xs
xsm
sm
md
lg

ทลายกำแพงเพื่อลูกคนที่สอง

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

ทารกจีนคนหนึ่งที่คุณแม่อุ้มท้องไปคลอดที่ศูนย์อยู่ไฟในสหรัฐฯ ด้านขวาของภาพคือ พลาสปอร์ตอเมริกัน
หลังจากที่รัฐบาลฮ่องกงได้คุมเข้มหญิงจีนจากแผ่นดินใหญ่ไปคลอดลูกในดินแดน สืบเนื่องจากกระแสกดดันจากชาวฮ่องกงจำนวนมากที่ไม่พอใจต่อการที่รัฐบาลต้องเจียดงบประมาณให้แก่เด็กจำนวนมหาศาลที่ทั้งพ่อแม่เป็นชาวแผ่นดินใหญ่เพียงแต่ได้มาถือกำเนิดในฮ่องกง ซึ่งกฎหมายฮ่องกงระบุรับรอง “สิทธิผู้อาศัย” ให้แก่เด็กที่ถือกำเนิดในดินแดน ซึ่งครอบคลุมสิทธิสวัสดิการประกันสังคม

การไปคลอดลูกในฮ่องกงของกลุ่มหญิงหญิงที่เคยบูมมาเป็นเวลาหลายสิบปี เป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น ดังนั้นกลุ่มสำนักงานบริการจัดการเรื่องคลอดลูกที่ฮ่องกง จึงได้ขึ้นค่าธรรมเนียมสูงราว 200,000 หยวน โดยราคานี้ยังแกว่งไปมาในแต่ละเดือน ขณะนี้ค่าบริการจัดการการคลอดลูกในสหรัฐฯ ยังคงเส้นคงวามากกว่า ระหว่าง 150,000 และ 200,000 หยวน สำนักงานจัดการคลอดบุตรในต่างแดนรายหนึ่ง ที่ให้บริการพาหญิงจีนไปคลอดลูกที่ไซปัน สหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ คิดค่าบริการเพียง 70,000 หยวน ซึ่งรวมค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ค่ารักษาพยาบาล และที่พัก-อาหารสองเดือน

ขณะที่แคนาดาก็เป็นทางเลือกแหล่งคลอดลูกของหญิงแผ่นดินใหญ่ แต่สนนราคาค่าจัดการการไปคลอดลูกแคนาดา แพงกว่า 300,000 หยวน “สวัสดิการพลเมืองแคนาดา ดีที่สุดแห่งหนึ่ง” เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดการคลอดลูกในต่างแดนรายหนึ่งเผย แต่ก็เผยว่าทางสำนักงานต้องระงับบริการในแคนาดาเนื่องจากอัตราปฏิเสธคำร้องขอวีซ่าสูงมาก

หญิงแผ่นดินใหญ่ผู้มีฐานะมั่งคั่งหรือมีอันจะกิน จึงเบนเข็มมายังฝั่งแปซิฟิก เจ้าหน้าที่ในธุรกิจที่ให้บริการพาหญิงจีนคลอดลูกต่างแดน กล่าวว่า “ขณะนี้ ในจีน ธุรกิจบริการจัดการการคลอดลูกที่อเมริกา ขยายตัว 3,000-4,000 รายต่อปี”

เจาะใจพ่อแม่จีน ที่ดิ้นรนไปคลอดลูกในอเมริกา
สื่อจีนได้รายงานกระแสหญิงจีนไปคลอดลูกที่สหรัฐฯ ยกตัวอย่างกรณีนางโจอัน ผู้ไปคลอดลูกที่ลอสแองเจลิส เมื่อปลายปี 2552 เธอเดินทางไปคลอด ขณะตั้งครรภ์ กว่า 7 เดือน

จากขั้นตอนการขอวีซ่า ไปถึงการเดินทางข้ามพรมแดน โจอันต้องคอยระวังแจและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เอเจนซีอย่างเคร่งครัด โดยหลังจากที่ตั้งครรภ์แล้ว ก็ต้องรีบดำเนินการขอวีซ่า เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่พิจารณาวีซ่าสังเกตเห็น

