ไชน่าเดลี - นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า ภายในปี 2566 ประชากรในเมืองกว่าครึ่งบนแผ่นดินมังกรจะเป็นชนชั้นกลาง
จัง หลี่เฟิง นักวิจัยประจำสำนักสังคมศาสตร์จีนเผยว่า “ข้อมูลจากปี 2543-2552 ทำให้นักวิจัยสามารถนำมาใช้เป็นฐานคำนวณได้ว่า ในปี 2553 มีประชากรในเมืองร้อยละ 37 ที่เป็นชนชั้นกลาง และคาดว่าอัตราส่วนชนชั้นกลางในเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 45 ในปี 2562 และร้อยละ 52 ในปี 2568”
รายงานประจำปีเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองของจีน หรือสมุดปกน้ำเงิน ที่ออกโดยสำนักสังคมศาสตร์จีน เมื่อวันพุธ (3 ส.ค.) นิยามคำว่า “ชนชั้นกลาง” ด้วยการคำนวณจากปริมาณเงินที่บุคคลใช้จับจ่ายด้านอาหาร โดยเทียบกับอัตราส่วนการใช้จ่ายทั้งหมด
ซ่ง อิ่งฉัง เพื่อนร่วมงานวิจัยของจัง ประจำสำนักสังคมศาสตร์จีน แผนกเมืองและสิ่งแวดล้อมศึกษา ผู้เป็นหัวหน้างานวิจัยชิ้นนี้เผยว่า จีนควรจะตั้งเป้าหมายให้การเพิ่มขึ้นของรายได้ประชาชนเป็นรูปกราฟต้นโอลิฟว์ (olive shape) ซึ่งมีลักษณะกว้างตรงส่วนกลางและค่อย ๆ เรียวลงในช่วงปลาย ซึ่งหมายความว่าช่องว่างการกระจายรายได้ค่อย ๆ ลดลงนั่นเอง
“พวกเราควรใคร่ครวญเกี่ยวกับโครงสร้างรายได้ของสังคม ว่าควรจะเป็นแบบกราฟโอลิฟว์ เพราะว่าเป้าหมายของจีนก็คือ ต้องการกระจายความเจริญรุ่งเรืองอย่างทั่วถึง” ซ่งเผยกับไชน่าเดลี ณ กรุงปักกิ่ง
“ควรจะลดช่องว่างความมั่งคั่งที่แตกต่างกันลิบลับลง และควรจะมีการสร้างสังคมที่ไม่เหลื่อมล้ำ แต่สิ่งที่เรากำลังเผชิญก็คือ การพัฒนาที่ไม่ก้าวไปด้วยกัน กล่าวคือ เศรษฐกิจโตดีแต่มาตรฐานชีวิตคนจีนทั่วไปยังคงไม่กระดิก” ซ่งย้ำ
ประธานาธิบดีหู จิ่นเทาให้คำมั่นว่า การกระจายรายได้ควรจะจัดการในลักษณะที่มีเหตุผลและมีระเบียบ ซึ่งจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยกฐานะขึ้นเป็นชนชั้นกลาง และนั่นก็จะทำให้ความยากจนหมดไปภายในปี 2563 นี้ด้วย
จัง ประมาณไว้ว่า กราฟรายได้รูปต้นโอลิฟว์จะเป็นจริงในสังคมเมืองจีนหลังปี 2562 ซึ่งขณะนั้นจำนวนประชาชนที่มีรายได้จัดว่าเป็นชนชั้นกลาง จะแซงหน้าจำนวนประชาชนที่มีรายได้ต่ำ
เจียง กุ้ยหวง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเป่ยจิงซิตี้เผยว่า ขณะนี้จีนมีตัวเลขคนยากจนในเมืองประมาณ 50 ล้านคน ซึ่งสามารถหารายได้ได้ต่ำกว่า 8,500 หยวนต่อปี (1,320 ดอลลาร์) ขณะที่รัฐบาลสามารถดูแลให้เงินอุดหนุนผู้มีรายได้น้อยในเมืองได้เพียง 25 ล้านคนเท่านั้น
“รัฐบาลจีนกำลังหาสารพัดวิธีในการจัดการปัญหาความยากจนและปฏิรูประบบการกระจายรายได้” รายงานระบุ
รัฐบาลทำงานหลายอย่างเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนกลุ่มที่มีรายได้น้อย โดยให้ความช่วยเหลือและขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พร้อมสร้างกลไกตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกจ้างได้ขึ้นค่าแรงจริงตามกฎหมาย
รายงานยังเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปในรายละเอียดของแผนอื่น ๆ ให้ชัดเจน อาทิ โอกาสทางการศึกษา การจ้างงาน การรักษาพยาบาล การดูแลผู้สูงอายุ และที่พักอาศัยด้วย.