xs
xsm
sm
md
lg

สถานีอวกาศใหญ่กว่าเทียนกง 1 เป้าหมายต่อไปของจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - จีนไม่หลงปลื้มนั่งชื่นชมความสำเร็จในภารกิจ อันยิ่งใหญ่ของยานเสินโจว 9  แต่กำลังเดินหน้าสร้างสถานีอวกาศแห่งที่ 2 ให้ใหญ่กว่า และมีรายละเอียดที่ซับซ้อนกว่าสถานีอวกาศเทียนกง 1

ยานเสินโจว 9 เดินทางกลับสู่โลกเมื่อวันศุกร์ (29 มิ.ย.) ภายหลังเสร็จสิ้นการเดินทางสู่ห้วงอวกาศนาน 13 วัน อันเป็นภารกิจยาวนานที่สุดของโครงการอวกาศจีน และมีนักบินอวกาศหญิงคนแรกของประเทศเดินทางไปพร้อมกับนักบินอวกาศชายอีก 2 คนด้วย

ในการเดินทางครั้งนี้นักบินสามารถเชื่อมต่อยานเข้ากับเทียนกง1 ซึ่งเป็นโมดูล ลอยอยู่ในวงโคจรโลก นับเป็นการเชื่อมต่อที่ใช้มนุษย์บังคับได้สำเร็จครั้งแรกของโครงการอวกาศจีน ที่ดำเนินมานาน 20 ปี และใช้งบประมาณกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ มันเป็นภารกิจที่ก้าวรุดหน้ารวดเร็วมาก แต่ก็มีความเสี่ยงสูงทีเดียว

สำหรับภารกิจต่อไป ซึ่งจะเกิดขึ้นในสิ้นปีนี้ หรือในปีหน้า จีนจะส่งยานเสินโจว 10 ไปพร้อมกับนักบิน เพื่อทดลองการเชื่อมต่อกับโมดูลเทียนกง 1 ในการเดินทางแบบเดียวกับเสินโจว 9 และจะเป็นการเชื่อมต่อครั้งสุดท้ายกับโมดูลเทียนกง 1 ซึ่งจีนปล่อยสู่วงโคจรเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว จากการเปิดเผยของนายมอร์ริส โจนส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศของออสเตรเลีย ซึ่งให้ความสนใจโครงการอวกาศของจีน
ภาพจากศูนย์อวกาศในกรุงปักกิ่งเมื่อเวลา 8.30 น. วันที่ 29 มิ.ย. แสดงภาพนักบินเสินโจว 9 ทั้งสาม นั่งอยู่ในแคปซูลเดินทางกลับ (re-entry capsule) เตรียมพร้อมกลับสู่พื้นโลก – แฟ้มภาพ
นายโจนส์ระบุว่า หลังจากนั้น จะไม่มีการส่งนักบินอวกาศไปยังโมดูลเทียนกง 1 อีก แต่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จีนจะปล่อยโมดูลในเวอร์ชั่น ที่ก้าวหน้ายิ่งกว่า นั่นก็คือโมดูลเทียนกง 2

ด้านผู้เชี่ยวชาญโครงการอวกาศแดนมังกรประจำศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติของฝรั่งเศสระบุว่า เมื่อวันนั้นมาถึง โครงการอวกาศของจีนจะเติบโตในมิติต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยโมดูลเทียนกง 2 ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโมดูลเทียนกง 1 ที่มีน้ำหนัก 8.5 ตัน จะทำให้นักบินสามารถอยู่ในอวกาศได้นานขึ้น ราว 1- 3 เดือน

นอกจากนั้น จีนยังกำลังพัฒนาจรวดลองมาร์ช 5 ซึ่งเป็นจรวดขับดันรุ่นใหม่ และจำเป็นสำหรับการยิงสถานีอวกาศ ที่ใหญ่กว่าเทียนกง 1
"ฉันคาดว่า จะได้เห็นสถานีอวกาศขนาดใหญ่นี้ลอยอยู่ในวงโคจรในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สถานีอวกาศของจีนนี้จะมาแทนที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ที่อยู่ในวงโคจรในขณะนี้" โจแอน จอห์นสัน-ฟรีส อาจารย์ของวิทยาลัยการทัพเรือสหรัฐฯ ร ะบุ

สถานีอวกาศนานาชาติเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศของสหรัฐฯ รัสเซีย ญี่ปุ่น ยุโรป และแคนาดา แต่คาดว่า จะหมดอายุในราวปี 2563 โดยจีนไม่เคยได้รับเชิญให้เข้าร่วมใน ISS เลย

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ความก้าวหน้าต่อไปของโครงการสถานีอวกาศจีนจะ “รับประกัน” ได้ว่า จีนมีบทบาทสำคัญ ซึ่งในที่สุดแล้วอาจได้เข้าร่วมในโครงการสถานีอวกาศนานาชาติก็เป็นได้

หากมองความใฝ่ฝันของจีนในอนาคตหลังจากปี 2563 ซึ่งจีนอาจส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์นั้น จีนยังกำลังประสบความก้าวหน้าในโครงการยาน “ฉางเอ๋อ” เพื่อสำรวจผิวดวงจันทร์อีกด้วย

“มีความเป็นไปได้ที่ในอีก 5-8 ปีข้างหน้า จีนจะตัดสินใจว่า จะเดินหน้าการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์หรือไม่” จอห์นสัน-ฟรีสกล่าว

ขณะเดียวกัน ด้านสหรัฐฯ หลังจากปลดระวางกระสวยอวกาศทุกลำที่มีอยู่แล้ว ก็กำลังพัฒนาจรวดและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อหาทางพามนุษย์ไปเยือนดาวเคราะห์น้อยสักดวง หรือไปยังดาวอังคาร
“ชาติทั้งสองกำลังก้าวไปข้างหน้า แต่มิใช่บนเส้นทาง ที่แข่งขันกัน” เธอระบุ

โครงการอวกาศของจีนยังล้าหลังอเมริกาอยู่มาก เพราะความสำเร็จในการเชื่อมต่อยานเสินโจว 9 โดยใช้มนุษย์บังคับนั้น สหรัฐฯ ทำสำเร็จมาตั้งแต่ช่วงปี 2503 -2513 แล้ว

 “ถ้าจะมีการแข่งขันในอวกาศกันแล้ว ฉันคิดว่าน่าจะเป็นการแข่งขันในเอเชียมากกว่า” จอห์นสัน-ฟรีสฟันธง เมื่อหันไปมองโครงการอวกาศของอินเดีย ซึ่งมีวางเป้าหมายก้าวไกลไม่แพ้กัน
กำลังโหลดความคิดเห็น