ก่อนที่เท้าจะได้เหยียบแผ่นดินสหรัฐฯ คำที่ห้ามหลุดออกจากปากเด็ดขาดคือ “คลอดลูก” เมื่อข้ามพรมแดนสำเร็จ เจ้าหน้าที่ของ ‘ศูนย์อยู่ไฟซิงซิง’ก็จะขับรถมารับ

‘ศูนย์อยู่ไฟ’ ที่ว่านี้ เป็นธุรกิจบริการจัดการเรื่องการเดินทางไปคลอดลูกในสหรัฐฯแก่ครอบครัวชาวจีน มีอยู่ทั้งในนิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก ลอสแองเจลิส โดยลอสแองเจลิสเป็นศูนย์กลางใหญ่ “ธุรกิจนี้มีมา ราว 20 ปี” นาย เจ. เจ้าหน้าที่บริษัทศูนย์ข้อมูล ผู้คร่ำหวอดในกิจการนี้มานานที่สุดคนหนึ่ง บอกกับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์จีน ‘หนันตูโจวคัน’ ที่ไปเจาะกระแสหญิงจีนคลอดลูกที่สหรัฐฯ
สภาพแวดล้อมศูนย์อยู่ไฟแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ศูนย์อยู่ไฟที่นี่มักเป็นบ้านเดี่ยว บรรยากาศร่มรื่น ที่ที่คุณแม่ชาวจีนหลายคนใฝ่ฝันมาคลอดบุตรที่นี่ (ภาพ หนันตูโจวคาน)
“ในช่วงบูม ที่ลอสแองเจลสมีศูนย์อยู่ไฟ กว่า 30 ราย” นาย เจ. บอกกับ หนันตูโจวคาน โดยมีศูนย์ใหญ่ๆ ได้แก่ หมั่นอี้เป่า เหม่ยอี่เหม่ย และซิงซิง ทั้งสามแห่งนี้มีลูกค้าชาวตะวันออก รวมกัน กว่า 4,000 คน “และกลุ่มลูกค้าที่มาคลอดลูกที่สหรัฐฯ ส่วนใหญ่มาคลอดลูกคนที่สอง แต่ขณะนี้ สัดส่วนกลุ่มลูกค้าที่มาคลอดลูกคนที่สอง ได้ลดลง”

โจอัน ลูกค้ารายหนึ่งของศูนย์อยู่ไฟซิงซิง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เธอไม่เคยคิดเลยว่า นโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลจีน มีอะไรไม่ดี เธอเติบโตมาพร้อมกับได้รับการศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว เข้าใจดีว่า “จีนเป็นประเทศใหญ่ ทรัพยากรน้อย” และรู้ดีว่าเมื่อกล่าวถึง “รายได้ต่อหัวประชากร” จีนรั้งท้ายในการจัดอันดับทั่วโลก

แต่เมื่อเธอตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง การณ์กลับเปลี่ยนไป เธออยากมีลูกสองคน “อยากเห็นเด็กสองคนเล่นกันสนุกสนานในบ้าน อยากเห็นพี่น้องเติบโตมาด้วยกัน คอยช่วยเหลือกัน”

“แต่ต้องเสียค่าปรับ สู้เอาเงินก้อนนี้ไปคลอดลูกที่อเมริกาดีกว่า” เพื่อนสาวชื่อ มาลี เสนอ ซึ่งโจอันก็เห็นด้วย ด้วยความหวังอยากลูกอีกคน ทำให้เกิดความกล้าหาญไปอเมริกา

แรงดึงดูดการไปคลอดลูกที่อเมริกา มิได้มีเพียงเท่านี้…

ปี 2411 วอชิงตันปรับแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 14 ระบุทารกทุกคนที่เกิดบนแผ่นดินสหรัฐฯ ไม่ว่าพ่อแม่จะเป็นชนชาติไหนก็ตาม หรือมีสถานภาพที่ถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ล้วนถือเป็นพลเมืองของสหรัฐฯ

หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเหม่ยเป่า นาย มาร์ติน ได้คำนวณ ‘เด็กอเมริกัน’ มีมูลค่าถึง 9,800,000 เหรียญ!

