xs
xsm
sm
md
lg

น้ำเน่าแบบไทย ๆ ในสังคมจีน

เผยแพร่:   โดย: สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เหรินหมินฮว่าเป้า ฉบับเดือน กันยายน 1969
“ทำไมละครไทยถึงเป็นที่นิยมในจีน?”

ที่ผ่านมาคำถามดังกล่าวถูกถามกันไปทั่ว เมื่อปรากฏกระแสนิยมดาราและละครไทยในประเทศจีน หรือ T pop แน่นอนว่ามีผู้พยายามให้คำอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวมากมาย ซึ่งคำอธิบายหรือคำตอบต่อคำถามเรื่องกระแส T pop นี้ก็มีเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม คำตอบที่ผ่านมาออกจะมักง่าย เช่น คนจีนนิยมละครไทยเพราะความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรม มาตรฐานความสวยหล่อคล้ายกัน การตลาดของบริษัทละครไทยดี เนื้อหาละครไทยสนุก จิกตบกันสะใจ แม้คำตอบเหล่านี้อาจจะไม่ผิดซะทีเดียว ทว่า การตอบคำถามแบบนี้ ไม่ได้ทำให้เราคิดไปไกลกว่าปลายจมูก เพราะไม่ทำให้เราเข้าใจสังคมจีนเพิ่มขึ้นสักนิด

บนคำถามเดิมว่า “ทำไมละครไทยถึงเป็นที่นิยม?” หากคิดว่า การบริโภคสินค้าทางวัฒนธรรมอะไรก็แล้วแต่ ล้วนสัมพันธ์กับบริบททางสังคม เราจะสามารถอธิบายปรากฏการณ์ T pop แบบไม่มักง่าย ทั้งยังสามารถทำความเข้าใจสังคมจีนร่วมสมัย โดยใช้ T pop เป็น “หน่วย” ในการวิเคราะห์

ใครดู ใครกรี๊ด?

หากพิจารณาข่าวการจัดอันดับ 20 ดาราไทยสุดฮอตในเวบบอร์ดจีน จะพบว่า ใน 20 อันดับนั้น ส่วนมากเป็นดาราชาย เช่น บี้ สุกฤษฎิ์, ป้อง ณวัฒน์ และ มาริโอ เมาเร่อ ข้อมูลนี้บอกอะไร? การที่ดาราสุดฮิตส่วนมาก เป็นชายหนุ่มหน้าตาดีนี้ น่าจะสะท้อนได้ว่า ส่วนมากของผู้บริโภคละครไทย น่าจะเป็นผู้หญิงจีน แต่ทำไมผู้หญิงจีนเหล่านี้จึงกรี๊ดกร๊าดละครไทยมากกว่า ละครจีน ฮ่องกง หรือเกาหลี

หนึ่งในแฟนคลับละครไทยในจีน ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการชีพจรโลก โดยระบุว่า ละครจีนมักเป็นเรื่องย้อนยุค ละครฮ่องกงมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจ ส่วนละครเกาหลีมักเป็นเรื่องเศร้า ซึ่งต่างจากละครไทย บทสัมภาษณ์ดังกล่าวชี้ว่า ผู้หญิงจีนมองว่าละครฮ่องกง เกาหลี หรือแม้กระทั่งจีน เมื่อดูแล้วเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งต่างจากละครไทย ที่มีเนื้อหาเป็นเรื่องร่วมสมัย และการดำเนินเรื่องหวือหวา ไม่ได้แบนราบเป็นมิติเดียว ดูแล้วจึงเร้าใจ และสัมพันธ์กับชีวิตมากกว่า

เนื้อหาละครไทยน้ำเน่านั้นมักมีโครงเรื่องอยู่ที่ “การชิงรักหักสวาท-แย่งผัวชาวบ้าน” เช่นเรื่องสงครามนางฟ้า ซึ่งก็เป็นละครเรื่องหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมในจีน ลึกลงไปภายใต้โครงเรื่องนี้ จะพบว่าละครได้จำลองโลกที่มีผู้หญิงเป็นตัวเอก ไม่ว่าการชิงรักหักสวาท โดยใช้เล่ห์กลต่าง ๆ ผู้หญิงในเรื่องซึ่งถูกขับเน้น ไม่ใช่ผู้หญิงที่นั่งพับเพียบเรียบร้อย หากเป็นผู้หญิงที่มีความสามารถ มีหน้าที่การงานนอกบ้าน ขณะเดียวกันพวกเธอก็ไม่ใช่ผู้หญิง ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์การเมืองอะไรสักอย่าง อาทิ การอุทิศตัวเพื่อมวลชน แต่เป็นผู้หญิงที่เป็นปัจเจกชน มีอารมณ์ความรู้สึกเป็นของตัวเอง และมีบทบาทในเชิงรุก ไม่ใช่ตัวละครที่นั่งเฉย ๆ เป็นผู้ที่ถูกกระทำโดยคนอื่น ๆ หรือโชคชะตาฟ้าลิขิต

