ผู้จัดการออนไลน์ /เอเยนซี - มหาอุทกภัยล่าสุดกรุงปักกิ่งเมืองหลวงของจีนได้คร่าชีวิตประชาชนไปแล้ว 37 รายในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเป็นกระแสไม่พอใจจนมีเสียงตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่รัฐทุ่มเงินมหาศาลสร้างขึ้น ว่าเหตุไฉนถึงเปราะบางจนกลายเป็นหายนะสาหัสถึงเพียงนี้
พื้นที่ชานเมืองของกรุงปักกิ่งถูกพายุฝนซัดกระหน่ำปริมาณน้ำฝนสูงเกือบ 9 นิ้ว ฝนตกไม่หยุด 16 ชั่วโมงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นับเป็นพายุฝนหนักสุดในรอบ 60 ปี โดยเฉลี่ยทั้งพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนวัดได้ 170 ม.ม. ขณะที่วัดเฉพาะเขตฝางซาน ทำสถิติสูงถึง 460 ม.ม. เป็นเหตุให้ไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ กระแสน้ำที่ไหลเข้าเมืองทำให้สิ่งปฏิกูลไหลผ่านท่อระบายน้ำเข้าสู่ท้องถนนและในอีกหลายพื้นที่ด้วย
เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 22 ก.ค. สำนักงานบริหารฯ กรุงปักกิ่ง เผยยอดผู้เสียชีวิตเหตุน้ำท่วมเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยล่าสุด เพิ่มขึ้นเป็น 37 คนแล้ว ในจำนวนนี้ 25 คนจมน้ำ ขณะที่ 6 คนเสียชีวิตจากบ้านพังถล่มทับ 1 คนเสียชีวิตจากฟ้าผ่า และ 5 คนถูกไฟฟ้าดูด
พาน อันจวิน รองหัวหน้าสำนักงานควบคุมอุทกภัย ของกรุงปักกิ่ง เผยว่า ผู้อยู่อาศัยเกือบ 70,000 คน ต้องอพยพออกจากพื้นที่ และถนนลอดอุโมงค์จมน้ำกว่า 31 เส้น ยกเลิกเที่ยวบินกว่า 500 เที่ยว ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวราว 80,000 คน ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจเบื้องต้นอยู่ที่ราว 10,000 ล้านหยวน
สำหรับข่าวพายุฝนน้ำท่วมนี้ ชาวเน็ตฯ จีนได้แสดงความคิดเห็นและส่งต่อภาพน้ำท่วมตามจุดต่างๆ กันอย่างมากมาย หลายคนตั้งคำถามว่า กรุงปักกิ่งทุ่มเงินมหาศาล ในการสร้างสาธารณูปโภค ถนนหนทาง รวมทั้งเคยเป็นเมืองเจ้าภาพโอลิมปิก แต่ทำไมเจอพายุฝนวันเดียว ถึงเสียหายได้ขนาดนี้
สำนักข่าวซินหวารายงานว่ากระทรวงการคลังจีน ได้ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ ว่ารัฐบาลจะจัดงบประมาณราว 120 ล้านหยวน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมทั้งที่กรุงปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ย
รายงานข่าวกล่าวว่า ไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้ลงทุนมหาศาลเพื่อสร้างสาธารณูปโภค ทางหลวง ทางรถไฟ และสนามบิน ซึ่งเป็นบรรดาโครงการสำคัญ ที่รัฐบาลทุ่มเงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติการเงินโลก แต่หลายฝ่ายยังคงตั้งคำถามความคุ้มค่าในการลงทุนกับโครงการเหล่านี้เมื่อเทียบกับความปลอดภัยของชีวิตประชาชน หนึ่งในนั้น คือโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่เกิดอุบัติเหตุเมื่อปีที่แล้ว
ทั้งนี้ พื้นที่ซึ่งประสบภัยน้ำท่วมหนักสุดครั้งนี้ อยู่ที่เขตฝางซาน ซึ่งมีประมาณฝนสูงมาก และในจำนวนผู้ประสบภัยต้องอพยพออกจากพื้นที่มีจำนวนมากกว่า 20,000 คน
ปักกิ่ง มหานครแห่งความแห้ง ต้องกลายมาเป็นเมืองที่เตือนภัยพายุฝนระดับสีส้ม (สูงสุดลำดับ 2) แม้ว่ารัฐพยายามออกมาบอกว่าจะให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยเป็นอันดับ 1 แต่ก็มีเสียงไม่พอใจในหลายประเด็นปรากฎออกมา
ศาสตราจารย์ซื่อ ฉีซิน แห่งมหาวิทยาลัยซินหวาเผยว่า “มันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ปัญหาใหญ่สุดก็คือโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของเมือง ถนนในเมืองออกแบบให้โค้งเว้าไปตามรูปสะพานด้านบนเพื่อประหยัดต้นทุน ทำให้ระบบการระบายน้ำริมถนนนั้นย่ำแย่ไปด้วย ทำให้น้ำตันและไหลย้อนขึ้นมาได้เร็วมากหากเกิดฝนตกหนัก”
“ระบบการระบายน้ำเสียในปักกิ่งก็พัฒนาสร้างเร็วเกินไป เพื่อให้ครอบคลุม แต่มันไม่สามารถจุน้ำเสียได้มากพอ ทำให้เมื่อน้ำฝนอัดเข้าไปอีกก็เกิดการเอ่อล้น”
อี้ เผิง นักวิจัยประจำคณะกรรมาธิการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติจีนเผยว่า “แม้ว่าครั้งนี้จะเป็นภัยธรรมชาติ แต่ก็ไม่อาจละเลยประเด็นความรับผิดชอบด้านการจัดการของรัฐ”
เจ้าหน้าที่ทางด่วนสนามบินยังคงให้รถหยุดและเรียกเก็บค่าผ่านทาง แม้ว่าด้านล่างน้ำจะท่วมหนักและและรถราก็ติดขนัด สิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียนให้รัฐบาลต้องจัดการยกระดับความสามารถในการจัดการปัญหาเร่งด่วนให้ดีกว่านี้ อี้กล่าว
นอกจากนั้นนักวิจารณ์ยังชี้ว่า รัฐบาลปักกิ่งล้มเหลวในการเตือนภัยอย่างเพียงพอแก่ประชาชน ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ รัฐบาลไม่ได้เตือนพยากรณ์อากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ ไม่ได้ส่งข้อความทางโทรศัพท์ให้ประชาชน มีเพียงไมโครบล็อกเวยปั๋วส่วนของทางการจีนเท่านั้นที่แจ้งเตือนประชาชนถึงอันตรายที่เกิดขึ้น แต่ก็เตือนในเวลาที่สายเกินไป เนื่องจากน้ำท่วมเมืองฯ ไปเรียบร้อยแล้ว
น้ำซัดกรุงปักกิ่ง (ภาพเฟิ่งหวง/เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น