“ในสหรัฐฯ การศึกษาระดับต่ำกว่ามัธยมปลาย...ฟรี ประหยัดถึง 3 แสนเหรียญ ถึง 6 แสนเหรียญ โควตารับนักศึกษาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมีจำนวนมาก อัตราการรับเข้าศึกษาในสถาบันฯก็สูง ประหยัดค่าเล่าเรียน 6 แสน ถึง 1 ล้านเหรียญ เมื่อเด็กอายุ 21 ปี สมาชิกทั้งหมดในครอบครัวสามารถย้ายเข้ามาตั้งรกรากในดินแดน ประหยัดมากกว่า 3.5 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ ค่าเล่าเรียนในสหรัฐฯยังสามารถยื่นขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ บริษัทข้ามชาติต้องการพนักงานสองสัญชาติมากกว่า รายได้ต่อหัวประชากรในสหรัฐฯเป็น 12 เท่าของจีน...”

อีกกรณี...ฉิน เหว่ย (นามสมมุติ) บ้านเกิดอยู่ที่เฉิงตู มณฑลซื่อชวน (หรือเสฉวน) ได้ยินภรรยา ซินดี้ เล่าเรื่องผู้หญิงจีนที่ไปคลอดลูกที่อเมริกา ก็เกิดความมุ่งมั่นที่จะให้ภรรยาไปคลอดลูกที่อเมริกาเช่นกัน การได้สัญชาติอเมริกัน ยังหมายถึงผลประโยชน์สวัสดิการสังคมอันเย้ายวนอีกด้วย

ฉิน เหว่ย ทำงานอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ จ่ายภาษีให้แก่เซี่ยงไฮ้ มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว แต่สำหรับเมืองศูนย์กลางการเงินแห่งนี้ เขาก็ยังคงเป็นผู้อาศัยชั่วคราวที่ไร้สิทธิได้รับสวัสดิการสังคมใดๆของเมือง “ลูกของผมก็ไม่มีสิทธิได้ขึ้นทะเบียนสำมะโนครัวของเซี่ยงไฮ้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผมจึงไม่เคยมีความรู้สึกเป็นเจ้าของเมือง หรือเจ้าของประเทศนี้มากมายนัก คนต่างถิ่น กับคนต่างชาติ ต่างก็มีคำว่า “ต่าง” เหมือนกัน ไม่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์เช่นเดียวกับชาวท้องถิ่นที่มีสำมะโนครัว ทำไม ผมไม่ไปเป็นคนต่างชาติเสียเลยล่ะ?”

แต่ซินดี้กลับไม่เห็นด้วย เธอกลัวเกิดปัญหาสารพัด ดินแดนที่อยู่ไกลโพ้นขนาดนั้น สิ่งแวดล้อมดีหรือไม่ดี? พยาบาลไว้ใจได้หรือไม่?... ฯลฯ

แม้แต่พ่อแม่ของฉิน เหว่ย พ่อแม่ของซินดี้ ก็ล้วนเข้าข้างภรรยา จนทำให้สัมธภาพสามี-ภรรยาคู่นี้ แตกร้าว

ในที่สุด ซินดี้ ก็หาทางออกด้วยการปรึกษาคนกลาง โดยเขียนจดหมายไปถามคอลัมน์ ‘ฉันอยากถามเหลียนเย่ว์’ คอลัมน์ปรึกษาปัญหาชีวิตในสื่อจีน

“เราไม่มีปัญหาเรื่องเงิน การได้สัญชาติอเมริกันมีความสำคัญมากจริงหรือ? สามีของฉันสิ้นหวังกับระบบที่เป็นอยู่ในประเทศจีนมาก เขามักบ่นเสมอว่าประเทศจีนไม่มีความหวังอะไร สังคมที่นี่จะพังพินาจในไม่ช้าก็เร็ว แม้ฉันไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดของเขา แต่ก็เหนื่อยหน่ายที่จะทะเลาะกับเขาแล้ว ไม่นึกเลยว่าเขาจะนำความคิดแบบนี้มาเชื่อมโยงกับเหตุผลที่จะให้ลูกไปเกิดที่อเมริกา”