แปลกแต่จริง ที่ภาพผู้หญิงที่ปรากฏในละครไทยนี้ กลับทาบทับลงตัวกับสถานภาพของผู้หญิงจีนในปัจจุบัน อันเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคม

การปรากฏตัวของผู้หญิงจีน และความรู้สึกนึกคิดใหม่

นับแต่ทศวรรษ 1990 เราจะพบว่านิตยสารผู้หญิงจีน มีความเปลี่ยนแปลงทางเนื้อหาอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงทศวรรษ 1990 นิตยสารผู้หญิงหัวนอก และนิตยสารผู้หญิงของจีนที่เลียนแบบนิตยสารหัวนอกปรากฏสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก อาทิ Elle, Cosmopolitan, How และ Metropolis

ภาพลักษณ์ของผู้หญิง ที่สื่อผ่านนิตยสารเหล่านี้ แตกต่างไปจากนิตยสารในยุคก่อนหน้าที่นิยามความหมายของผู้หญิงตามแบบฉบับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่เน้นผู้หญิงที่เสียสละ บ้าน ๆ อุทิศตัวเพื่อมวลชน ใสซื่อ ปราศจากจริตจะก้าน เช่น ภาพปกของ เหรินหมินฮว่าเป้า (人民畫報) เดือนกันยายน 1969 เป็น ภาพผู้หญิงวัยรุ่นชาวบ้านนอก ที่อุทิศตัวตั้งใจเรียน และทำงานเพื่อพรรค

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปฏิรูปและเปิดประเทศ การขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ได้สร้างโอกาสให้ผู้คนจำนวนมากสามารถเลื่อนฐานะของตนขึ้นมาได้ การขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคเมือง ซึ่งก่อให้เกิดงานจำนวนมาก ได้สร้างโอกาสให้กับการออกมาทำงานนอกบ้านของผู้หญิง

ผู้หญิงจีนจำนวนไม่น้อย ได้ขยับฐานะมาเป็นชนชั้นกลาง ประกอบอาชีพสาวออฟฟิศที่มีเงินเดือนมั่นคง บางรายสามารถไต่เต้าไปสู่ระดับบริหาร หรือแม้กระทั่งมีกิจการเป็นของตัวเอง พลังอำนาจทางเศรษฐกิจของผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้นนี้ นำมาสู่การเกิดขึ้นของสินค้า ที่สนองรสนิยม และเข้ากับวิถีชีวิตของผู้หญิงสมัยใหม่ ที่มีบทบาทในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น บรรดานิตยสารผู้หญิงนับแต่ทศวรรษ 1990 ที่กล่าวถึงเรื่องแบบแผนการดำเนินชีวิต (Life style) ประเภท กิน ดื่ม ปาร์ตี้ที่ไหน มีเซ็กซ์อย่างไรให้หฤหรรษ์ ชุดทำงานแบบไหนที่เหมาะกับตัวคุณ บทสัมภาษณ์ซีอีโอหญิง หรือแม้กระทั่ง วิธีรับมือกับเจ้านายผู้ชายขี้จุกจิก เริ่มกลายมาเป็นสินค้าขายดี เนื้อหาของบรรดานิตยสารเหล่านี้สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของผู้หญิง และบทบาทของผู้หญิงในสังคมที่เพิ่มมากขึ้น

ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่นำผู้หญิงจีนออกสู่พื้นที่สาธารณะ กระทั่งผู้หญิงมีบทบาทในสังคมเพิ่มมากขึ้นนี้ ภาพของผู้หญิงที่ปรากฏในละครทีวีจีน กลับเป็นภาพที่ไม่ได้สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตรงกันข้ามละครไทยน้ำเน่า ที่มีแกนเรื่องอยู่บนโลกของผู้หญิง บทบาทของผู้หญิงที่เป็นปัจเจกชน ดิ้นร้นต่อสู้ และมีจริตจะก้าน กลับมีส่วนคล้ายกับชีวิตของผู้หญิงชนชั้นกลางจีนในเมือง ละครไทยจึงเป็นที่นิยม เพราะดูแล้ว “สัมพันธ์กับชีวิต” จนสามารถจินตนาการ เชื่อมต่อประสบการณ์ของตัวเข้ากับตัวละครได้
นิตยสาร ELLE ฉบับจีน ปี 2010
กำลังโหลดความคิดเห็น