ASTVผู้จัดการออนไลน์--กลุ่มสื่อจีนรายงานเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา เกิดเหตุน่าเศร้าสลดในบริเวณทะเลสาบต้งถิง ซึ่งอยู่บนที่ราบน้ำท่วมถึงแห่งลุ่มน้ำฉังเจียง (หรือที่คนไทยเรียกแยงซีเกียง)ในอำเภอเย่ว์หยัง มณฑลหูหนัน นั่นคือ โลมาไร้ครีบหรือที่คนไทยเรียกโลมาหัวบาตรหลังเรียบ ตายไป 12 ตัว ในช่วงวันที่ 3 มี.ค.ถึงวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยในชั่วหนึ่งสัปดาห์ของช่วงเวลาดังกล่าว พบซากโลมาฯถึง 9 ตัว!
การพบซากโลมาหัวบาตรหลังเรียบถึง 12 ตัวในชั่วเวลา 42 วันนี้ นับเป็นโศกนาฏกรรมด้านหนึ่งของมนุษย์ชาติ โลมาหัวบาตรฯไม่เพียงเป็นสัตว์ที่แสนน่ารัก ยังทรงความสำคัญด้านการศึกษาวิวัฒนาการสัตว์โลกที่เก่าแก่ที่สุดย้อนยุคถึง 20 ล้านปี เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดล่าสุดที่กำลังสูญพันธุ์อย่างน่าห่วงที่สุด
สื่อจีนรายงานว่า สัตวแพทย์ในเย่วหยังได้ผ่าซากโลมาหัวบาตรฯสองตัว ระบุว่าโลมาฯสองตัวนี้ถูกใบพัดเครื่องยนต์ตีตาย และที่น่าตกตะลึงมากคือ ขณะที่ผ่าซากโลมาฯตัวที่สอง เจ้าหน้าที่พบลูกโลมาในท้องด้วย
สัตวแพทย์ประจำคณะกรรมการอนุรักษโลมาฯในเย่ว์หยัง ตกตะลึงและอุทาน “ลูกโลมาในท้องซากแม่โลมา ลำตัวยาว 55 เซนติเมตร โต 9 เดือนแล้ว น่าเสียดายจริงๆ!”
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้นำซากโลมาหัวบาตรฯสองตัวจากเย่ว์หยังมายังสถาบันชลชีววิทยาในนครอู่ฮั่นเมื่อวันที่ 18 เม.ย. เพื่อผ่าซากตรวจหาสาเหตุการตาย ปรากฎว่าตัวหนึ่งตายเพราะโดนไฟฟ้าแรงสูงที่ใช้ในการจับปลา ส่วนอีกตัวโดนใบพัดเครื่องยนต์ตีตาย
ซากโลมาหัวบาตรฯอีกสองตัวที่ถูกชันสูตรไปก่อนหน้า(17 เม.ย.) ปรากฏมีน้ำปนเปื้อนมลพิษสีดำเหนียวๆกลิ่นเหม็นมากไหลออกมาไม่หยุด ผู้เชี่ยวชาญคะเนว่าโลมาฯสองตัวนี้ตายนานกว่าหนึ่งสัปดาห์แล้ว และเป็นโลมาฯเพศผู้ที่แข็งแรงมาก ความยาวลำตัว 1.56 เมตร และ1.50 เมตร
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญที่สถาบันชลชีววิทยาที่อู่ฮั่น นาย เจิ้ง จิ้น กล่าวว่าการชันสูตรและระบุสาเหตุการตายของโลมาฯเหล่านี้ เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากซากเน่าแฟะมาก โลมาฯหลายตัวตายจากที่อื่นมาหลายวันและได้ลอยมายังบริเวณทะเลสาบต้งถิง
หลังจากพบซากโลมาหัวบาตรฯนับสิบที่ทะเลสาบต้งถิง ผู้สื่อข่าวจีนก็ได้เดินทางไปที่พิพิธภัณฑ์โลมาของสถาบันชลชีววิทยาแห่งอู่ฮั่น ซึ่งเลี้ยงโลมาหัวบาตรหลังเรียบ 7 ตัว เพื่อเก็บข้อมูลและภาพสัตว์โลกแสนน่ารัก ที่ใบหน้าดูราวมี ‘รอยยิ้ม’ โดยธรรมชาติ
คนท้องถิ่นมักเรียกโลมาหัวบาตรหลังเรียบ ว่า “หมูแม่น้ำ” และเนื่องจากมีจำนวนเหลืออยู่น้อยเต็มที ชาวจีนจึงได้ขนานนามมัน เป็น“แพนด้ายักษ์น้ำ” รัฐบาลจีนได้ขึ้นทะเบียนโลมาหัวบาตรหลังเรียบ เป็นสัตว์คุ้มครองประเภทที่สอง นอกจากนี้ กองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wide Fund for Nature-WWF) ยังรับรองโลมาหัวบาตรหลังเรียบเข้าอยู่ในกลุ่มสัตว์โลก 13 สายพันธุ์ ที่องค์กรให้การคุ้มครองดูแลอย่างเร่งด่วนที่สุด
