เอเยนซี - จีนประสบความสำเร็จในการยิงดาวเทียมระบุพิกัดบนพื้นผิวโลกขึ้นสู่อวกาศเมื่อเวลา 05.44 น. ตามเวลากรุงปักกิ่ง เมื่อวานนี้ (26 ก.ค.) นับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาดาวเทียมนำทางและระบุตำแหน่งที่จีนพัฒนาขึ้นเอง เป็นที่รู้จักกันในนาม “เป๋ยโต่ว”
ดาวเทียมเป๋ยโต่วของจีน พัฒนาขึ้นเพื่อแข่งขันกับการพัฒนาระบบจีพีเอส (Global Positioning System) ของสหรัฐอเมริกา และ GLONASS (Global Navigation Satellite System) ของรัสเซีย และ Galileo Positioning System ของสหภาพยุโรป โดยจีนมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชน ทั้งบรรดานักท่องเที่ยว ผู้ขับขี่ยวดยาน เจ้าหน้าที่ทางทหาร รู้พิกัดของตนเองอย่างแม่นยำขึ้นด้วยระบบดาวเทียมฯ ของจีนเองนับแต่ปี 2543 เป็นต้นมา
จีนได้ยิงจรวดขนส่งฉังเจิง 3 เอ บรรทุกดาวเทียมระบุพิกัดบนพื้นผิวโลก ดวงที่ 9 นี้จากศูนย์ยิงดาวเทียมซีชัง มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ขึ้นสู่วงโคจรของโลก
ในระหว่างเดือน ต.ค. 2543 ถึงเดือน พ.ค. 2546 จีนได้วางระบบดาวเทียมสำรวจในระดับภูมิภาคสำเร็จ หลังจากปล่อยดาวเทียมเป๋ยโต่วไปแล้ว 3 ดวง
โดยเครือข่ายระบบดาวเทียมเป๋ยโต่ว-1 มีบทบาทสำคัญในการช่วยค้นหาผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวอำเภอเวิ่นชวน เมื่อปี 2551 โดยการส่งสัญญาณเชื่อมต่อพื้นที่ที่แผ่นดินไหวไปยังพื้นที่ภายนอกให้รับรู้
“เป๋ยโต่ว-1 ไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้น เป๋ยโต่ว-2 ที่ทำหน้าที่สำรวจภูมิภาคและกำหนดตำแหน่งบนโลกจึงถูกสร้างขึ้นมาเสริมฯ” ฉี ฟาเหริน อดีตหัวหน้าฝ่ายออกแบบของโครงการยานอวกาศเสินโจวให้สัมภาษณ์กับซินหวาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
จากปี 2550 จนถึงเดือน เม.ย.ปีนี้ จีนได้ปล่อยดาวเทียมระบุพิกัดขึ้นสู่อวกาศเพื่อสร้างเครือข่ายเป๋ยโต่ว-2 ให้สำเร็จ ซึ่งในโครงการเป๋ยโต่ว-2 นี้จะมีดาวเทียมทั้งหมด 35 ดวง
เครือข่ายเป๋ยโต่วจะทำหน้าที่ระบุตำแหน่งบนผิวโลก พร้อมทั้งให้บริการระบุเวลา ส่งข้อความในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจีนคาดว่าจะสำเร็จภายในปี 2555 และจะสามารถให้บริการกับทั้งโลกได้ในปี 2563