เหลียนเย่ว์ได้ตอบคำถามของซินดี้หลายข้อ โดยหนึ่งในนั้นคือ “ถ้าสามีของคุณคิดว่าประเทศจีนไม่มีความหวัง จะพินาจไปในไม่ช้า เหตุผลนี้ก็น่ารับฟัง ถ้าเป็นอย่างที่เขาคิดจริงๆ สังคมจีนล่มสลายไปแล้ว ตอนนั้นลูกของคุณคิดจะไปอยู่ที่อเมริกาก็สายไปเสียแล้ว จากทัศนะที่มองโลกในแง่ดีของผมแล้ว ประเทศจีนยังมีความหวัง จะพังหรือไม่พัง อย่างไรก็ตาม จีนก็ไม่ควรจะลิดรอนสิทธิอันพึงมีพึงได้ของลูกคุณ”

และในที่สุด ซินดี้ก็ตัดสินใจไปคลอดลูกที่สหรัฐฯ
เจ้าหน้าที่ศูนย์อยู่ไฟกำลังอุ้มทารก ทารกจะอยู่ที่นี่ระยะหนึ่ง จึงค่อยส่งกลับไปยังประเทศจีน (ภาพ หนันตูโจวคาน)
นางหยัง เจ้าหน้าที่ศูนย์อยู่ไฟซิงซิง ที่ประจำอยู่ที่สำนักงานในเซี่ยงไฮ้ เล่าให้ผู้สื่อข่าวของหนันตูโจวคาน “แม่แม่ที่มาที่นี่ ส่วนใหญ่มาจากเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ก่วงโจว และเมื่องอื่นๆ หลายคนมาจากกลุ่มที่ทำธุรกิจ พนักงานตำแหน่งระดับผู้จัดการของบรษัทต่างชาติ แพทย์ ทนายความ นักบัญชี อาจารย์ และอื่นๆ

ส่วนฉิน เหว่ยได้เดินทางมาพร้อมกับภรรยา เขาพูดภาษาอังกฤษได้ไม่กี่คำ แต่ไม่นานเขาก็พบว่าการพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ไม่เป็นปัญหาเลย เนื่องจากห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องล้วนเป็นของคนเชื้อสายจีน

ฐานะการเงินของครอบครัวฉิน เหว่ย เทียบกับคนอื่นๆที่มาคลอดลูกที่อเมริกัน จัดว่าอยู่ในระดับต่ำสุด ดังนั้น ซินดี้จึงต้องทำบัญชีค่าใช้จ่ายอย่างดี จากขั้นตอนแรกถึงขั้นตอนสุดท้าย เธอใช้เงินไปทั้งหมดราวสองหมื่นเหรียญสหรัฐ

สำหรับโจอัน ซึ่งคลอดลูกคนแรกในจีน เมื่อมาถึงสหรัฐฯเธอได้เห็นความแตกต่างสภาพสถานบริการการแพทย์พยาบาลของที่นี่กับจีน “ตอนแรกที่มาถึง สามีของฉันประหลาดใจและฉงนว่า ทำไมโรงพยาบาลที่นี่ ไม่มีกลิ่นยา?”

เตียงคนไข้ของโรงพยาบาลในประเทศจีนขาดแคลนมาก มีเพียงกลุ่มผู้หญิงที่ใกล้คลอดเท่านั้นจึงจะถูกส่งตัวไปที่ห้องรอคลอด บางครั้งผู้หญิงตั้งครรภ์เปลือยกายล่อนจ้อน มีเพียงผ้าปูที่นอนผืนเดียวปิดร่างกายไว้ บางคนแม้แต่ผ้าปูที่นอนปิดร่างกายก็ไม่มีเลย เจ้าหน้าที่เข็นเตียงผ่านกลุ่มคนมากมาย ทำให้เกิดความรู้สึกถึงการไร้ความเคารพในตัวบุคคล

บางครั้งผู้หญิงที่กำลังคลอดลูกร้องเสียงดัง ก็โดนพยาบาลด่าว่า “ในหลายด้าน จีนไม่มีความเป็นมนุษย์เลย หลายคนจึงต้องพยายามพูดเอาอกเอาใจพยาบาลเข้าไว้ หรือไม่ก็ต้องให้ซองแดง” นาง หยัง เจ้าหน้าที่ศูนย์อยู่ไฟซิงซิง กล่าว

