ไชน่าเดลี - เรื่องนี้เกิดขึ้นในเขตปกครองตนเองอุยกูร์ซินเจียง ที่อำเภอปกครองตนเองของชาวมองโกเลีย ชื่อว่า โฮบ็อกซาร์ ( Hoboksar)
“ตอนกลางดึกฝนเทลงมาห่าใหญ่ มีลูกเห็บตกลงมาด้วย ผมรู้สึกกลัวมาก เลยต้องเข้าไปหลบในกระโจมใกล้ ๆ พอฟ้าแลบผ่ากลางท้องฟ้า พวกแกะ ที่อยู่ข้างนอกก็ร้อง แล้วพวกมันก็ตายหมด ” อัลเทน บาเจน (Alten Bagen) หนุ่มคนเลี้ยงสัตว์ชาวมองโกเลีย วัย 18 ปีเล่าเหตุการณ์ ซึ่งเสมือนฝันร้าย ที่เกิดขึ้นเมื่อวันอังคาร (10 ก.ค.)
ฝูงแกะจำนวนทั้งหมด 173 ตัวล้มตายเกือบในทันที ที่ฟ้าผ่าเปรี้ยงกลางท้องทุ่ง ซึ่งโอบล้อมด้วยเทือกเขา
ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บาเจนได้ต้อนฝูงแกะไปหามัจจุราช เมื่อพาพวกมันไปหลบฝนใต้ต้นสน ซึ่งเป็นสื่อล่อฟ้าอย่างดี
หลังจากฝนตกกระหน่ำ ยังเกิดน้ำท่วมฉับพลัน กวาดพัดแกะอีก 30 ตัวไปกับสายน้ำ
เวลานั้น พ่อของบาเจน ซึ่งเป็นคนเลี้ยงสัตว์ ที่เปี่ยมประสบการณ์ไม่อยู่บ้าน เขาต้อนฝูงม้าไปเลี้ยงหากินหญ้าบนภูเขา ห่างออกไป
“ กลิ่นเนื้อสัตว์ไหม้เกรียมลอยอบอวลในอากาศ ถ้าตอนนั้นผมอยู่ด้วย ก็คงไม่เกิดเรื่องแบบนี้” ชายวัย 42 ปีกล่าว
“ครอบครัวเรามีกันอยู่ 4 คน แกะพวกนี้เป็นรายได้เดียวของเราครับ”
พ่อกับลูกชายช่วยกันชำแหละหนังแกะ ก่อนจะนำซากไปฝัง
“ ผมจะเอาหนังมันไปขาย พอจะทำเงินได้บ้าง แต่เรากินเนื้อของมันไม่ได้ เพราะเป็นความเชื่อทางศาสนา” คนเป็นพ่ออธิบาย
จานเจก ชาฟู (Jangeq Chafu) ผู้ช่ำชองการต้อนฝูงสัตว์บอกว่า ฟ้าผ่าฝูงปศุสัตว์ในช่วงฤดูร้อนนั้นเป็นเหตุการณ์ปกติธรรมดา แต่นี้เป็นครั้งแรก ที่แกะมาตายคราวเดียวกันมากมายขนาดนี้
“ เจ้าหนุ่มนั่นมันยังไม่รู้ดีพอ ไม่รู้ว่าเวลาเกิดฝนฟ้าคะนองในแถบเทือกเขาจะต้องทำยังไง” ชาฟูกล่าว
“อันตรายจะตายไป เอาแกะไปหลบใต้ต้นไม้”
กระนั้นก็ตาม ชาฟูเองยอมรับว่า การช่วยฝูงปศุสัตว์ให้รอดพ้นจากฟ้าผ่า บางครั้งก็เป็นเรื่องยาก
“ทุ่งหญ้าที่นี่อยู่บนแถบภูเขาสูง พวกชาวบ้านเคยชินต้อนฝูงแกะมาหากินตามไหล่เขาในฤดูร้อน เอากระโจมมาด้วย แล้วนอนอยู่กับฝูงแกะ แต่พอเกิดฟ้าแลบ คนเลี้ยงก็อาจเข้าไปหลบในกระโจมได้ แต่สัตว์มันไม่มีที่หลบ” ชาฟูกล่าว
“ขนแกะเองก็สร้างไฟฟ้าสถิตมาก ซึ่งอาจทำให้มันยิ่งเสี่ยงถูกฟ้าผ่าก็ได้” เขาเสริม และเห็นว่า รัฐบาลควรสร้างสายล่อฟ้าบนยอดเขา
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมานี้เอง หมู 53 ตัวถูกฟ้าผ่าตายเรียบ โดยสายฟ้าฟาดเปรี้ยงลงบนหลังคาคอกหมู เหตุเกิดที่ชานเมืองเซินเจิ้น มณฑลก่วงตง
เจ้าของฟาร์มหมูเล่าว่า หมูเพิ่งกินอิ่มและกำลังนอนหลับ
“ฉันเห็นแสงสีน้ำเงินวาบ แล้วก็ได้ยินหมูร้อง จากนั้นก็เงียบไป” เธอเล่า
ด้านเพื่อนบ้านเล่าว่า ที่หู จมูก และปากของหมูส่วนใหญ่มีเลือดไหลออกมา ตามตัวมีรอยไหม้หลายแห่ง และส่งกลิ่นไหม้เล็กน้อย หมูตัวหนึ่งรอดชีวิตมาได้ แต่ขาข้างหลังหัก มันพยายามลุกขึ้นยืน แต่ไม่สำเร็จ
“วิธีป้องกันฟ้าผ่าที่ง่ายที่สุดสำหรับบริเวณ ซึ่งเป็นที่สูงก็คือติดตั้งสายล่อฟ้าเท่านั้นเอง”นักอุตุนิยมวิทยา ซึ่งทำงานในภาคสนามมานานกว่า 20 ปีแนะนำในท้ายที่สุด