ซินหัว -ในช่วงที่ผ่านมา ทะเลสาบต้งถิงซึ่งตั้งอยู่ในที่ราบน้ำท่วมถึงบริเวณลุ่มน้ำแยงซีเกียง เกิดกรณีโลมาหัวบาตรหลังเรียบตายอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. ถึง 15 เม.ย. ที่ผ่านมา มีโลมาหัวบาตรหลังเรียบตายไป 12 ตัว โดยในชั่วหนึ่งสัปดาห์ของช่วงเวลาดังกล่าว พบโลมาฯ ตายถึง 9 ตัว!
วันที่ 18 เม.ย. ผู้สื่อข่าวได้เดินทางเข้าไปที่พิพิธภัณฑ์โลมาแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์จีน เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ซึ่งเป็นสถานที่เลี้ยงโลมาหัวบาตรหลังเรียบ 7 ตัว เพื่อเก็บภาพสิ่งมีชีวิตที่ดูราวมีรอยยิ้มโดยธรรมชาติอันแสนน่ารักเหล่านี้เอาไว้
คนท้องถิ่นเรียกโลมาหัวบาตรหลังเรียบว่า “หมูแม่น้ำ” พวกมันใช้ชีวิตอยู่ในแม่น้ำแยงซีเกียง และเนื่องจากว่าพวกมันถือเป็นสัตว์ที่หายากมาก ชาวจีนจึงขนานนามมันว่า “แพนด้ายักษ์น้ำ” โดยรัฐบาลจีนได้ประกาศให้เป็นสัตว์คุ้มครองประเภทที่ 2 นอกจากนี้องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ กองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wide Fund for Nature-WWF) ยังประกาศให้โลมาหัวบาตรหลังเรียบเป็น 1 ใน 13 สัตว์ในความคุ้มครองเร่งด่วนที่สุดของโลก (flagship species) อีกด้วย
โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และโลมาไป๋จี้ เป็นสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนมวงศ์วานเดียวกับวาฬ (Cetacea) เพียง 2 ชนิดเท่านั้นในแม่น้ำแยงซีเกียง ใน พ.ศ. 2545 “ฉีฉี” โลมาไป๋จี้เลี้ยง ตัวเดียวที่หลงเหลืออยู่ในโลกที่เมืองอู่ฮั่นได้ตายลง และปี พ.ศ. 2549 กลุ่มสหพันธ์นักสำรวจทางวิทยาศาสตร์ออกค้นหาโลมาไป๋จี้ตลอดลำน้ำแยงซี ก็ไม่พบแม้ร่องรอยของมัน จึงประกาศให้โลมาไป๋จี้ สัตว์ดึกดำบรรพ์ที่สืบทอดสายพันธุ์มานานกว่า 20 ล้านปี เป็น “สัตว์ที่น่าจะสูญพันธุ์” (หากไม่พบภายใน 50 ปีถือว่าสูญพันธุ์) ส่วนโลมาหัวบาตรหลังเรียบ จากการประเมินพบว่าปัจจุบันหลงเหลือเพียงพันกว่าตัวเท่านั้น ซึ่งทุกปีจะมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วถึง 5-10% ต่อปี
“หวัง เค่อสยง” นักวิจัยของสำนักชีววิทยาทางน้ำของสถาบันวิทยาศาตร์จีน เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพแวดล้อมแหล่งที่อยู่อาศัยของโลมาหัวบาตรหลังเรียบอยู่ในสภาพที่แย่มาก ทั้งการคมนาคมทางเรือ การทำเหมืองทราย การทำประมงที่ผิดกฎหมายอย่างเช่นการช็อตปลาด้วยไฟฟ้าแรงสูง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว มลพิษทางน้ำและอื่นๆ ล้วนแต่ส่งผลทำให้โลมาหัวบาตรหลังเรียบตายทั้งสิ้น
ระดับน้ำในทะเลสาบต้งถิงลดลง การลักลอบทำประมงผิดกฎหมายอย่างซ้ำซาก อีกทั้งกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่ปล่อยมลพิษลงน้ำ ทั้งหมดล้วนเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของชีวิตโลมาหัวบาตรหลังเรียบ ซึ่งถ้ายังคงเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ โลมาหัวบาตรหลังเรียบ ก็คงจะสูญพันธุ์เหมือนกับไป๋จี้ และบางที
ผู้คนอาจไม่มีโอกาสได้เห็น “รอยยิ้ม” ตามธรรมชาติของสัตว์ชนิดนี้อีกต่อไป