮ่องกง เนื่องจากเชื่อว่าเป็นการครอบงำจากรัฐบาลปักกิ่ง
“กลุ่มสกอลาริซึม” (Scholarism) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้แทนนักเรียน และ “กลุ่มผู้ปกครองห่วงใยการศึกษาชาติ” (National Education Parents Concern Group) ตลอดจนสมาพันธ์ครู เผยว่า พวกเขาจะไม่ยอมเข้าไปร่วมมือกับองค์กรใหม่ที่รัฐมนตรีหลิน เจิ้งหมิงเอ๋อ หรือ แครี แลม เป็นผู้ผลักดันนี้
กลุ่มผู้ประท้วงเผยว่า การเดินขบวนเคลื่อนไหวในครั้งนี้มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 90,000 คน ขณะที่ตำรวจประมาณตัวเลขออกมาว่าสูงสุดเพียง 32,000 คนเท่านั้น
ทั้งนี้นางแครี แลม กล่าว ณ สำนักงานใหญ่ที่ทำการรัฐบาลฮ่องกงในเขตแอดไมรัลตี้ หลังจากกลุ่มผู้ประท้วงกลุ่มแรกมาถึงบริเวณด้านหน้าสำนักงานฯ นางแลมไม่ได้อธิบายถึงกรอบโครงหรือหลักการก่อตั้งองค์กรของคณะกรรมาธิการตรวจสอบการศึกษาฯ ใหม่แต่อย่างใด
เธอกล่าวเพียงว่า รัฐบาลจะก่อตั้งองค์กรฯ ซึ่งจะสามารตอบสนองความต้องการของผู้คนอย่างกว้างขวางเพียงพอ ไว้สำหรับติดตามผลการเรียนในแต่ละรายวิชาของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง แลมเพิ่มเติมด้วยว่า ผู้ปกครองควรจะเชื่อครูบาอาจารย์ว่าสามารถให้การอบรมเลี้ยงดูและสามารถปลูกฝังความคิดที่สามารถตั้งคำถามต่อประเด็นต่าง ๆ และเป็นอิสระไม่ถูกครอบงำได้อย่างแน่นอน
แต่ โจซัว หวง จือเฟิง (Joshua Wong Chi-fung) ผู้ก่อตั้งกลุ่ม สกอลาริซึม เรียกร้องให้ล้มเลิกโครงการนี้ไปเสีย เขากล่าวว่า “การร่วมมือกับองค์กรฯ ก็เหมือนกับยอมรับวิชาเรียนจากกระทรวงศึกษาของแผ่นดินใหญ่ ซึ่งกลุ่มสกอลาริซึมไม่เห็นด้วยเสมอมา”
ขณะเดียวกัน อีวา เฉิน (Eva Chan Sik-chee) ผู้ก่อตั้งของกลุ่มผู้ปกครองห่วงใยการศึกษาชาติ เผยว่า “หลักสูตรการศึกษามีข้อบกพร่องในตัวมันเอง มันยังคงเป็นปัญหาอยู่ร่ำไป แม้ว่าจะมีการแก้ไขแล้วก็ตาม”
เธอเผยว่า รัฐบาลควรจะเริ่มปรึกษาหารือกันใหม่เกี่ยวกับวิชาเรียน ก่อนที่โรงเรียนจะเริ่มการสอนอย่างเป็นทางการในช่วงเปิดภาคการศึกษาเดือนกันยายนนี้
การเดินขบวนของประชาชนจากเขตวิกตอเรีย ปาร์ค ไปยังสำนักงานใหญ่รัฐบาลฯ มีการโบกสะปัดป้ายผ้ารณรงค์ นอกจากนั้นยังมีผู้ปกครองอุ้มบุตรหลานมาร่วมขบวน แม้ว่าอุณหภูมิจะร้อนขึ้นไปถึง 33 องศาเซลเซียส กลุ่มประท้วงได้ตั้งเพิงพักชั่วคราวให้ผู้ประท้วงได้ผ่อนคลาย และให้เด็ก ๆ ได้กินอาหาร
คาเรน คว็อก อดีตครูคนหนึ่งมาร่วมขบวนพร้อมด้วยลูกชายวัย 5 ขวบ แสดงความกังวลเกี่ยวกับสื่อการสอนในห้องเรียน ที่หลายโรงเรียนนำมาใช้ เช่น หนังสือคู่มือหลักของกรุงปักกิ่ง ซึ่งตีพิมพ์โดยศูนย์บริการการศึกษาแห่งชาติ ที่มีความคิดโน้มเอียงไปทางรัฐบาลปักกิ่ง
หนังสือดังกล่าววิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปไตยแบบสหรัฐฯ ว่าไร้ประสิทธิภาพ และชื่นชมพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า “เป็นเอกภาพ ไม่เห็นแก่ตัว”
โจซัว ถัง จากโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งเผยว่า “พวกเราไม่ต้องการให้ใครมาล้างสมอง พวกเราคิดเองเป็น”
คิว ลี นักสังคมสงเคราะห์ผู้เข้าร่วมการเดินขบวน เข็นรถลากลูกชายวัยละอ่อนมาด้วยเผยว่า “การศึกษาชาติแบบนี้ก็เหมือนกับนมที่ปนเปื้อนสารพิษ พร้อมที่จะเป็นพิษสู่ลูกหลานรุ่นถัด ๆไป”
อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาบริหารฮ่องกง Cheung Chi-kong ยืนยันว่า จำนวนผู้ประท้วงจะไม่กระทบต่อการจัดสินใจของรัฐบาล เชื่อว่าสามารถจัดการปัญหาได้ “พวกเราควรจะให้โรงเรียนที่เตรียมพร้อมดีแล้ว เริ่มทดลองบทเรียนแรกไปเลย”
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวฯ จะได้นำมาบังคับใช้ในโรงเรียนประถมศึกษาในปี 2558 และโรงเรียนมัธยมฯในปี 2559