ว่าที่คุณแม่หลายคน ไม่มีแผนที่จะใช้บริการศูนย์อยู่ไฟในสหรัฐฯ เมื่อได้ฟังเรื่องราวดังกล่าวก็พยายามเสาะหาช่องทางอื่นๆ เช่น เมื่อบริษัทส่งไปดูงานที่สหรัฐฯ หรือส่งไปเรียนที่สหรัฐฯ ไปอบรมในโครงการแลกเปลี่ยน ก็จะฉกฉวยโอกาสนี้คลอดลูก อาทิ ตามนโยบายการวางแผนครอบครัวของนครเซี่ยงไฮ้ นักศึกษาหรือนักวิชาการที่ไปเรียนอบรมดูงานต่างประเทศ หากตั้งครรภ์ในต่างแดน เกิน 6 เดือน ไม่ว่าจะเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ก็ตาม ก็สามารถกลับมาคลอดที่เซี่ยงไฮ้ได้ เมื่อคลอดแล้วก็ยื่นเอกสารแจ้งการฝ่าฝืนกฎฯแก่สำนักงานวางแผนครอบครัว โดยไม่โดนลงโทษ ไม่ต้องเสียภาษีการเลี้ยงดูบุตร และได้รับใบสำมะโนครัวเซี่ยงไฮ้

สัญชาติอเมริกัน สัญชาติจีน
โจ อัน ซึ่งคลอดลูกคนที่สองที่สหรัฐฯ ขณะนี้ลูกอายุยังไม่ถึงสองขวบ ยังไม่ต้องเจอปัญหายุ่งยาก “แต่เมื่อลูกต้องเข้าโรงเรียน จะทำอย่างไรดี ตอนนี้ฉันก็ยังไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไรดี?”

ผู้ที่มีบัตรประกันสังคมของสหรัฐฯ (ทั้งนี้ผู้ที่ย้ายถิ่นฐานไปยังสหรัฐฯ จะต้องยื่นเอกสารไปยังเขตที่ไปอาศัยอยู่เพื่อขอบัตรประกันสังคม ในบัตรจะระบุชื่อผู้ถือบัตรและรหัสประกันสังคม) พาสปอร์ตอเมริกัน รัฐบาลสหรัฐฯก็จะถือว่าเป็นพลเมืองอเมริกันแล้ว ทว่า ‘กฎหมายว่าด้วยสัญชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน’ ระบุว่าเมื่อบิดามารดาทั้งสองฝ่ายเป็นพลเมืองจีน แม้เกิดในต่างประเทศ ก็ยังมีสัญชาติจีน ดังนั้นรัฐบาลจีนถือว่า “เป็นคนของตน” แต่ปัญหาก็คือ จีนไม่ยอมรับสองสัญชาติ

พ่อแม่บางคน เมื่อกลับประเทศ ก็หาทางซิกแซก เพื่อให้ลูกได้สำมะโนครัวในจีน ซึ่งเท่ากับว่าเด็กถือสองสัญชาติ แต่สำหรับโจอันกับมาลี พวกเธอไม่ได้ทำเช่นนี้ เพราะกลัวถูกปรับ ทั้งยังกลัวอีกว่าเมื่อเกิดมีการตรวจสอบขึ้นมา รัฐบาลสหรัฐฯก็จะเข้าใจว่าเด็กได้ทิ้งสัญชาติอเมริกันแล้ว

“พวกเราเป็นชาวจีน ‘การมีลูกมากยิ่งเป็นโชคลาภ’ เป็นความเชื่อในวัฒนธรรมประเพณีนับพันๆปี เด็กลูกคนเดียวจะเหงาโดดเดี่ยวมาก บุคลิกก็อาจไม่สมบูรณ์ เมื่อยังเป็นเด็กน้อยพวกเขากลายเป็นเดือนเด่นที่ถูกล้อมรอบด้วยหมู่ดาวมากมาย พอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็กลายเป็นปัญหาสังคม

“ขณะนี้ผู้คนจำนวนมากมีความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยดีนัก ผมต้องให้ทางเลือกแก่ลูก ให้ความรู้สึกที่มั่นคงปลอดภัย ” ฉิน เหว่ย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น