แยงซีเกียงลำน้ำใหญ่อันดับหนึ่งของทวีปเอเชียและอันดับสามของโลก ในลำน้ำที่มีความยาวราว 6,300 กิโลเมตร ไหลผ่านเขตต่างๆในประเทศจีนกว่า 10 มณฑล แห่งนี้ มีโลมาสองชนิด ได้แก่ โลมาหัวบาตรหลังเรียบ (Finless porpoise, ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Neophocaena phocaenoides) และโลมาไป๋จี้ หรือ “โลมาแยงซีแกง” (Yangtze River dolphin ชื่อวิทยาศาสตร์ Lipotes vexillifer) โดยทั้งสองชนิดจัดเป็นโลมาหายาก
สำหรับโลมาไป๋จี้ตัวเดียวที่หลงเหลืออยู่ในโลก ชื่อ “ฉีฉี” ที่สถาบันชลชีววิทยาแห่งอู่ฮั่นเลี้ยงไว้ ได้ตายไปในปีพ.ศ.2545 ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 นักวิทยาศาสตร์จากองค์กรต่างๆทั่วโลกได้จับมือกันตั้งทีมออกค้นหาโลมาไป๋จี้ตลอดลำน้ำ แต่ก็ไม่พบแม้แต่ร่องรอย จึงได้ประกาศให้โลมาไป๋จี้ที่อาศัยในลุ่มน้ำแยงซีเกียงนานกว่า 20 ล้านปีเป็น "สัตว์ป่าที่น่าจะสูญพันธุ์แล้ว" (หากไม่พบภายใน 50 ปีถือว่าสูญพันธุ์) แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่าไป๋จี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว
ออกัสต์ ฟลูเกอร์ ผู้อำนวยการของ baiji.org องค์กรอนุรักษ์โลมาแม่น้ำแยงซีเกียงองค์กรอนุรักษ์โลมาในลุ่มน้ำแยงซีเกียงหนึ่งในผู้นำการค้นหาไป๋จี้ สรุปว่า "เรายอมรับว่าไป๋จี้สูญพันธุ์ไปแล้ว มันเป็นโศกนาฏกรรมและเป็นการสูญเสียไม่เพียงเฉพาะจีนเท่านั้นแต่เป็นโลกทั้งมวล"
ส่วนโลมาหัวบาตรฯที่ยังหลงเหลือให้ชาวโลกได้เห็น จากการประเมินพบว่าปัจจุบันเหลือเพียงพันกว่าตัวเท่านั้น โดยในแต่ละปีๆ จำนวนโลมาชนิดนี้ลดลงอย่างรวดเร็วในอัตรา 5-10 เปอร์เซนต์
การที่โลมาหัวบาตรฯตายเป็นฝูงในช่วงเวลาสั้นๆเช่นนี้ นับเป็นเรื่องผิดปกติ สีว์ ย่าผิงผู้อำนวยการคณะกรรมการอนุรักษ์โลมาในเย่วหยังกล่าวว่าเขาไม่อยากคิดมากไปกว่านี้เลย เพราะมันเป็นเพียงซากโลมาฯ 12 ตัว ที่พบเท่านั้น จากประสบการณ์ เราจะไม่พบโลมาที่ตายทั้งหมด เนื่องจากมีซากโลมาที่จมอยู่ หรือลอยไป หรือไม่ก็สูญหายไป จากการวิเคราะห์ หากพบซากโลมา 1 ตัว แสดงว่ามีโลมาตาย 4 ตัว แม้ตัวเลขดังกล่าวไม่อาจพิสูจน์ยืนยัน แต่ความเป็นไปแอบแฝงก็มีมากกว่า!
หวัง เค่อสยง นักวิจัยของสำนักชลชีววิทยาฯเปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพแวดล้อมแหล่งที่อยู่อาศัยของโลมาหัวบาตรฯเสื่อมโทรมลงมาก ทั้งการคมนาคมทางเรือ การทำเหมืองทราย การทำประมงที่ผิดกฎหมายอย่างเช่นการช้ไฟฟ้าแรงสูงช็อตปลา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว มลพิษทางน้ำและอื่นๆ
ถ้าสภาพแวดล้อมดังกล่าวยังไม่ดีขึ้น โลมาหัวบาตรฯ ก็คงมีชะตากรรมเช่นเดียวกับไป๋จี้ และรอยยิ้มอันแสนน่ารักน่าพิศวงที่แม่ธรรมชาติรังสรรค์ให้แก่โลมาพวกนี้ ก็จะสูญสิ้นไปจากโลก.
กลุ่มสื่อจีนได้นำภาพโลมาหัวบาตรหลังราบ ที่พิพิธภัณฑ์โลมาไป๋จี้ ในนครอู่ฮั่น มาเผยแพร่รณรงค์การอนุรักษ์โลมาแห่งลุ่มน้ำแยงซีเกียง (ภาพ เอเจนซี)